ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๑. สามาวตีวัตถุ

๒. อัปปมาทวรรค
หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
๑. สามาวตีวัตถุ
เรื่องพระนางสามาวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๑] ความไม่ประมาท๑- เป็นทางแห่งอมตะ๒- ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย คนผู้ประมาทจึงเหมือนคนตายแล้ว๓- [๒๒] บัณฑิตทราบความต่างกัน ระหว่างความไม่ประมาทกับความประมาทนั้น แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ย่อมบันเทิงใจในความไม่ประมาท ยินดีในทางปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย๔- [๒๓] บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น เพ่งพินิจ๕- มีความเพียรต่อเนื่อง มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นสภาวะยอดเยี่ยม ปลอดจากโยคะ๖- @เชิงอรรถ : @ ความไม่ประมาท นี้เป็นชื่อของสติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๓) @ ทางแห่งอมตะ หมายถึงอุบายบรรลุอมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า @ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๓) @ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๓๒/๕๘๘ @ ทางปฏิบัติของพระอริยะ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น และโลกุตตร- @ธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๕) @ เพ่งพินิจ หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่มี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่ง @อารมณ์ ได้แก่สมาบัติ ๘) และลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) @(ขุ.ธ.อ. ๒/๖๕) @ โยคะ หมายถึงสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพมี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา @(ขุ.ธ.อ. ๒/๖๕, ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓, ๑๐๙, ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๔. พาลนักขัตตวัตถุ

๒. กุมภโฆสกวัตถุ
เรื่องนายกุมภโฆสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าพิมพิสารและนายกุมภโฆสก ดังนี้) [๒๔] ยศ๑- ย่อมเจริญแก่บุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนทำ สำรวม ดำรงชีวิตโดยธรรม และไม่ประมาท
๓. จูฬปันถกวัตถุ
เรื่องพระจูฬปันถก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๕] คนมีปัญญาพึงทำที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง๒- ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการสำรวม และด้วยการฝึกฝน
๔. พาลนักขัตตวัตถุ
เรื่องนักษัตรของคนพาล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๖] คนพาลมีปัญญาทราม ประกอบความประมาทอยู่เสมอ ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญา รักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ ยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติ ความนับถือ ความมีเกียรติ และการสรรเสริญ (ขุ.ธ.อ. ๒/๗๓-๗๔) @ ที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง หมายถึงอรหัตตผล ที่น้ำ คือ โอฆะ ๔ (กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ท่วมไม่ถึง @(ขุ.ธ.อ. ๒/๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๖. เทฺวสหายกภิกขุวัตถุ

[๒๗] ท่านทั้งหลาย อย่าประกอบความประมาท อย่าประกอบความเชยชมยินดีในกามเลย เพราะผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่ ย่อมได้รับความสุขอันไพบูลย์๑-
๕. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ดังนี้) [๒๘] เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาท ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท๒- ไม่เศร้าโศก พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก เมื่อนั้น บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมเห็นคนพาลได้ เหมือนคนที่ยืนอยู่บนภูเขาเห็นคนที่ภาคพื้นได้ ฉะนั้น
๖. เทฺวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๒ รูป ดังนี้) [๒๙] ผู้มีปัญญาดี๓- เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก๔- ในเมื่อผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล เหมือนม้าฝีเท้าจัดวิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไว้ ฉะนั้น @เชิงอรรถ : @ ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๒/๙๐) และดู ๒ คาถานี้เทียบใน สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๖/๔๘ @ ปัญญาดุจปราสาท ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณอันบริสุทธิ์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๙๒) @ ผู้มีปัญญาดี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๙๔) @ ตื่นอยู่โดยมาก หมายถึงมีสติเต็มที่ (ขุ.ธ.อ. ๒/๙๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ

๗. มฆวัตถุ
เรื่องท้าวมัฆวาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ดังนี้) [๓๐] ท้าวมัฆวานประเสริฐสุดในหมู่เทวดาเพราะความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาท และติเตียนความประมาททุกเมื่อ
๘. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้) [๓๑] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เผาสังโยชน์๑- น้อยใหญ่ได้หมด เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไป ฉะนั้น
๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม ดังนี้) [๓๒] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท เป็นผู้ไม่เสื่อม๒- ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
อัปปมาทวรรคที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์มี ๑๐ อย่าง คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน @(๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (๔) กามราคะ ความกำหนัดในกาม @(๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ (๖) รูปราคะ ความกำหนัดในรูป (๗) อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป @(๘) มานะ ความถือตัว (๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒, ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑) @ ไม่เสื่อม หมายถึงไม่เสื่อมจากสมถและวิปัสสนา มรรคและผลที่ได้บรรลุแล้ว และทั้งยังจะได้บรรลุมรรค @ผลที่ยังไม่ได้บรรลุ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๗/๓๖๗) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๗/๖๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๓๔}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๓๑-๓๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=25&A=826&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=330&Z=365&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=12              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=12&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=12&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]