ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ) ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้ ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว [๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอีกว่า) ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๓) คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง ด้วยมันตา อธิบายว่า คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดอีก ด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อทุกขม- สุขเวทนาอยู่ท่ามกลาง นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วน สุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง สักกายะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง สักกายสมุทัยเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สักกาย- นิโรธอยู่ท่ามกลาง ปัญญา ตรัสเรียกว่า มันตา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความ ไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑- @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยความยึดติด ๒
คำว่า ความยึดติด ได้แก่ ความยึดติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดติด ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือว่าเป็นของเราด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณ เท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่า เป็นของเรา ด้วยอำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย อำนาจตัณหา ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร คือ สักกายทิฏฐิ มีวัตถุ๑- ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ๒- ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ๓- ๑๐ ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยน @เชิงอรรถ : @ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ (๑) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (๒) เห็นอัตตามีรูป (๓) @เห็นรูปในอัตตา (๔) เห็นอัตตาในรูป (๕) ย่อมตามเห็นเวทนาเป็นอัตตา (๖) เห็นอัตตามีเวทนา (๗) @เห็นเวทนาในอัตตา (๘) เห็นอัตตาในเวทนา (๙) ย่อมตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (๑๐) เห็นอัตตามีสัญญา @(๑๑) เห็นสัญญาในอัตตา (๑๒) เห็นอัตตาในสัญญา (๑๓) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (๑๔) @เห็นอัตตามีสังขาร (๑๕) เห็นสังขารในอัตตา (๑๖) เห็นอัตตาในสังขาร (๑๗) ย่อมตามเห็นวิญญาณ @เป็นอัตตา (๑๘) เห็นอัตตามีวิญญาณ (๑๙) เห็นวิญญาณในอัตตา (๒๐) เห็นอัตตาในวิญญาณ @(สํ.ข. ๑๗/๑๕๕/๑๔๙, ขุ.ม.อ. ๑๒/๑๕๘) @ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล (๔) @กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี @(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ที่ดำเนินอัตตาชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งใน @โลกนี้และโลกหน้าด้วยอัตตาเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบไม่มี (ดูรายละเอียดข้อ ๑๔๓/๔๕๙-๔๖๐) @ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือเห็นว่า @(๑) โลกเที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน @(๖) ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่าง (๗) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก @(๙) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (๑๐) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่ @ไม่เกิดอีกก็มิใช่ (องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๓/๒๑๗-๒๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส

หนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย อำนาจทิฏฐิ คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง ด้วยมันตา อธิบายว่า ภิกษุนั้นรู้ชัดแล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ และท่ามกลางแล้วด้วยปัญญา ย่อมไม่ยึดติด คือ ไม่เข้าไปยึดติด ได้แก่ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด ออกแล้ว สลัดออกแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความยึดติด) อยู่ รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง ด้วยมันตา คำว่า เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ อธิบายว่า เราเรียกภิกษุนั้น คือ กล่าวถึง เข้าใจ พูดถึง แสดงถึง แถลงถึงภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ คือเป็นบุรุษผู้เลิศ บุรุษผู้ประเสริฐสุด บุรุษผู้วิเศษ บุรุษผู้เป็นประธาน บุรุษผู้เป็นหัวหน้า บุรุษผู้สูงสุด บุรุษผู้ยอดเยี่ยม ท่านพระสารีบุตรกราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสเรียกว่า มหาบุรุษ มหาบุรุษ เพราะเหตุอะไรหนอ บุคคลจึงเป็น มหาบุรุษ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มี จิตหลุดพ้นแล้ว เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น บุคคลมีจิตหลุดพ้นแล้ว เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียรเผากิเลส มี สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกาย อยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ฯลฯ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส

จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ภิกษุเป็นผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วเป็นอย่างนี้แล เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น๑- รวมความว่า เรา เรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า เครื่องร้อยรัด ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ เครื่องร้อยรัดนี้ ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้น คือ ล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงเลยเครื่องร้อยรัดได้ รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วง พ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์ การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันกับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ หนวดของติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่าน เป็นภิกษุ มีศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการ ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศ ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ เป็นสาวก”
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๒ จบ
@เชิงอรรถ : @ สํ.ม. ๑๙/๓๗๗/๑๓๗-๑๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๘๒}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๗๙-๘๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=30&A=2271&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=21              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=644&Z=801&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=100              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=30&item=100&items=16              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=30&item=100&items=16              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]