ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ แก่พระอรหันต์ ได้แก่ กิเลสเหล่านั้นพระอรหันต์ ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผา ด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน เมื่อวาทะเกิด ไม่มีในธรรมวินัยนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน เมื่อวาทะเกิด ไม่มีในธรรมวินัยนี้ [๖๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
ว่าด้วยเสนามาร
คำว่า พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว ... เที่ยวไป อธิบายว่า เสนามาร ตรัสเรียกว่า เสนา กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... ราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่าเสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ฯลฯ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้ แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข๑- เมื่อใดเสนามารทั้งหมด และกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกผู้มี ปัญญาพิชิตและทำให้ปราชัย ทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้ว ด้วยอริยมรรค ๔ เมื่อนั้น ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนาได้แล้ว คำว่า เหล่าใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ คำว่า เที่ยวไป ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนา ได้แล้ว ... เที่ยวไป คำว่า ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ พระอรหันต์เหล่าใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผา ด้วยไฟคือญาณแล้ว พระอรหันต์เหล่านั้นไม่กระทบ คือ ไม่กระแทก ไม่บั่นทอน ไม่ ทำลายทิฏฐิด้วยทิฏฐิ รวมความว่า ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ คำว่า ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น อธิบายว่า ปสูระ ผู้เป็นคนฝ่ายตรงข้าม ผู้เป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม ผู้เป็นนักปล้ำฝ่ายตรงข้าม เธอจะได้อะไร ในพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น รวมความว่า ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้ อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น คำว่า พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอด เยี่ยม อธิบายว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่ง ความถือ คือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า “สิ่งนี้ เยี่ยม คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสูด ประเสริฐสุด” ได้แก่ ความ ถือมั่นนั้น พระอรหันต์เหล่าใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์ เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๘/๑๑๕-๑๑๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น [๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ว่าด้วยพระปัญญาของพระพุทธเจ้า
คำว่า อนึ่ง ในคำว่า อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง พยัญชนะ คำว่า อนึ่ง นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน คำว่า เธอตรึกอยู่มาแล้ว ได้แก่ เธอตรึก ตรอง ดำริอยู่ คือ ตรึก ตรอง ดำริอยู่อย่างนี้ว่า เราจักมีชัยไหมหนอ จักปราชัยไหมหนอ จักทำการข่มอย่างไร จักทำการเชิดชูอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เลิศลอยอย่างไร จักทำให้พิเศษอย่างไร จักทำให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอย่างไร จักทำการผูกมัดอย่างไร จักทำการผ่อนคลายอย่างไร จักทำการตัดรอนอย่างไร จักทำการขนาบวาทะได้อย่างไร มาแล้ว คือ เข้ามาแล้ว ถึงพร้อมแล้ว มาประจวบกับเราแล้ว รวมความว่า อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว คำว่า เธอคิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ อธิบายว่า คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดขึ้นจากผัสสะเป็นต้นนั้น เธอเฝ้า แต่คิด คิดถึงแต่ทิฏฐิด้วยใจว่า “โลกเที่ยง ... โลกไม่เที่ยง ... หรือว่า หลังจาก ตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่” รวมความว่า เธอคิดถึง ทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

คำว่า เธอ ... มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่ สามารถเทียมทันได้เลย อธิบายว่า ปัญญา ตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด คือ ความ รู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑- เพราะเหตุไร ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่อง กำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกกายทุจริต ... วจีทุจริต ... เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกอกุสลาภิสังขารทุกประเภท อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกมิจฉาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะเป็นเครื่องกำจัดมิจฉาสังกัปปะ ... สัมมาวิมุตติ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกมิจฉาวิมุตติ อีกนัยหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอก กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอก อกุสลาภิสังขารทุกประเภท พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยธรรมเครื่องชำระล้างเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด พระองค์ทรงกำจัดความกำหนัด ได้แล้ว กำจัดบาปได้แล้ว กำจัดกิเลสได้แล้ว กำจัดความเร่าร้อนได้แล้ว รวมความว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด คำว่า เธอมาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่ สามารถเทียมทันได้เลย อธิบายว่า ปสูรปริพาชก ไม่สามารถแข่งคู่ คือ จับคู่ แข่งขัน สนทนา ปราศรัย ถึงการสนทนากับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้มีปัญญา เครื่องกำจัดได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปสูรปริพาชก เลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย ส่วนพระผู้มีพระภาค ทรงล้ำเลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด ปสูรปริพาชก ไม่สามารถมาแข่งคู่ คือ จับคู่ แข่งขัน สนทนา ปราศรัย ถึงการสนทนากับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดได้ เปรียบเหมือน @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

กระต่ายไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่แข่งขันกับช้างใหญ่กำลังตกมันได้ สุนัขจิ้งจอกแก่ๆ ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่ต่อยุทธกับราชสีห์ ผู้เป็นเจ้าแห่งมฤคได้ ลูกโคเล็กๆ ยังไม่ อดนม ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่แข่งขันกับโคผู้ซึ่งมีกำลังมากได้ กาไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่แข่งขันกับพญาครุฑนามว่าเวนไตยได้ คนจัณฑาลไม่สามารถมาแข่งคู่ คือ จับคู่ต่อยุทธกับพระเจ้าจักรพรรดิได้ ปีศาจเล่นฝุ่นไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่ต่อกร กับพระอินทร์ผู้ทรงเป็นเทวราชได้ ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร เพราะปสูรปริพาชก มีปัญญาเลว มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย ส่วนพระผู้มีพระภาคมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญา อาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอนกิเลส ทรงความฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา บรรลุเวสารัชชญาณ ๔ เป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษ ดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้นำธุระ มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ ตามแนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้ เลื่อมใสได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำ มรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ดำเนินไปตามมรรค อยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณ ในภายหลัง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น มี พระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระผู้มี- พระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง มิได้ ทรงถูกต้องด้วยพระปัญญา ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ย่อมมา สู่คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

ประโยชน์ผู้อื่นหรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบันหรือประโยชน์ในภพ หน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง ประโยชน์ ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์ที่ไม่มี กิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไป ภายในพระพุทธญาณ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มี- พระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่ เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำ เป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณ ย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกิน กว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน เหมือนเมื่อชั้น แห่งผอบ ๒ ชั้นทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกินด้านบน ชั้นผอบด้านบน ก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ชั้นย่อมวางประกบกันที่ส่วนสุดโดยรอบของกัน และกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดโดยรอบของกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน บทธรรมที่ควรแนะนำ มีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีอยู่เพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำ ก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควร แนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินกว่าบทธรรม ที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรม เหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณของพระผู้มีพระภาค พุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง ธรรมทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วย มนสิการ นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ อัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุตติ ของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ ผู้มี กิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๘. ปสูรสุตตนิทเทส

ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติ- มิติมิงคละ๑- ย่อมเป็นไปอยู่ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน พระญาณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนาม ว่าเวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่ เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยวทำ ลายทิฏฐิผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไปหา พระตถาคตแล้ว ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรุ่งเรือง ยิ่งด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้นโดยแท้แล รวมความว่า เธอ...มาถึงการแข่ง คู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ จบ
@เชิงอรรถ : @ ปลาทั้ง ๓ ตัวนี้เป็นปลาขนาดใหญ่ คือปลาติมิงคละสามารถกลืนกินปลาติมิได้ และปลาติมิติมิงคละ @มีขนาดลำตัวใหญ่ถึง ๕๐๐ โยชน์ และสามารถกลืนกินปลาติมิงคละได้ (ขุ.ม.อ. ๖๙/๒๙๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๒๑๖}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๒๑๐-๒๑๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=6249&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=8              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=3568&Z=4022&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=268              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=29&item=268&items=53              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=29&item=268&items=53              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]