ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระบัญญัติ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินชายกรรมกรผู้ยากจนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดา ภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วจึงไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุ เหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่ง แล้วไปฉันอีกในที่อีกแห่งหนึ่ง จริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงรับ นิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไปฉันในที่อีกแห่งหนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะ๑- สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องชายกรรมกรผู้ยากจน จบ
เรื่องภิกษุเป็นไข้
[๒๒๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ภิกษุอีกรูปหนึ่งนำบิณฑบาตไปถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าวกับภิกษุรูปที่เป็นไข้นั้นดังนี้ว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด ขอรับ” ภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “ไม่ล่ะขอรับ กระผมมีภัตตาหารที่หวังว่าจะได้” @เชิงอรรถ : @ ฉันปรัมปรโภชนะ คือภิกษุรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของทายกรายหนึ่งแล้ว ไปฉันภัตตาหารของทายกราย @อื่นก่อนแล้วกลับมาฉันรายแรกภายหลัง โดยมิได้ยกนิมนต์รายแรกให้ภิกษุรูปอื่น (กงฺขา.อ. ๒๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๑}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

ทายกนำบิณฑบาตมาถวายภิกษุเป็นไข้รูปนั้น ในเวลาสาย ภิกษุเป็นไข้รูป นั้นฉันไม่ได้ตามที่คิดไว้ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง ทราบ
ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่เป็นไข้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุเป็นไข้ฉันปรัมปรโภชนะได้” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องภิกษุเป็นไข้ จบ
ทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ถวายจีวร
[๒๒๓] สมัยนั้น พวกชาวบ้านตระเตรียมภัตตาหารพร้อมจีวรในสมัยที่จะ ถวายจีวร แล้วนิมนต์ภิกษุทั้งหลายด้วยตั้งใจว่า พวกเรานิมนต์ภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว จะให้ครองจีวร ภิกษุทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉัน ปรัมปรโภชนะ” ไม่รับนิมนต์ จึงได้จีวรเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัย ที่ถวายจีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๒}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท พระอนุบัญญัติ

พระอนุบัญญัติ
ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัยในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องทรงอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำจีวร
[๒๒๔] สมัยนั้น พวกชาวบ้านนิมนต์พวกภิกษุผู้ทำจีวรฉันภัตตาหาร ภิกษุ ทั้งหลายมีความยำเกรงอยู่ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามการฉันปรัมปรโภชนะ” จึงไม่รับนิมนต์ ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันปรัมปรโภชนะได้ในสมัยที่ทำ จีวร” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระอนุบัญญัติ
[๒๒๕] ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะนอกสมัย สมัย ในข้อนั้น คือ สมัยที่เป็นไข้ สมัยที่ถวายจีวร สมัยที่ทำจีวร นี้เป็นสมัยในข้อนั้น สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้
[๒๒๖] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตร และจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะเสด็จเข้าไปตระกูลหนึ่ง ครั้นถึงแล้วได้ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ลำดับนั้น พวกชาวบ้านได้ถวายโภชนาหารแด่พระผู้มีพระภาคและท่านพระ อานนท์ ท่านพระอานนท์มีความยำเกรงอยู่จึงไม่รับประเคน พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “รับเถิด อานนท์” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๓}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ามี ภัตตาหารที่หวังว่าจะได้” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงวิกัปไว้แล้วรับ”๑- ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะ ได้แล้วฉันปรัมปรโภชนะ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายวิกัปภัตตาหารที่หวังว่าจะได้ อย่างนี้
คำวิกัปอาหาร
กระผมถวายภัตตาหารที่กระผมหวังว่าจะได้แก่ภิกษุชื่อนี้๒-
เรื่องวิกัปอาหารที่หวังว่าจะได้ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๒๗] ที่ชื่อว่า ปรัมปรโภชนะ คือ ภิกษุที่ทายกนิมนต์ด้วยโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ งดเว้นโภชนะนั้น ไปฉันโภชนะ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง อื่นจากที่ตนรับนิมนต์ไว้ อย่างนี้ชื่อว่าปรัมปรโภชนะ คำว่า นอกสมัย คือ ยกเว้นสมัย ที่ชื่อว่า สมัยที่เป็นไข้ คือ นั่ง ณ อาสนะแห่งเดียว ไม่อาจจะฉันให้พอแก่ ความต้องการได้ ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่เป็นไข้ พึงฉันได้ ที่ชื่อว่า สมัยที่ถวายจีวร คือ เมื่อยังไม่ได้กรานกฐิน กำหนดเอาเดือนสุดท้าย แห่งฤดูฝน เมื่อกรานกฐินแล้ว มีกำหนดเวลา ๕ เดือน ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ ถวายจีวร พึงฉันได้ @เชิงอรรถ : @ วิกัปภัตตาหาร คือยกภัตตาหารที่รับนิมนต์ไว้ก่อนให้ภิกษุรูปอื่น @ ในคัมภีร์บริวารและคัมภีร์ฎีกานับการวิกัปภัตตาหารเป็นพระอนุบัญญัติ (วิ.ป. ๘/๘๖/๓๔, @สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๒๖/๗๐, วิมติ. ฏีกา ๒/๒๒๑/๓๘, กงฺขา. ฏีกา ๔๐๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร

ที่ชื่อว่า สมัยที่ทำจีวร คือ เมื่อภิกษุกำลังทำจีวร ภิกษุคิดว่า เป็นสมัยที่ทำจีวร พึงฉันได้ ภิกษุรับด้วยคิดว่า “จะฉัน” นอกสมัย ต้องอาบัติทุกกฏ ฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ทุกๆ คำกลืน
บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๒๘] ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ฉันนอกสมัย ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์
ทุกทุกกฏ
ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าปรัมปรโภชนะ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่ปรัมปรโภชนะ ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๒๙] ๑. ภิกษุฉันในสมัย ๒. ภิกษุวิกัปแล้วฉัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๔. โภชนวรรค ๓. ปรัมปรโภชนสิกขาบท อนาปัตติวาร

๓. ภิกษุฉันบิณฑบาตที่รับนิมนต์ไว้ ๒-๓ แห่งรวมกัน ๔. ภิกษุฉันตามลำดับที่รับนิมนต์ ๕. ภิกษุที่ชาวตำบลทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในตำบลนั้น ๖. ภิกษุที่สมาคมทั้งหมดนิมนต์แล้วฉันในที่แห่งหนึ่งในสมาคมนั้น ๗. ภิกษุรับนิมนต์แต่บอกว่าจะรับภิกษา ๘. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายเป็นนิตย์ ๙. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายตามสลาก ๑๐. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในปักษ์ ๑๑. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ ๑๒. ภิกษุฉันภัตตาหารที่เขาถวายในวันปาฏิบท ๑๓. ภิกษุฉันอาหารทุกชนิดยกเว้นโภชนะ ๕ ๑๔. ภิกษุวิกลจริต ๑๕. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปรัมปรโภชนสิกขาบทที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๓๘๖}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๓๘๑-๓๘๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=2&A=9733&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=69              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=10444&Z=10589&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=486              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=486&items=8              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=486&items=8              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]