ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

๒. มหาราหุโลวาทสูตร
ว่าด้วยการประทานโอวาทแก่พระราหุล สูตรใหญ่
[๑๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี แม้ท่านพระราหุลก็ครอง อันตรวาสกถือบาตรและจีวร ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับท่านพระราหุลว่า “ราหุล เธอพึงเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว หรือประณีต อยู่ไกลหรือใกล้ก็ตาม อย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” ท่านพระราหุลทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่ พระสุคต รูปเท่านั้นหรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ” หลังจากนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า “วันนี้ ใครหนอที่พระผู้มีพระภาคจะทรง ประทานโอวาทโปรดเฉพาะพระพักตร์ แล้วเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต” กลับจากที่นั้น แล้วนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระ สารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงกล่าวกับท่านพระราหุลว่า “ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติภาวนาที่ บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

ธาตุ ๕
[๑๑๔] ครั้นเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่หลีกเร้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระ ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้ มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล รูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป๑- ที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๒- หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปที่เป็น ภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่ เป็นภายใน ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) ที่เป็นภายในและปฐวีธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นปฐวีธาตุ นั่งเอง บัณฑิตควรเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิต ให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุได้ @เชิงอรรถ : @ อุปาทินนกรูป หมายถึงรูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน และคำนี้ยังเป็นชื่อของรูปที่ดำรงอยู่ในสรีระโดยที่ยึดถือ @จับต้อง ลูบคลำได้ เช่น ผม ขน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า คำนี้กำหนด จำแนกไว้โดยเป็นปฐวีธาตุที่ @เป็นภายใน สำหรับกุลบุตรผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐาน(ที่กำหนดจำแนกเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ) @ก็เช่นเดียวกัน พึงทราบความพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๐๒/๑๓๐) @ วักกะ โบราณแปลว่า ม้าม และแปลคำว่าปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้ แปลวักกะ ว่า “ไต” และแปล ปิหกะ @ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อน มีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้าของเด็กๆ หรือ @คล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รัดรึงจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้วแยกออก ห้อยอยู่ @ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๔๓-๔๔); พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามของ “ไต” @ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำ @ปัสสาวะ” Buddhadatta Mahathera, A Concise Pali-English Dictionary; Rhys Davids. T.W. @Pali-English Dictionary ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า “ไต” (Kidney) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

[๑๑๕] อาโปธาตุ เป็นอย่างไร คือ อาโปธาตุที่เป็นภายในก็มี อาโปธาตุที่เป็นภายนอกก็มี อาโปธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความ เอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของ เฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความเอิบอาบ นี้เรียกว่า อาโปธาตุที่เป็นภายใน อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) ที่เป็นภายในและอาโปธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นอาโปธาตุ นั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุและทำจิต ให้คลายกำหนัดในอาโปธาตุได้ [๑๑๖] เตโชธาตุ เป็นอย่างไร คือ เตโชธาตุที่เป็นภายในก็มี เตโชธาตุที่เป็นภายนอกก็มี เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความ เร่าร้อน ได้แก่ ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้อบอุ่น ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำ ร่างกายให้ทรุดโทรม ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้เร่าร้อน ธรรมชาติที่เป็น เครื่องย่อยสิ่งที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และลิ้มรสแล้ว หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เป็นอุปาทินนกรูปซึ่งเป็นภายในเป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อน นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นภายใน เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) ที่เป็นภายในและเตโชธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นเตโชธาตุ นั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นเตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ และทำ จิตให้คลายกำหนัดในเตโชธาตุได้ [๑๑๗] วาโยธาตุ เป็นอย่างไร คือ วาโยธาตุที่เป็นภายในก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายนอกก็มี วาโยธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความ พัดไปมา คือ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมที่ แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่เป็นภายใน วาโยธาตุ(ธาตุลม) ที่เป็นภายในและวาโยธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็นวาโยธาตุ นั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นด้วย ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ และทำจิต ให้คลายกำหนัดในวาโยธาตุได้ [๑๑๘] อากาสธาตุ เป็นอย่างไร คือ อากาสธาตุที่เป็นภายในก็มี อากาสธาตุที่เป็นภายนอกก็มี อากาสธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร คือ อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของว่างเปล่า มีความ ว่างเปล่า คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส ช่องที่พักอยู่แห่งของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส และช่องสำหรับ ของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มรส ไหลลงเบื้องต่ำ หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

อุปาทินนกรูปที่เป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของว่างเปล่า มีความว่างเปล่า เป็นช่องว่าง เป็นธรรมชาติที่นับว่าช่องว่าง ซึ่งเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องแล้ว นี้เรียกว่า อากาสธาตุที่เป็นภายใน อากาสธาตุ(ธาตุคืออากาศ) ที่เป็นภายในและอากาสธาตุที่เป็นภายนอก ก็เป็น อากาสธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็น จริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็น อากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน อากาสธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัดในอากาสธาตุได้๑-
ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕
[๑๑๙] ราหุล เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยแผ่นดิน เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็น ที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอ ด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอ ไม่ได้ คนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง น้ำจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำ เพราะเมื่อเธอ เจริญภาวนาให้เสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้ @เชิงอรรถ : @ ธาตุ ๕ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๓๐๒-๓๐๕/๓๓๐-๓๓๖ และ ม.อุ. ๑๔/๓๔๙-๓๕๓/๓๐๗-๓๐๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๒๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอ ด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอ ไม่ได้ ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยไฟ เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้ เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิต ของเธอไม่ได้ เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอ ด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอ ไม่ได้ ลมย่อมพัดของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด ระอา หรือรังเกียจของนั้นก็หาไม่ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยลม เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิต ของเธอไม่ได้ เธอจงเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอ ด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอ ไม่ได้ อากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ แม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญภาวนา ให้เสมอด้วยอากาศ เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาให้เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็น ที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักครอบงำจิตของเธอไม่ได้
การเจริญภาวนา ๖ อย่าง
[๑๒๐] ราหุล ๑. เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้ ๒. เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละการเบียดเบียนได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๓๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

๓. เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละความริษยาได้ ๔. เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละความหงุดหงิดได้ ๕. เธอจงเจริญอสุภภาวนา๑- เถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละ ราคะได้ ๖. เธอจงเจริญอนิจจสัญญา๒- เถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาอยู่ จักละความถือตัวได้
อานาปานสติ ๑๖ ขั้น
[๑๒๑] ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’ เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’ ๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’ เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’ @เชิงอรรถ : @ อสุภภาวนา ในที่นี้หมายถึงทั้งอุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนาในซากศพที่อืดพองขึ้น ท่านกล่าวอธิบาย @ไว้โดยพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค (ม.ม.อ. ๒/๑๒๐/๑๐๕) @ อนิจจสัญญา ในที่นี้หมายถึงการหมายรู้ที่เกิดร่วมกันโดยพิจารณาเห็นเป็นความไม่เที่ยง @(ม.ม.อ. ๒/๑๒๐/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๓๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๒. มหาราหุโลวาทสูตร

๓. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก’ ๔. สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขารหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขารหายใจออก’ ๕. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้ปีติหายใจออก’ ๖. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุขหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้สุขหายใจออก’ ๗. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขารหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตตสังขารหายใจออก’ ๘. สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขารหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราระงับจิตตสังขารหายใจออก’ ๙. สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้จิตหายใจออก’ ๑๐. สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราทำจิตให้บันเทิงหายใจออก’ ๑๑. สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่นหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราตั้งจิตมั่นหายใจออก’ ๑๒. สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิตหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราเปลื้องจิตหายใจออก’ ๑๓. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงหายใจออก’ ๑๔. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้หายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความคลายออกได้หายใจออก’ ๑๕. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไปหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความดับไปหายใจออก’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๓๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๓. จูฬมาลุกยสูตร

๑๖. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า’ สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก’ อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก๑- ราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ(หายใจเข้า) ลมปัสสาสะ(หายใจออก) ครั้งสุดท้ายที่ปรากฏชัด ย่อมดับไป ที่ไม่ปรากฏชัด ยังไม่ดับไป” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มหาราหุโลวาทสูตรที่ ๒ จบ
๓. จูฬมาลุงกยสูตร
ว่าด้วยพระมาลุงกยบุตร สูตรเล็ก
เหตุแห่งอัพยากตปัญหา ๑๐ ประการ
[๑๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตร หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิด ความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “ทิฏฐิที่พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสตอบ ทรงงด ทรงวางเฉยเหล่านี้ คือ ทิฏฐิว่า ‘โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคต๒- เกิดอีก หลังจากตายแล้ว @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๔๘/๑๓๐-๑๓๑ @ ตถาคต เป็นคำที่ลัทธิอื่นๆ ใช้มาก่อนพุทธกาลหมายถึงอัตตา(อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า ในที่ @นี้หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. ๑/๖๕/๑๐๘, ม.ม.อ. ๒/๑๒๒/๑๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๑๓๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๒๕-๑๓๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=12              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=2541&Z=2681                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=133              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=133&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2439              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=133&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2439                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i133-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.062.than.html https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Short-Pieces/MahaRahulovadasuttam.htm https://suttacentral.net/mn62/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :