ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๘. อังคุลิมาลเถรคาถา

(องคุลิมาลโจร กราบทูลว่า) [๘๖๘] เป็นเวลานานหนอที่พระองค์ซึ่งเป็นสมณะ ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกบูชา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาสู่ป่าใหญ่เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ ข้าพระองค์นั้น ได้สดับพระพุทธภาษิต ซึ่งประกอบด้วยธรรมของพระองค์จะเลิกละบาปตั้งพัน (พระสังคีติกาจารย์ ได้รจนา ๒ ภาษิตเหล่านี้ว่า) [๘๖๙] ครั้นองคุลิมาลโจรกราบทูลแล้ว ก็ได้โยนดาบและอาวุธทิ้งเหวซึ่งทั้งกว้างและลึก ได้ถวายบังคมพระยุคลบาทพระสุคต ได้ทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า ณ ที่นั้นนั่นเอง [๘๗๐] ทันใดนั้นเอง พระพุทธเจ้า ทรงมีพระกรุณา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก ได้ตรัสกับองคุลิมาลโจรนั้นว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้ องคุลิมาลโจรนั้น ก็ได้เป็นภิกษุ (พระองคุลิมาลเถระเกิดปีติโสมนัส จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๘๗๑] ผู้ใด ประมาทแล้วในกาลก่อน ภายหลัง ไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ [๘๗๒] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดปิดกั้นเสียได้ ด้วยกุศล ผู้นั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๘. อังคุลิมาลเถรคาถา

[๘๗๓] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น ย่อมประกอบขวนขวายในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น ย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ [๘๗๔] พวกคนที่เป็นข้าศึกกับเรา ขอเชิญสดับธรรมกถา ขอเชิญปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ขอเชิญคบค้าสมาคมกับคนที่เป็นสัตบุรุษ ซึ่งยึดมั่นแต่ธรรมเท่านั้น [๘๗๕] ขอเชิญสดับธรรมของท่านที่กล่าวสรรเสริญความอดทน ชอบสรรเสริญความไม่โกรธได้ตามกาล และขอเชิญปฏิบัติตามธรรมที่ได้สดับแล้วนั้น [๘๗๖] ผู้เป็นข้าศึกกับเรานั้นแล อย่าพึงเบียดเบียนเรา หรือสัตว์ไรๆ อื่นเลย พึงถึงความสงบอย่างเยี่ยม และพึงรักษาคุ้มครองสัตว์ทั้งมวลเหมือนอาจารย์คุ้มครองศิษย์ [๘๗๗] พวกคนไขน้ำก็ทำหน้าที่ไขน้ำ พวกช่างทำศรก็ดัดลูกศร พวกช่างไม้ก็ถากไม้ พวกบัณฑิตก็ฝึกตน [๘๗๘] คนฝึกช้างและคนฝึกม้าบางพวก มีท่อนไม้ ขอและแส้จึงจะฝึกได้ เราพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้คงที่ ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงฝึกได้เลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๘. อังคุลิมาลเถรคาถา

[๘๗๙] แต่ก่อนเรามีชื่อว่า อหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียนอยู่ วันนี้ เรามีชื่อที่เป็นจริง ไม่เบียดเบียนใครๆ เลย [๘๘๐] แต่ก่อน เราได้เป็นโจรลือชื่อทั่วไปว่า องคุลิมาล ถูกห้วงน้ำใหญ่พัดพาไป จนได้มาถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง [๘๘๑] ครั้งก่อน เรามีมือเปื้อนเลือดลือชื่อทั่วไปว่า องคุลิมาล ดูเอาเถิด สรณคมน์๑- เราถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้แล้ว [๘๘๒] เราได้ทำกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติเช่นนั้นไว้มาก จึงต้องรับผลกรรม บัดนี้ย่อมฉันโภชนะอย่างไม่เป็นหนี้ [๘๘๓] เหล่าชนพาลที่มีปัญญาทราม ย่อมประกอบความประมาทอยู่เนืองๆ ส่วนผู้ที่มีปัญญาย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ ดุจบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐที่สุดไว้ [๘๘๔] บุคคล อย่าพึงขวนขวายความประมาท อย่าขวนขวายหาความสนิทสนมด้วยความยินดีในกาม เพราะผู้ที่ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ ย่อมประสบความสุขอย่างยิ่ง [๘๘๕] การที่เรามาสำนักพระศาสดาเป็นการดีแล้ว มิใช่ไม่ดี การที่เราคิดจะบวชในสำนักพระศาสดานี้ก็มิใช่เป็นการคิดไม่ดี นั่นเป็นการเข้าถึงธรรมอย่างประเสริฐ ในพระธรรมที่พระศาสดาทรงจำแนกไว้ดีแล้ว @เชิงอรรถ : @ การถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง (ขุ.เถร.อ. ๒/๘๘๑/๓๖๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๔๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๖. วีสตินิบาต]

๙. อนุรุทธเถรคาถา

[๘๘๖] การที่เรามายังสำนักพระผู้มีพระภาค เป็นการมาดีแล้ว่ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราคิดจะบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นความคิดไม่เลวเลย เราได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว [๘๘๗] แต่ก่อน เราอยู่ตามป่า ตามโคนไม้ ตามภูเขา ตามถ้ำ ทุกหนแห่ง อย่างมีใจหวาดระแวง [๘๘๘] พอพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว ไม่ต้องตกอยู่ในบ่วงมือมาร จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นสุข [๘๘๙] เมื่อก่อน เรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์ มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย วันนี้ เรานั้นเป็นโอรสของพระสุคตศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา [๘๙๐] ปราศจากตัณหา ไม่ยึดมั่น คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้แล้ว ความสิ้นอาสวะเราบรรลุแล้ว [๘๙๑] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๔๘๓-๔๘๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=13431&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=392              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=7765&Z=7833&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=392              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=392&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=392&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]