ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] วิภังคปกรณ์

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยสตินี้และสัมปชัญญะนี้ด้วย ประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ [๕๕๑] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ อธิบายว่า ถีนมิทธะนั้น แยกเป็นถีนะอย่างหนึ่ง มิทธะอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น ถีนะ เป็นไฉน ความหดหู่ ฯลฯ ภาวะที่ท้อถอยแห่งใจ นี้เรียกว่า ถีนะ มิทธะ เป็นไฉน ความไม่สะดวกกาย ฯลฯ ภาวะที่อยากหลับ นี้เรียกว่า มิทธะ จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต ภิกษุชำระจิตนี้ให้บริสุทธิ์ ให้ผุดผ่อง ให้หมดจด ให้หลุด ให้พ้น ให้หลุดพ้น จากถีนมิทธะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ [๕๕๒] คำว่า ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว อธิบายว่า อุทธัจจกุกกุจจะนั้น แยกเป็นอุทธัจจะอย่างหนึ่ง กุกกุจจะอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น อุทธัจจะ เป็นไฉน ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต ภาวะที่พล่าน ไปแห่งจิต นี้เรียกว่า อุทธัจจะ๑- กุกกุจจะ เป็นไฉน ความสำคัญว่า ควรในสิ่งที่ไม่ควร ไม่ควรในสิ่งที่ควร มีโทษในสิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่มีโทษในสิ่งที่มีโทษ ความรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ภาวะที่รำคาญ ความเดือด ร้อนใจ ความยุ่งใจ มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า กุกกุจจะ๒- อุทธัจจะและกุกกุจจะนี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำ ให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ. ๓๔/๑๑๖๕/๒๗๑ @ อภิ.สงฺ. ๓๔/๑๑๖๖/๒๗๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๓๙๙}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๕๕๓] คำว่า เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะสละ คลาย ปล่อยวาง ละ สลัดออก ละและสลัดออกซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะนั้น เพราะ ฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน [๕๕๔] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๕๕๕] คำว่า ภายในตน อธิบายว่า เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ในคำว่า มีจิตสงบ นั้น จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต จิตนี้เป็นธรรมชาติสงบระงับ สงบเงียบภายในตน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีจิต สงบภายในตน [๕๕๖] คำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ อธิบายว่า อุทธัจจ- กุกกุจจะนั้นแยกเป็นอุทธัจจะอย่างหนึ่ง กุกกุจจะอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น อุทธัจจะ เป็นไฉน ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต ภาวะที่พล่าน ไปแห่งจิต นี้เรียกว่า อุทธัจจะ กุกกุจจะ เป็นไฉน ความสำคัญว่าควรในสิ่งที่ไม่ควร ฯลฯ ความยุ่งใจ นี้เรียกว่า กุกกุจจะ จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต ภิกษุชำระจิตนี้ให้บริสุทธิ์ ให้ผุดผ่อง ให้หมดจด ให้หลุด ให้พ้น ให้หลุด พ้นจากอุทธัจจะและกุกกุจจะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อุทธัจจกุกกุจจะ [๕๕๗] ในคำว่า ละวิจิกิจฉาได้แล้ว นั้น วิจิกิจฉา เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๐}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ความเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ภาวะที่เคลือบแคลง ความคิดเห็น ไปต่างๆ ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็น ๒ แง่ ความเห็นเหมือนทาง ๒ แพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถหยั่งลงถือเอาโดยเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา วิจิกิจฉานี้ เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะ ฉะนั้นจึงเรียกว่า ละวิจิกิจฉาได้แล้ว [๕๕๘] คำว่า เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว อธิบายว่า เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉานี้ คือ ข้ามขึ้น ข้ามออกถึงฝั่ง ถึงความสำเร็จตามลำดับ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว [๕๕๙] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ คำว่า ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรม อธิบายว่า ไม่เคลือบแคลง ไม่สงสัย ไม่มีความสงสัย หมดความสงสัย ปราศจากความสงสัยในกุศลธรรมด้วยวิจิกิจฉานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรม [๕๖๐] ในคำว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา นั้น วิจิกิจฉา เป็นไฉน ความเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ภาวะที่เคลือบแคลง ฯลฯ ความ กระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา จิต เป็นไฉน จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต ภิกษุชำระจิตนี้ให้บริสุทธิ์ ให้ผุดผ่อง ให้หมดจด ให้หลุด ให้พ้น ให้หลุดพ้น จากวิจิกิจฉานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๑}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๕๖๑] คำว่า ละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อธิบายว่า นิวรณ์ ๕ นี้เป็นอันสงบ ระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือด แห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ [๕๖๒] คำว่า ที่เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง อธิบายว่า นิวรณ์ ๕ เหล่า นี้เป็นเครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง [๕๖๓] คำว่า ทอนกำลังปัญญา อธิบายว่า ปัญญาที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด และปัญญาที่เกิดแล้วก็จะดับไป เพราะนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ทอนกำลังปัญญา [๕๖๔] ในคำว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย นั้น กาม เป็นไฉน ฉันทะชื่อว่ากาม ราคะชื่อว่ากาม ฉันทราคะชื่อว่ากาม สังกัปปะชื่อว่ากาม ราคะชื่อว่ากาม สังกัปปราคะชื่อว่ากาม เหล่านี้เรียกว่า กาม อกุศลธรรม เป็นไฉน กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เหล่านี้เรียกว่า อกุศลธรรม ภิกษุเป็นผู้สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายดังกล่าวมานี้ เพราะ ฉะนั้นจึงเรียกว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย [๕๖๕] คำว่า มีวิตกวิจาร อธิบายว่า วิตกวิจารนั้นแยกเป็นวิตกอย่างหนึ่ง วิจารอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ความดำริ ความที่จิตแนบแน่นใน อารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ นี้เรียกว่า วิตก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๒}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

วิจาร เป็นไฉน ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์ นี้เรียกว่า วิจาร ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยวิตกวิจารนี้ดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีวิตกวิจาร [๕๖๖] คำว่า เกิดจากวิเวก อธิบายว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข และ เอกัคคตา ธรรมเหล่านั้นเกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้วในวิเวกนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เกิดจากวิเวก [๕๖๗] คำว่า ปีติและสุข อธิบายว่า ปีติและสุขนั้นแยกเป็นปีติอย่างหนึ่ง สุขอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น ปีติ เป็นไฉน ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความยินดีอย่างยิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี นี้เรียกว่า ปีติ สุข เป็นไฉน ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า สุข สุขนี้สหรคต เกิดพร้อม ระคน และประกอบด้วยปีตินี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียก ว่า มีปีติและสุข [๕๖๘] คำว่า ปฐม อธิบายว่า ชื่อว่าปฐม โดยลำดับแห่งการนับ ชื่อว่า ปฐม เพราะโยคาวจรบุคคลเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๑ [๕๖๙] คำว่า ฌาน อธิบายว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา [๕๗๐] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง ความถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุปฐมฌาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๓}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๕๗๑] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอยู่ [๕๗๒] คำว่า เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว อธิบายว่า วิตกวิจารนั้น แยกเป็นวิตกอย่างหนึ่ง วิจารอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ นี้เรียกว่า วิตก วิจาร เป็นไฉน ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์ นี้เรียกว่า วิจาร วิตกและวิจารดังกล่าวมานี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว [๕๗๓] คำว่า ภายในตน อธิบายว่า เป็นภายในตน มีเฉพาะตน [๕๗๔] คำว่า ผ่องใส อธิบายว่า ศรัทธา กิริยาที่เชื่อ ความปักใจเชื่อ ความเลื่อมใสยิ่ง [๕๗๕] คำว่า มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น อธิบายว่า ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ [๕๗๖] คำว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร อธิบายว่า วิตกวิจารนั้นแยกเป็น วิตก อย่างหนึ่ง วิจารอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ นี้เรียกว่า วิตก วิจาร เป็นไฉน ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์ นี้เรียกว่า วิจาร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๔}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

วิตกวิจารดังที่กล่าวมานี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูก ทำให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้น ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร [๕๗๗] คำว่า เกิดจากสมาธิ อธิบายว่า ความผ่องใส ปีติ และสุข ธรรม เหล่านั้นเกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้วใน สมาธินี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เกิดจากสมาธิ [๕๗๘] คำว่า มีปีติและสุข อธิบายว่า ปีติและสุขนั้นแยกเป็นปีติอย่างหนึ่ง สุขอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น ปีติ เป็นไฉน ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ฯลฯ ความที่จิตชื่นชมยินดี นี้เรียกว่า ปีติ สุข เป็นไฉน ความสำราญทางใจ ฯลฯ กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่ เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า สุข สุขนี้สหรคต เกิดพร้อม ระคน ประกอบด้วยปีตินี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปีติและสุข [๕๗๙] คำว่า ทุติยะ อธิบายว่า ชื่อว่าทุติยะ โดยลำดับแห่งการนับ ชื่อว่า ทุติยะ เพราะโยคาวจรบุคคลเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๒ [๕๘๐] คำว่า ฌาน อธิบายว่า ความผ่องใส ปีติ สุข และเอกัคคตา [๕๘๑] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง ความถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุทุติยฌาน [๕๘๒] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าอยู่ [๕๘๓] ในคำว่า เพราะปีติจางคลายไป นั้น ปีติ เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๕}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความยินดีอย่างยิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี นี้เรียกว่า ปีติ ปีตินี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้ พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะ ฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะปีติจางคลายไป [๕๘๔] ในคำว่า มีอุเบกขา นั้น อุเบกขา เป็นไฉน อุเบกขา ภาวะที่วางเฉย กิริยาที่เพ่งเฉย ความวางตนเป็นกลางแห่งจิต นี้ เรียกว่า อุเบกขา ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยอุเบกขานี้ เพราะฉะนั้นจึง เรียกว่า มีอุเบกขา [๕๘๕] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๕๘๖] ในคำว่า มีสติสัมปชัญญะ นั้น สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ นี้เรียกว่า สติ สัมปชัญญะ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยสตินี้และสัมปชัญญะนี้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ [๕๘๗] ในคำว่า เสวยสุขด้วยนามกาย นั้น สุข เป็นไฉน ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า สุข {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๖}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

กาย เป็นไฉน สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ นี้เรียกว่า กาย ภิกษุเสวยสุขนี้ด้วยกายนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เสวยสุขด้วยนามกาย [๕๘๘] ในคำว่า ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญ นั้น พระอริยะ ทั้งหลาย เป็นไฉน พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระอริยะทั้งหลาย พระอริยะ เหล่านั้น กล่าวสรรเสริญ แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ชัดเจน ประกาศบุคคลผู้ได้บรรลุนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าว สรรเสริญ [๕๘๙] ในคำว่า มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข นั้น อุเบกขา เป็นไฉน อุเบกขา ความวางเฉย กิริยาที่เพ่งเฉย ความเป็นกลางแห่งจิต นี้เรียกว่า อุเบกขา สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ นี้เรียกว่า สติ สุข เป็นไฉน ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า สุข ภิกษุประกอบด้วยอุเบกขา สติและสุขนี้ สืบเนื่องกันอยู่ ดำเนินไปอยู่ รักษาอยู่ เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึง เรียกว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข [๕๙๐] คำว่า ตติยะ อธิบายว่า ชื่อว่าตติยะ โดยลำดับแห่งการนับ ชื่อว่า ตติยะ เพราะโยคาวจรบุคคลเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๓ [๕๙๑] คำว่า ฌาน อธิบายว่า อุเบกขา สติ สัมปชัญญะ สุข และเอกัคคตา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๗}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๕๙๒] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุตติยฌาน [๕๙๓] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๕๙๔] คำว่า เพราะละสุขและทุกข์ได้ อธิบายว่า สุขและทุกข์นั้นแยกเป็น สุขอย่างหนึ่ง ทุกข์อย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น สุข เป็นไฉน ความสำราญทางกาย ความสุขทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า สุข ทุกข์ เป็นไฉน ความไม่สำราญทางกาย ความทุกข์ทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิด แต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์ สุขและทุกข์นี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว ด้วย ประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะละสุขและทุกข์ได้ [๕๙๕] คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว อธิบายว่า โสมนัส และโทมนัสนั้นแยกเป็นโสมนัสอย่างหนึ่ง โทมนัสอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น โสมนัส เป็นไฉน ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า โสมนัส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๘}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

โทมนัส เป็นไฉน ความไม่สำราญทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็น ทุกข์ อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิดแต่ เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส โสมนัสและโทมนัสนี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้ พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว [๕๙๖] คำว่า ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข อธิบายว่า ความสำราญทางใจก็ไม่ใช่ ความไม่สำราญทางใจก็ไม่ใช่ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ไม่มี ทุกข์ไม่มีสุข [๕๙๗] ในคำว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นั้น อุเบกขา เป็นไฉน อุเบกขา ภาวะที่วางเฉย กิริยาที่เพ่งเฉย ความวางตนเป็นกลางแห่งจิต นี้เรียกว่า อุเบกขา สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ นี้เรียกว่า สติ สตินี้เป็นอันเปิดเผย บริสุทธิ์ ผุดผ่อง เพราะอุเบกขานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา [๕๙๘] คำว่า จตุตถะ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าเป็นที่ ๔ โดยลำดับแห่งการนับ ชื่อว่าจตุตถะ เพราะโยคาวจรบุคคลเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ ๔ [๕๙๙] คำว่า ฌาน อธิบายว่า อุเบกขา สติ และเอกัคคตา [๖๐๐] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุจตุตถฌาน [๖๐๑] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๐๙}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๖๐๒] ในคำว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง นั้น รูปสัญญา เป็นไฉน ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้ของโยคาวจรบุคคลผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติ ผู้อุบัติในรูปภูมิ หรือของพระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เหล่านี้เรียกว่า รูปสัญญา ภิกษุเป็นผู้ก้าวล่วงแล้ว ก้าวข้ามแล้ว ก้าวพ้นแล้วซึ่งรูปสัญญาเหล่านี้ เพราะ ฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง [๖๐๓] ในคำว่า เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา นั้น ปฏิฆสัญญาเป็นไฉน รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา และโผฏฐัพพสัญญา เหล่านี้เรียกว่า ปฏิฆสัญญา ปฏิฆสัญญาเหล่านี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้ พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา [๖๐๔] ในคำว่า เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา นั้น นานัตตสัญญาเป็นไฉน ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้ของบุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วย มโนธาตุ หรือผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยมโนวิญญาณธาตุซึ่งไม่ได้เข้าสมาบัติ เหล่านี้ เรียกว่า นานัตตสัญญา ภิกษุไม่มนสิการนานัตตสัญญาเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะไม่ มนสิการนานัตตสัญญา [๖๐๕] ในคำว่า อากาศไม่มีที่สุด นั้น อากาศ เป็นไฉน อากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความ ว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่างซึ่งมหาภูตรูป ๔ ถูกต้องไม่ได้ นี้เรียกว่า อากาศ๑- @เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ. ๓๔/๗๒๔/๒๐๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๑๐}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ภิกษุตั้งจิตไว้ ตั้งจิตไว้ด้วยดี แผ่ไปไม่มีที่สุดในอากาศนั้น เพราะฉะนั้นจึง เรียกว่า อากาศไม่มีที่สุด [๖๐๖] คำว่า อากาสานัญจายตนะ อธิบายว่า ธรรมคือจิตและเจตสิกของ บุคคลผู้เข้าอากาสานัญจายตนะ ผู้อุบัติในอากาสานัญจายตนภูมิ หรือพระอรหันต์ ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน [๖๐๗] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุอากาสานัญจายตนะ [๖๐๘] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๐๙] คำว่า เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้ก้าวล่วงแล้ว ก้าวข้ามแล้ว ก้าวพ้นแล้วซึ่งอากาสานัญจายตนะ นี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง [๖๑๐] คำว่า วิญญาณไม่มีที่สุด อธิบายว่า ภิกษุมนสิการอากาศนั้นนั่นแหละ ที่วิญญาณถูกต้องแล้ว แผ่ไปไม่มีที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณไม่มีที่สุด [๖๑๑] คำว่า วิญญาณัญจายตนะ อธิบายว่า ธรรมคือจิตและเจตสิก ของบุคคลผู้เข้าวิญญาณัญจายตนะ ผู้อุบัติในวิญญาณัญจายตนภูมิ หรือของพระ อรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน [๖๑๒] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุวิญญาณัญจายตนะ [๖๑๓] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้นจึง เรียกว่า อยู่ [๖๑๔] คำว่า เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้ก้าวล่วงแล้ว ก้าวข้ามแล้ว ก้าวพ้นแล้วซึ่งวิญญาณัญจายตนะ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๑๑}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๑๒. ฌานวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๖๑๕] คำว่า อะไรๆ สักน้อยหนึ่งก็ไม่มี อธิบายว่า ภิกษุทำวิญญาณนั้น นั่นแหละไม่ให้มี ให้เสื่อมไป ให้อันตรธานไป พิจารณาเห็นว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อะไรๆ สักน้อยหนึ่งก็ไม่มี [๖๑๖] คำว่า อากิญจัญญายตนะ อธิบายว่า ธรรมคือจิตและเจตสิกของ บุคคลผู้เข้าอากิญจัญญายตนะ ผู้อุบัติในอากิญจัญญายตนภูมิ หรือของพระ อรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน [๖๑๗] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุ ถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุอากิญจัญญายตนะ [๖๑๘] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า อยู่ [๖๑๙] คำว่า เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้ก้าวล่วงแล้ว ก้าวข้ามแล้ว ก้าวพ้นแล้วซึ่งอากิญจัญญายตนะ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง คำว่า ผู้มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อธิบายว่า ภิกษุมนสิการ อากิญจัญญายตนะนั้นนั่นแหละโดยความเป็นฌานที่สงบ เจริญสมาบัติที่มีสังขาร เหลืออยู่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ผู้มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ [๖๒๐] คำว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ อธิบายว่า ธรรมคือจิตและ เจตสิกของบุคคลผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ หรือผู้อุบัติในเนวสัญญานา- สัญญายตนภูมิ หรือของพระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน [๖๒๑] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ [๖๒๒] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ดำเนินไปอยู่ รักษาอยู่ เป็น ไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อยู่
สุตตันตภาชนีย์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๔๑๒}

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๕ หน้าที่ ๓๙๙-๔๑๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=35&A=11300&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=35&siri=48              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=7871&Z=8548&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=600              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=35&item=600&items=110              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=35&item=600&items=110              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu35

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]