ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร

“ผัคคุณะ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ หรืออาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ๑-” ท่านพระผัคคุณะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงใช้เหล็กแหลมที่คมแทงศีรษะ ฉันใด ลมอันแรงกล้า ก็เสียดแทงศีรษะของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบ ปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง พึงใช้เชือกหนังที่เหนียวรัดที่ศีรษะ ฉันใด ความ เจ็บปวดในศีรษะของข้าพระองค์ก็มีประมาณยิ่งฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการ กำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คม กรีดท้อง ฉันใด ลมอันแรงกล้าก็เสียดแทงท้องของข้าพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรง ๒ คนพึงจับแขนคนที่อ่อนแอกว่าคนละข้าง ย่างให้ ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของข้าพระองค์ก็มีมากยิ่งฉันนั้น เหมือนกัน ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์มีแต่ กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ๒- ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้ท่านพระผัคคุณะเห็นชัด ชวนใจ ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป @เชิงอรรถ : @ ดู สํ.สฬา. ๑๘/๗๔/๖๖ @ ดู ม.มู. ๑๒/๓๗๘/๓๓๙-๓๔๐, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร

ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพ แล้ว ในเวลามรณภาพ อินทรีย์๑- ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ท่านพระผัคคุณะได้มรณภาพแล้ว และในเวลามรณภาพอินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก”
อานิสงส์การฟังธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อินทรีย์ของผัคคุณภิกษุจักไม่ผ่องใสได้ อย่างไร แรกทีเดียวจิตของผัคคุณภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการ แต่เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของผัคคุณภิกษุ จึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อานนท์ การฟังธรรมตามกาล การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖ ประการนี้ อานิสงส์ ๖ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต ตถาคต แสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มี ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของ เธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ ประการที่ ๑ ในการฟังธรรมตามกาล ๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้ เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มีความงามใน @เชิงอรรถ : @ อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร

เบื้องต้น มีความงามในท่านกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน แก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงหลุดพ้นจาก โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ในการ ฟังธรรมตามกาล ๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตยังไม่หลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต ทั้งไม่ได้ เห็นสาวกของตถาคต แต่ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ ซึ่งธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอตรึก ตามตรองตามเพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ได้ เรียนมา จิตของเธอจึงหลุดพ้นจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ในการพิจารณาเนื้อความตามกาล ๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิ- กิเลสอันยอดเยี่ยม๑- ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน ท่ามกลาง ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน แก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ในการฟังธรรมตามกาล ๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นตถาคต แต่เธอได้เห็นสาวกของตถาคต สาวกของตถาคตแสดงธรรมที่มี ความงามในเบื้องต้น ฯลฯ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วนแก่เธอ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น จิตของเธอจึงน้อมไป @เชิงอรรถ : @ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๖/๑๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๔๒}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๓. ฉฬภิชาติสูตร

ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ ประการที่ ๕ ในการฟังธรรมตามกาล ๖. ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ แต่จิตของเธอไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันยอดเยี่ยม ในเวลาใกล้ตาย ในเวลานั้น เธอไม่ได้เห็นทั้งตถาคต ทั้งไม่ได้เห็นสาวกของตถาคต แต่เธอตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตาม ด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอ ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา จิตของเธอจึงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่ง อุปธิกิเลสอันยอดเยี่ยม นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๖ ในการพิจารณา เนื้อความตามกาล อานนท์ การพิจารณาเนื้อความตามกาลมีอานิสงส์ ๖ ประการนี้แล
ผัคคุณสูตรที่ ๒ จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๕๔๐-๕๔๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=22&A=15280&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=307              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=8948&Z=9032&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=327              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=327&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=327&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]