ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๓. มหาโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรใหญ่
เหตุแห่งความไม่เจริญ๓-
[๓๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่ สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ นายโคบาลในโลกนี้ ๑. ไม่รู้รูปโค ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะโค ๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล @เชิงอรรถ : @๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้ @ ดูเทียบ องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๗/๔๓๒-๔๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ ๗. ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง ๙. ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ ๑๑. ไม่บูชาโคผู้๑- ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยง ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ไม่สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้ ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. ไม่รู้รูป ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ ๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล ๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ ๗. ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง ๙. ไม่ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ ๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง [๓๔๗] ภิกษุไม่รู้รูป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้รูป เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ไม่บูชาโคผู้ หมายถึงไม่ให้อาหารอย่างดี ไม่ประดับด้วยของหอม ไม่คล้องพวงมาลัย ไม่สวมปลอกเงิน @ปลอกทองที่เขาของโคจ่าฝูง และในเวลากลางคืน ก็ไม่ติดไฟแล้วให้นอนใต้เพดานผ้า โคจ่าฝูงเมื่อไม่ได้รับ @การเอาใจใส่เช่นนั้น จึงไม่รักษา ไม่ป้องกันอันตรายให้แก่ฝูงโค (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ๑- เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็น ลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... รับวิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้น ... รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้ สิ้นสุด ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ๒- แยกถือ๓- ไม่ปฏิบัติเพื่อ สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง ธรรมารมณ์ทางใจแล้วรวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่ สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษา มนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ไม่ฉลาดในลักษณะ หมายถึงคนพาลและบัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องหมายเหมือนกัน แต่ต่างกันที่คนพาลมี @อกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิตมีกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย (ม.มู.อ. ๒/๓๔๗/๑๖๙) @ รวบถือ หมายถึงมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียง @ไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยอำนาจฉันทราคะ @(อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗) @ แยกถือ หมายถึงมองภาพ ๒ ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วนๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือเท้า @ว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวาว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้า @เห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์ @(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้ว แก่คนอื่นๆ โดยพิสดาร ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร ไม่สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็น อย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นไม่เปิด เผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ไม่ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้ง่าย และไม่บรรเทา ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ไม่ได้ความปลาบปลื้ม อิงธรรม ไม่ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่ง ผู้อื่นแสดงอยู่ ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่รู้ทาง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุไม่ รู้ทาง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการตามความเป็นจริง๑- ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล @เชิงอรรถ : @ ไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงไม่รู้ว่า ‘สติปัฏฐานอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหน @เป็นโลกุตตระ’ เมื่อไม่รู้ก็จะน้อมญาณของตนเข้าไปในฐานที่ละเอียด แล้วปักใจอยู่ในสติปัฏฐานที่เป็น @โลกิยะเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สติปัฏฐานส่วนที่เป็นโลกุตตระเกิดขึ้นได้ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุรีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ รีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา- มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้ [๓๔๘] นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้สามารถจะเลี้ยง ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ นายโคบาลในโลกนี้ ๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะโค ๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล ๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ ๗. รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. รู้ทาง ๙. ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมให้เหลือ ๑๑. บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล จึงเป็นผู้สามารถจะเลี้ยง ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้ ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะ ๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล ๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ ๗. รู้ว่ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. รู้ทาง ๙. ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมให้เหลือ ๑๑. บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง [๓๔๙] ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างนี้แล ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่รับวิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้น ... ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้ สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุปกปิดแผล เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุปกปิดแผลเป็นอย่างนี้แล ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้วแก่ คนอื่นๆ โดยพิสดาร ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์ นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และ บรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ได้ความปลาบปลื้ม อิงธรรม ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่ง ผู้อื่นแสดงอยู่ ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการ ตามความเป็นจริง ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา- มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาโคปาลสูตรที่ ๓ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๓๘๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๗๖-๓๘๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=33              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=7106&Z=7246                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=383              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=383&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=4222              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=383&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=4222                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i383-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.033.than.html https://suttacentral.net/mn33/en/sujato https://suttacentral.net/mn33/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :