ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา

ภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ตลอดเวลาที่พระองค์ยังประทับอยู่ในเมืองภัททิยะ ข้าพระ องค์ขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยาก รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตปัญจโครสเป็นต้น
[๒๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระอัธยาศัย แล้ว ไม่ทรงบอกเมณฑกคหบดี เสด็จจาริกไปทางอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เมณฑกคหบดีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่อังคุตตราปะพร้อม กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น จึงสั่งทาสและกรรมกรไปว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มากๆ พวกคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงต้อนแม่โค ๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจะเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ที่ยังอุ่นในที่ที่เราได้ เฝ้าพระผู้มีพระภาค” ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาคระหว่างทางกันดาร จึงเข้าไป เฝ้าถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา

ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไป แห่งราตรีนั้นเขาให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มี พระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปที่จัดเลี้ยง ของคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ คหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนไปว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงช่วยกัน จับแม่โคนมคนละตัวแล้วยืนใกล้ภิกษุรูปละคนๆ เราจะเลี้ยงพระด้วยนมสดรีดใหม่ ที่ยังอุ่น” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีดด้วยตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งอิ่มหนำ ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัส ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด” ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีด ด้วยมือตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่ง พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ในหนทางกันดาร อัตคัดน้ำอัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไปต้องลำบาก ขอประทานวโรกาส เถิด พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุด้วยเถิด พระพุทธ- เจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับ ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๑๒๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ

เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัด อาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้ ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้ ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เรา อนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน ไม่ว่ากรณีใดๆ”

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๒๗-๑๒๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=5&A=3401&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=23              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=2169&Z=2363&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=83              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=83&items=3              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=83&items=3              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]