ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต]

๑. ตาลปุฏเถรคาถา

[๑๑๓๐] จิต ท่านนั่นแหละทำเราให้เป็นพราหมณ์บ้าง ให้เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพระราชาบ้าง เพราะอำนาจแห่งท่านนั่นแหละ บางคราวเราเป็นแพศย์บ้าง เป็นศูทรบ้าง เป็นเทพบ้าง [๑๑๓๑] เพราะเหตุแห่งท่าน เพราะอำนาจแห่งท่าน มีท่านเป็นมูลเหตุ บางคราวเราเป็นอสูรบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง [๑๑๓๒] ท่านประทุษร้ายเรามาแล้วบ่อยครั้งมิใช่หรือ ท่านแสดงน้ำใจเหมือนจะห้ามเรา ครู่เดียวท่านก็ล่อลวงเหมือนกับคนบ้า จิต เราได้ผิดอะไรต่อท่านไว้บ้าง [๑๑๓๓] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปตามอารมณ์ต่างๆ ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย เหมือนควาญช้างปราปพยศช้างตกมัน [๑๑๓๔] พระศาสดาของเราทรงหยั่งรู้โลกนี้ โดยความเป็นสภาวะไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีแก่นสาร จิต เชิญท่านพาเราบ่ายหน้าไปในศาสนาของพระชินเจ้า ช่วยเราให้ข้ามโอฆะใหญ่ที่ข้ามได้แสนยาก [๑๑๓๕] จิต เรือนคืออัตภาพนี้ไม่เป็นของท่านเหมือนเมื่อก่อน เราไม่พึงกลับไปอยู่ในอำนาจท่าน จะบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ธรรมดาสมณะทั้งหลายไม่ประสบความเสียหายเหมือนเรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต]

๑. ตาลปุฏเถรคาถา

[๑๑๓๖] ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำคงคาเป็นต้น แผ่นดิน ทิศใหญ่ทั้ง ๔ ทิศน้อยทั้ง ๔ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และภพทั้ง ๓ ล้วนเป็นสภาพไม่เที่ยง มีแต่ถูกเบียดเบียนอยู่เสมอ จิต ท่านไปที่ไหนเล่าจึงจะยินดีความสุข [๑๑๓๗] จิต เรามั่นคงแล้ว ท่านจะทำอะไรได้ เราไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจท่าน คนไม่พึงแตะต้องถุงหนัง มีปากสองข้าง น่าตินัก ร่างกายที่เต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่างๆ หลั่งของไม่สะอาดออกจากปากแผลทั้ง ๙ [๑๑๓๘] ท่านเข้าไปสู่เรือนคือถ้ำที่เงื้อมเขาและยอดเขา ที่สวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งฝูงหมูป่าและฝูงกวางอาศัยอยู่ และป่าที่ฝนตกรดใหม่ๆ นั้น จะยินดีภาวนา ณ ที่นั้น [๑๑๓๙] ฝูงนกยูงมีขนคอเขียวสวยงาม มีหงอนงาม มีปีกงาม ทั้งปกคลุมด้วยขนปีกสวยงาม ส่งสำเนียงเสียงร้องก้องกังวานไพเราะจับใจนั้น จะช่วยท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าให้รื่นรมย์ได้ [๑๑๔๐] เมื่อฝนตก หญ้างอกยาวประมาณ ๔ นิ้ว เมื่อป่าไม้ผลิดอกออกช่อ งามคล้ายก้อนเมฆ เราเป็นเหมือนต้นไม้จะนอนบนยอดหญ้าในระหว่างภูเขา เครื่องลาดหญ้านั้นอ่อนนุ่มจะเป็นเหมือนที่นอนสำลีสำหรับเรา [๑๑๔๑] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่ จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้ จะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้ เหมือนคนไม่เกียจคร้าน เหมือนกระสอบใส่แมวที่มัดไว้ดีแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต]

๑. ตาลปุฏเถรคาถา

[๑๑๔๒] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่ จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้ จะใช้ความพยายามนำท่านมาไว้ในอำนาจให้ได้ เหมือนนายควาญช้างผู้ชาญฉลาด ใช้ขอสับช้างตกมันให้อยู่ในอำนาจตน [๑๑๔๓] เราพร้อมกับท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว มั่นคง สามารถดำเนินไปถึงทางที่ปลอดโปร่ง ซึ่งท่านผู้ตามรักษาจิตทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วทุกสมัย เหมือนนายสารถีผู้ฝึกม้าสามารถดำเนินไปถึงภูมิภาค ที่ปลอดภัยได้ด้วยม้าอาชาไนยที่มีใจซื่อตรง [๑๑๔๔] เราจะผูกท่านไว้ที่อารมณ์กรรมฐานด้วยกำลังภาวนา เหมือนนายควาญช้างใช้เชือกที่เหนียวผูกช้างไว้ที่เสาตะลุง จิตที่เราคุ้มครองดี อบรมดีแล้วด้วยสติ จะเป็นจิตอันตัณหาในภพทั้งปวงอาศัยไม่ได้ [๑๑๔๕] ท่านตัดเหตุเกิดคืออายตนะที่แล่นไปผิดทางด้วยปัญญา ข่มมันเสียด้วยความเพียร ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางถูก เห็นแจ้งทั้งความเกิดและความดับ แล้วจะเป็นทายาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวาทะเป็นเลิศ [๑๑๔๖] จิต ท่านชักนำเราให้เป็นไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด ๔ อย่าง เหมือนคนจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไปฉะนั้น ท่านน่าจะคบหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เพียบพร้อมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์เสียได้ เป็นพระมหามุนี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [๑๙. ปัญญาสนิบาต]

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต

[๑๑๔๗] มฤคชาติเข้าไปยังภูเขาอันน่ารื่นรมย์ ประกอบด้วยน้ำและดอกไม้ เที่ยวไปในป่าอันงดงามอย่างเสรี จิต ท่านก็จะรื่นรมย์ในภูเขาที่ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนตามลำพังใจ เมื่อท่านไม่ยินดีอยู่ที่ภูเขานั้น ท่านก็จะต้องเสื่อมโดยไม่ต้องสงสัย [๑๑๔๘] จิตชายและหญิงเหล่าใดประพฤติตามความพอใจ ตามอำนาจของท่าน จะเสวยความสุข ชายหญิงเหล่านั้นโง่เขลา ประพฤติไปตามอำนาจมาร เพลิดเพลินในภพน้อยภพใหญ่ เป็นสาวกของท่าน
ปัญญาสนิบาต จบบริบูรณ์
รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระตาลปุฏเถระผู้บริสุทธิ์รูปเดียว และในปัญญาสนิบาตนี้ มี ๕๕ ภาษิต ฉะนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๕๒๗}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๕๒๔-๕๒๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=26&A=14599&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=399              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=8303&Z=8477&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=399              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=399&items=1              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=399&items=1              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]