ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญมุทิตาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรใน การเจริญอุเบกขาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอสุภสัญญาอยู่ ... มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญอนิจจสัญญาอยู่ ในภิกษุสงฆ์นี้ก็มีภิกษุแม้ เช่นนั้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ในภิกษุสงฆ์นี้ มีภิกษุผู้บำเพ็ญความเพียรในการเจริญ อานาปานสติอยู่ อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อานาปานสติที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและ วิมุตติให้บริบูรณ์ [๑๔๘] อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง๑- ก็ดี นั่ง ขัดสมาธิ๒- ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓- มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก๔-
อานาปานสติ ๑๖ ขั้น๕-
๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’ @เชิงอรรถ : @ เรือนว่าง หมายถึงเสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่าและโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา (๓) ถ้ำใน @ภูเขา (๔) ป่าช้า (๕) ป่าละเมาะ (๖) ที่โล่งแจ้ง (๘) ลอมฟาง (ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๒๐/๒๔๘, @อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๐๘/๓๘๕) @ นั่งขัดสมาธิ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕) @ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕) @ ตามอรรถกถาพระสูตรนี้ อัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า ปัสสาสะ หมายถึงหายใจออก (อสฺสาโสติ @อนฺโตปวิสนนาสิกวาโต. ปสฺสาโสติ พหินิกฺขมนนาสิกวาโต ม.มู.อ. ๒/๓๐๕/๑๓๖) ส่วนอรรถกถาวินัย @กลับกัน คือ อัสสาสะ หมายถึงหายใจออก ปัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า (อสฺสาโสติ พหินิกฺขมนวาโต @ปสฺสาโสติ อนฺโตปวิสนวาโต วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๖) @ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๙๗๗/๔๕๓-๔๕๕, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๐/๑๓๑-๑๓๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๘๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’ เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’ ๓. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’ ๔. สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’ ๕. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจออก’ ๖. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจออก’ ๗. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก’ ๘. สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจออก’ ๙. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจออก’ ๑๐. สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจออก’ ๑๑. สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจออก’ ๑๒. สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจออก’ ๑๓. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๘๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

๑๔. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก’ ๑๕. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก’ ๑๖. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก’ ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก [๑๔๙] อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้ คือ ๑. สมัยใด ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’ เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’ เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’ สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ว่า เป็นกายชนิดหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๘๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

๒. สมัยใดภิกษุสำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติ หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุข หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขาร หายใจออก’ สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นอย่างดีนี้ว่า เป็นเวทนาชนิดหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ ๓. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิต หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิง หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่น หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิต หายใจออก’ สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เราไม่บอกอานาปานสติแก่ภิกษุผู้หลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๙๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

๔. สมัยใด ภิกษุสำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก’ สมัยนั้น ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มี สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เธอเห็นการละอภิชฌาและ โทมนัสด้วยปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะเหตุนั้น สมัยนั้น ภิกษุ จึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ได้
สติปัฏฐาน ๔
[๑๕๐] สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ คือ ๑. สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สมัยนั้น ภิกษุนั้นมีสติ ตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยใด ภิกษุมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๙๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความเลือกเฟ้นธรรม) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธัมมวิจย- สัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๓. ภิกษุนั้นค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียร ไม่ย่อ หย่อน สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ คือความเพียร) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อ ว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อม ถึงความเจริญเต็มที่ ๔. ปีติที่ปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยใด ปีติที่ปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๕. เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยใด ภิกษุมีจิต เกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบจิต) ย่อมเป็น อันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๖. เมื่อภิกษุมีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยใด เมื่อ ภิกษุมีกายสงบ มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิ สัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งใจมั่น) ย่อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๙๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความมีใจ เป็นกลาง) ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ [๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย ๑. สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ... พิจารณา เห็นจิตในจิต ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ สมัยนั้น ภิกษุนั้นมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยใด ภิกษุมีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้มีสติอย่างนั้น ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ ชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๓. ภิกษุนั้นค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา เป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้ว สมัยใด ภิกษุย่อม ค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงการพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาปรารภ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๙๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

ความเพียรไม่ย่อหย่อน สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอัน ภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๔. ปีติอันปราศจากอามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยใด ปีติอันปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า เจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญเต็มที่ ๕. เมื่อภิกษุมีจิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยใด เมื่อภิกษุมี จิตเกิดปีติ กายและจิตย่อมสงบ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าเจริญปัสสัทธิ- สัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุย่อมถึง ความเจริญเต็มที่ ๖. เมื่อภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยใด เมื่อภิกษุผู้มีกายสงบแล้ว มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อ ว่าเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้อย่างดี สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้อย่างดี สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ ชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของ ภิกษุย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๙๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๒. อนุปทวรรค]

๘. อานาปานัสสติสูตร

โพชฌงค์ ๗
[๑๕๒] โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก(ความสงัด) อาศัยวิราคะ (ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ) อันน้อมไปเพื่อความ ปล่อยวาง ๒. เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... ๓. เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... ๔. เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ... ๕. เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... ๖. เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... ๗. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปล่อยวาง ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อานาปานัสสติสูตรที่ ๘ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๑๙๕}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๑๘๗-๑๙๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=14&A=5466&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=18              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=3924&Z=4181&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=282              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=282&items=10              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=282&items=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]