ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของพวกเธอ ทั้งมิใช่ของคนอื่น กายนี้กรรมเก่าควบคุมไว้ จิตประมวลไว้ พึงเห็นว่า เป็นที่ตั้งแห่ง เวทนา อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมมนสิการปฏิจจสมุปบาทอย่างดีโดยแยบคาย ในกายนั้นว่า “เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความ คับแค้นใจก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ เพราะอวิชชาสำรอก๑- ดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ @เชิงอรรถ : @ สำรอก ในที่นี้หมายถึง วิราคะคือนิพพาน แปลว่า เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะก็ได้ @(วิ.ม.(แปล) ๔/๑-๓/๒-๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความ คับแค้นใจก็ดับไป ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้”๑- บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยการพิจารณาเห็นสังขาร เป็นของว่างเปล่า เป็นอย่างไร คือ บุคคลย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป แก่นสารในเวทนา แก่นสารในสัญญา แก่นสารในสังขาร แก่นสารในวิญญาณ รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่ เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดย ความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ สํ.นิ. ๑๖/๓๗/๖๒-๖๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

สังขารไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ โดยสาระแห่ง แก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่ เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา ไม้อ้อไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ไม้ละหุ่ง ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจาก แก่น ไม้มะเดื่อ ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ไม้ทองหลาง ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ต้นหงอนไก่ (ปาลิภทฺทโก) ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ฟองน้ำ ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ต่อมน้ำ ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร พยับแดด ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจาก แก่นสาร ต้นกล้วย ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เงา ไม่มี แก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฉันใด รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่ เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง โดยความ เป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจาก แก่นสาร ฯลฯ สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่สาร ฯลฯ สังขาร ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง โดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา ฉันนั้น บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยการพิจารณาเห็นสังขาร เป็นของว่างเปล่าอย่างนี้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยเหตุ ๒ อย่างเหล่านี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

อีกนัยหนึ่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๖ อย่าง คือ พิจารณาเห็นรูป๑- ๑. โดยความที่ตนมิได้เป็นใหญ่ ๒. โดยความที่ตนจัดการตามชอบใจไม่ได้ ๓. โดยไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสบาย ๔. โดยไม่เป็นไปในอำนาจ ๕. โดยเป็นไปตามเหตุ ๖. โดยความว่างเปล่า พิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณ ๑. โดยความที่ตนมิได้เป็นใหญ่ ๒. โดยความที่ตนจัดการตามชอบใจไม่ได้ ๓. โดยไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสบาย ๔. โดยไม่เป็นไปในอำนาจ ๕. โดยเป็นไปตามเหตุ ๖. โดยความว่างเปล่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๖ อย่าง เป็นอย่างนี้ อีกนัยหนึ่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง คือ พิจารณาเห็นรูป @เชิงอรรถ : @ ความตรงนี้ปรากฏในฉบับฉัฏฐสังคายนาของฉบับพม่า ดังนี้ จักขุว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา @เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา โสตะว่าง ... ฆานะว่าง ... ชิวหาว่าง ... กายว่าง ... ใจ @ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา รูปว่าง ... เสียงว่าง @... กลิ่นว่าง ... รสว่าง ... โผฏฐัพพะว่าง ... ธรรมารมณ์ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา เที่ยง ยั่งยืน @มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักขุวิญญาณว่าง ... มโนวิญญาณว่าง ... จักขุสัมผัสว่าง ... เวทนาที่ @เกิดจากจักขุสัมผัสว่าง ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสว่าง ... รูปสัญญาว่าง ... ธัมมสัญญาว่าง ... @รูปสัญเจตนาว่าง ... ธัมมสัญเจตนาว่าง ... รูปตัณหาว่าง ... รูปวิตกว่าง ... รูปวิจารว่าง ... ธัมมวิจาร @ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

๑. โดยความเป็นของว่าง ๒. โดยความเป็นของเปล่า ๓. โดยความเป็นของสูญ ๔. โดยความเป็นอนัตตา ๕. โดยความไม่มีแก่นสาร ๖. โดยความเป็นดุจเพชฌฆาต ๗. โดยความเป็นของปราศจากความเจริญ ๘. โดยความเป็นเหตุแห่งความลำบาก ๙. โดยความเป็นของมีอาสวะ ๑๐. โดยความเป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จุติ (ความเคลื่อนจากภพ) ฯลฯ อุปบัติ (การถือกำเนิด) ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สังสารวัฏ ๑. โดยความเป็นของว่าง ๒. โดยความเป็นของเปล่า ๓. โดยความเป็นของสูญ ๔. โดยความเป็นอนัตตา ๕. โดยความไม่มีแก่นสาร ๖. โดยความเป็นดุจเพชฌฆาต ๗. โดยความเป็นของปราศจากความเจริญ ๘. โดยความเป็นเหตุแห่งความลำบาก ๙. โดยความเป็นของมีอาสวะ ๑๐. โดยความเป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง เป็นอย่างนี้ อีกนัยหนึ่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๒ อย่าง คือ พิจารณาเห็นรูป ๑. มิใช่สัตว์ ๒. มิใช่ชีวะ ๓. มิใช่นระ ๔. มิใช่มาณพ ๕. มิใช่หญิง ๖. มิใช่ชาย ๗. มิใช่อัตตา ๘. มิใช่ของเนื่องด้วยอัตตา ๙. มิใช่เรา ๑๐. มิใช่ของเรา ๑๑. มิใช่ใครๆ ๑๒. มิใช่ของใครๆ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ๑. มิใช่สัตว์ ๒. มิใช่ชีวะ ๓. มิใช่นระ ๔. มิใช่มาณพ ๕. มิใช่หญิง ๖. มิใช่ชาย ๗. มิใช่อัตตา ๘. มิใช่ของเนื่องด้วยอัตตา ๙. มิใช่เรา ๑๐. มิใช่ของเรา ๑๑. มิใช่ใครๆ ๑๒. มิใช่ของใครๆ บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๒ อย่าง เป็นอย่างนี้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดมิใช่ของเธอ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้น สิ่งที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่มิใช่ของเธอทั้งหลาย รูปมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายจงละรูปนั้น รูปที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน เวทนามิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละเวทนานั้น เวทนาที่เธอทั้งหลาย ละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน สัญญามิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสัญญานั้น สัญญาที่เธอทั้งหลาย ละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน สังขารทั้งหลายมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสังขารเหล่านั้น สังขาร ที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอด กาลนาน วิญญาณมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้น วิญญาณที่เธอ ทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

ภิกษุทั้งหลาย คนพึงเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้ ไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง เธอทั้งหลายจะพึงมีความคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า “คนย่อมเอาพวกเราไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง” ความดำริเช่นนั้น ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร เพราะนั่น มิใช่อัตตา หรือของเนื่องด้วยอัตตาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระเจ้าข้า อย่างเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจง ละสิ่งนั้น สิ่งที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของเธอทั้งหลาย รูปมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายจงละรูปนั้น รูปที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ ความสุขตลอดกาลนาน เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้น วิญญาณที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”๑- รวมความว่า บุคคลพิจารณาเห็น โลกโดยความว่างเปล่าเป็นอย่างนี้บ้าง
ว่าด้วยโลกว่าง
ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ พระองค์ตรัสว่า ‘โลกว่าง โลกว่าง’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงตรัสว่า ‘โลกว่าง’ @เชิงอรรถ : @ ม.มู. ๑๒/๒๔๗/๒๐๘-๒๐๙, สํ.ข. ๑๗/๓๓/๒๘, สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๑๐๑/๑๑๑-๑๑๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

อานนท์ เพราะโลกว่างจากอัตตาหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ฉะนั้น เราจึง กล่าวว่า ‘โลกว่าง’ อานนท์ อะไรเล่าที่ว่างจากอัตตา หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา อานนท์ จักขุแลว่างจากอัตตา หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา รูปว่าง ฯลฯ จักขุวิญญาณ ว่าง ฯลฯ จักขุสัมผัสว่าง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา(เป็นทุกข์ก็มิใช่เป็นสุขก็มิใช่) ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส เป็นปัจจัย ก็ว่างจากอัตตาหรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา โสตะว่าง ฯลฯ เสียงว่าง ฯลฯ ฆานะว่าง ฯลฯ กลิ่นว่าง ฯลฯ ชิวหาว่าง ฯลฯ รสว่าง ฯลฯ กายว่าง ฯลฯ โผฏฐัพพะว่าง ฯลฯ ใจว่าง ฯลฯ ธรรมารมณ์ว่าง ฯลฯ มโนวิญญาณว่าง ฯลฯ มโนสัมผัสก็ว่าง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่ เนื่องด้วยอัตตา อานนท์ เพราะโลกว่างจากอัตตา หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง”๑- บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็น อย่างนี้บ้าง คามณี๒- ภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็น ความเกิดขึ้นแห่งธรรมล้วนๆ และความสืบเนื่องแห่งสังขารล้วนๆ ตามที่เป็นจริง เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นโลกว่า เสมอด้วยหญ้าและท่อนไม้ ด้วยปัญญา เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ปรารถนาอะไรอื่น นอกจากความไม่ปฏิสนธิ บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็นอย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นแล ภิกษุค้น หารูป ตลอดคติแห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา ตลอดคติแห่งเวทนาที่มีอยู่ ค้นหา @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบกับ สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๘๕/๗๘, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๘๖/๕๒๘-๕๒๙ @ คามณี ในที่นี้เป็นชื่อของหัวหน้าโจร ซึ่งพระอธิมุตตเถระใช้เรียกชื่อในขณะแสดงธรรมโปรดหัวหน้าโจร @(ขุ.วิ.(แปล) ๒๖/๗๑๖-๗๑๗/๔๖๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๑๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

สัญญา ตลอดคติแห่งสัญญาที่มีอยู่ ค้นหาสังขาร ตลอดคติแห่งสังขารที่มีอยู่ ค้นหาวิญญาณ ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ เมื่อภิกษุนั้นค้นหารูป ตลอดคติ แห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา ตลอดคติแห่งเวทนาที่มีอยู่ ค้นหาสัญญา ตลอดคติ แห่งสัญญาที่มีอยู่ ค้นหาสังขาร ตลอดคติแห่งสังขารที่มีอยู่ ค้นหาวิญญาณ ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ ความถือว่า “เรา” “ของเรา” หรือ “มีเรา” ของ ภิกษุนั้นไม่มี๑- บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็นอย่างนี้บ้าง คำว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า อธิบายว่า เธอจงพิจารณา เห็น คือ ประจักษ์แจ้ง แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง โลกโดยความว่าง รวมความว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า คำว่า โมฆราช ในคำว่า โมฆราช ...มีสติทุกเมื่อ เป็นคำที่พระผู้มีพระ- ภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ตลอดกาลทั้งปวง ฯลฯ ปัจฉิมวัย๒- คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ๓- รวมความว่า โมฆราช ... มีสติทุกเมื่อ คำว่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย อธิบายว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ ตรัสเรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมองเห็นรูป โดยความเป็น อัตตา เห็นอัตตาว่ามีรูป เห็นรูปในอัตตา หรือเห็นอัตตาในรูป @เชิงอรรถ : @ สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๒๔๖/๒๖๒ @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๐/๗๗ @ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๒๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

ย่อมมองเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ โดยความ เป็นอัตตา เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ เห็นวิญญาณในอัตตา หรือเห็นอัตตาในวิญญาณ ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือ ขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งไม่เป็นความ จริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ คำว่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย อธิบายว่า พึงถอน คือ พึงถอนขึ้น ฉุดขึ้น ชักขึ้น ลากขึ้น เพิกขึ้น ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงไม่มีอีก รวม ความว่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย คำว่า เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้ อธิบายว่า พึงข้าม มัจจุราช คือ พึงข้าม พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยซึ่งชราบ้าง มรณะบ้าง ด้วยอาการอย่างนี้ รวมความว่า เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้ คำว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า พิจารณาเห็น คือ ประจักษ์แจ้ง เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งโลกอย่างนี้ รวม ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ คำว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น อธิบายว่า มัจจุชื่อว่าพญามัจจุราช มารชื่อว่า พญามัจจุราช ความตายชื่อว่าพญามัจจุราช คำว่า จึงไม่เห็น ได้แก่ ไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเนื้อป่า เมื่อเที่ยวไปตามป่าน้อยป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน หมอบ นอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น สงัดจากกามและอกุศล- ธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เรา เรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะ ทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๒๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส

อีกนัยหนึ่ง เพราะวิตกและวิจารสงบไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่อง ใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิด จากสมาธิอยู่ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ภิกษุทั้งหลาย เรา เรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะ ทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย ภิกษุทั้งหลาย เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการ นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่ ด้วย มนสิการว่า “อากาศไม่มีที่สุด” เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ฯลฯ อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุ อากิญจัญญายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “อะไร น้อยหนึ่งย่อมไม่มี” ฯลฯ อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ฯลฯ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลาย ของเธอย่อมสิ้นไป ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย เป็นผู้ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่ได้พบมารใจบาป๑- รวมความว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า @เชิงอรรถ : @ ม.มู. ๑๒/๒๘๗/๒๕๐-๒๕๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๒๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส

โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โมฆราชมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”๑-
โมฆราชมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑๑/๘๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓๒๓}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๓๑๒-๓๒๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=30&A=9011&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=34              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=4519&Z=4935&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=490              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=30&item=490&items=21              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=30&item=490&items=21              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]