ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

๓. มฆเทวสูตร
ว่าด้วยพระเจ้ามฆเทวะ
[๓๐๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวันของพระเจ้ามฆเทวะ เขตกรุง มิถิลา ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรง แย้มพระโอษฐ์ พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ” แล้วจึง ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรง แย้มพระโอษฐ์ พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงมิถิลานี้แล ได้มีพระราชาทรงพระนามว่ามฆเทวะ เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นมหาราช ผู้ตั้งมั่นในธรรม๑- ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์และคหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท ทรงรักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์๒- ครั้งนั้น เมื่อล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี พระเจ้ามฆเทวะรับสั่งเรียกช่างกัลบก มาตรัสว่า ‘ช่างกัลบกเพื่อนรัก เมื่อใดท่านเห็นผมหงอกเกิดบนศีรษะของเรา เมื่อนั้นพึงบอกเรา’ ครั้งนั้น ช่างกัลบกทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ช่างกัลบกได้เห็นพระเกศาหงอกเกิดแล้วบนพระเศียรของ พระเจ้ามฆเทวะ ได้กราบทูลว่า ‘เทวทูต๓- ปรากฏแก่พระองค์แล้ว พระเกศาหงอก เกิดแล้วบนพระเศียรปรากฏอยู่’ @เชิงอรรถ : @ ผู้ตั้งมั่นในธรรม หมายถึงตั้งมั่นในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.ม.อ. ๒/๓๐๘/๒๒๔) @ ปักษ์ ในที่นี้หมายถึงปาฏิหาริกปักษ์ คือ วัน ๗ ค่ำ และวัน ๙ ค่ำ ด้วยการรับและส่งอุโบสถศีลวัน ๘ ค่ำ, @วัน ๑๓ ค่ำ และวัน ๑ ค่ำ ด้วยการรับและส่งอุโบสถศีลวัน ๑๔ ค่ำ ในวันเดือนขาด, วัน ๑๔ ค่ำและวัน ๑ ค่ำ @ด้วยการรับและส่งอุโบสถศีลวัน ๑๕ ค่ำ ในวันเดือนเต็ม (ม.ม.อ. ๒/๓๐๘/๒๒๕) @ เทวทูตในที่นี้หมายถึงทูตแห่งความตาย เพราะบุคคลเมื่อมีผมหงอกแล้วก็เหมือนยืนอยู่ใกล้พระยามัจจุราช @(ม.ม.อ. ๒/๓๐๙/๒๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

พระเจ้ามฆเทวะตรัสว่า ‘ช่างกัลบกเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้แหนบถอน ผมหงอกนั้นให้ดี แล้ววางลงที่กระพุ่มมือของเราเถิด’ อานนท์ ช่างกัลบกทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว จึงใช้แหนบถอนพระเกศา หงอกนั้นอย่างดี แล้ววางลงบนกระพุ่มพระหัตถ์ของพระเจ้ามฆเทวะ
พระเจ้ามฆเทวะออกผนวช
[๓๐๙] ครั้งนั้น พระเจ้ามฆเทวะพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบกแล้วรับ สั่งให้เรียกพระราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่มาเฝ้าแล้วตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย เทวทูต ปรากฏแก่พ่อแล้ว ผมหงอกเกิดแล้วบนศีรษะปรากฏอยู่ กามทั้งหลายที่เป็นของ มนุษย์ พ่อได้บริโภคแล้ว เวลานี้เป็นเวลาที่จะแสวงหากามทั้งหลายที่เป็นทิพย์ มาเถิดลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองราชสมบัตินี้ ส่วนพ่อจักโกนผมและหนวด นุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิต เมื่อใด ลูกเห็นผมหงอกเกิดแล้ว บนศีรษะ เมื่อนั้นลูกจงให้บ้านส่วยแก่ช่างกัลบก พึงพร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นโอรส องค์ใหญ่ในการครองราชสมบัติให้ดี แล้วโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด ลูกพึงประพฤติวัตรอันงามตามวิธีที่พ่อตั้งไว้นี้ ลูกอย่าเป็นคนสุดท้ายของพ่อเลย เมื่อยุคของคนใดเป็นไปอยู่ แต่ปล่อยให้วัตร อันงามเห็นปานนี้ขาดสูญไป คนนั้นชื่อว่าเป็นคนสุดท้ายของราชบรรพชิตนั้น ลูกเอ๋ย พ่อกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ลูกพึงประพฤติวัตรอันงามตามวิธีที่พ่อตั้งไว้นี้ ลูกอย่าเป็นคน สุดท้ายของพ่อเลย’ ครั้งนั้น พระเจ้ามฆเทวะครั้นพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบกและทรงพร่ำสอน พระราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ในการครองราชสมบัติให้ดีแล้ว ทรงปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วเสด็จออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต ที่มฆเทวอัมพวันนี้ ท้าวเธอทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลก ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ ทรงมีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๑- ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ อานนท์ พระเจ้ามฆเทวะทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงตำแหน่ง อุปราชอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี เสด็จออกจากวังผนวช เป็นบรรพชิตประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวอัมพวันนี้อีก ๘๔,๐๐๐ ปี พระองค์ ทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้วได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก
โอรสของพระเจ้ามฆเทวะออกผนวช
[๓๑๐] อานนท์ ครั้งนั้นแล เมื่อล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะ รับสั่งเรียกช่างกัลบกมาตรัสว่า ‘ช่างกัลบก เพื่อนรัก เมื่อใดท่านเห็นผมหงอก เกิดแล้วบนศีรษะของเรา เมื่อนั้นพึงบอกเรา’ ครั้งนั้น ช่างกัลบกทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อล่วงไปหลายปี หลาย ร้อยปี หลายพันปี ช่างกัลบกได้เห็นเส้นพระเกศาหงอกเกิดแล้วบนพระเศียรของ พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะได้กราบทูลว่า ‘เทวทูตปรากฏแก่พระองค์แล้ว พระเกศาหงอกเกิดแล้วบนพระเศียรปรากฏอยู่’ พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะตรัสว่า ‘ ช่างกัลบกเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้แหนบถอนผมหงอกนั้นให้ดี แล้ววางบนกระพุ่มมือของเราเถิด’ ช่างกัลบกทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว จึงใช้แหนบถอนพระเกศาหงอกนั้น อย่างดี แล้ววางบนกระพุ่มพระหัตถ์ของพระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะ ครั้งนั้น พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะ ได้พระราชทานบ้านส่วยแก่ช่าง กัลบก แล้วรับสั่งให้เรียกพระราชกุมารผู้เป็นโอรสพระองค์ใหญ่มาเฝ้าตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๐ (อัฏฐกนาครสูตร) หน้า ๒๑ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

เทวทูตปรากฏแก่พ่อแล้ว ผมหงอกเกิดแล้วบนศีรษะปรากฏอยู่ กามทั้งหลายที่เป็นของ มนุษย์พ่อบริโภคแล้ว เวลานี้เป็นเวลาที่จะแสวงหากามอันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองราชสมบัตินี้ ส่วนพ่อจักโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิต เมื่อใด ลูกเห็นผมหงอกเกิดแล้วบนศีรษะ เมื่อนั้น ลูกพึงให้บ้านส่วยแก่ช่างกัลบก แล้วพึงพร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ในการ ครองราชสมบัติให้ดี แล้วพึงโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวัง บวชเป็นบรรพชิตเถิด ลูกพึงประพฤติวัตรอันงามตามวิธีที่พ่อตั้งไว้นี้ ลูกอย่าเป็น คนสุดท้ายของพ่อเลย เมื่อยุคของคนใดเป็นไปอยู่ แต่ปล่อยให้วัตรอันงามเห็นปานนี้ขาดสูญไป คนนั้น ชื่อว่าเป็นคนสุดท้ายของราชบรรพชิตนั้น ลูกเอ๋ย พ่อกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ลูกพึงประพฤติวัตร อันงามตามวิธีที่พ่อตั้งไว้แล้วนี้ ลูกอย่าเป็นคนสุดท้ายของพ่อเลย’ ครั้งนั้น พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะ ครั้นพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่าง กัลบก และทรงพร่ำสอนพระราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ ในการครองราชสมบัติ ให้ดีแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วเสด็จออกจากวัง ผนวชเป็นบรรพชิตอยู่ในมฆเทวอัมพวันนี้ ท้าวเธอทรงมีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศ ที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ ทรงมีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

อานนท์ พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวะทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี เสด็จ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวอัมพวันนี้อีก ๘๔,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้ว ได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก
พระราชนัดดาของพระเจ้ามฆเทวะออกผนวช
[๓๑๑] อานนท์ พระราชโอรสและพระราชนัดดาของพระเจ้ามฆเทวะสืบราชวงศ์ ต่อมา ๘๔,๐๐๐ ชั่วกษัตริย์ ได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต อยู่ในมฆเทวอัมพวันนี้ ท้าวเธอเหล่านั้นทรงมี เมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลกทั่วหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ ทรงมีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศ ที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มี ความเบียดเบียนอยู่ ท้าวเธอเหล่านั้นทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงตำแหน่งอุปราช อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี เสด็จออกจากวังผนวชเป็น บรรพชิต ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวอัมพวันนี้อีก ๘๔,๐๐๐ ปี พระองค์ทรง เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้วได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก พระเจ้านิมิเป็นพระราชาองค์สุดท้ายแห่งราชบรรพชิตนั้น เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นมหาราชผู้ตั้งมั่นในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์และ คหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

พระเจ้านิมิรักษาอุโบสถ
[๓๑๒] อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว อันตรากถานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เทพทั้งหลาย ชั้นดาวดึงส์ผู้นั่งประชุมกัน ณ สภาชื่อสุธัมมาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภ ของชาววิเทหะหนอ ชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิเป็นผู้ทรงธรรม เป็น ธรรมราชา เป็นมหาราชผู้ตั้งมั่นในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์และคหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์’ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกเทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์มาถามว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายปรารถนาจะเห็นพระเจ้านิมิหรือไม่’ เทพทั้งหลาย ชั้นดาวดึงส์ ทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะเห็น พระเจ้านิมิ’ อานนท์ สมัยนั้น ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระเจ้านิมิทรงสนานพระกายทั่ว พระเศียรแล้ว ทรงรักษาอุโบสถ ประทับนั่งอยู่แล้วบนปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงอันตรธานจากเทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ เฉพาะพระพักตร์พระเจ้านิมิ’ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า แล้วตรัสกับพระเจ้านิมิว่า ‘มหาราช เป็นลาภของพระองค์ พระองค์ได้ดีแล้ว เทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์นั่งประชุมสรรเสริญกันอยู่ในสภาชื่อสุธัมมาว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย เป็นลาภของชาววิเทหะหนอ ชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิเป็น ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นมหาราชผู้ตั้งมั่นในธรรม ทรงประพฤติธรรม ในพราหมณ์และคหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์’ มหาราช เทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ปรารถนาจะเห็นพระองค์ หม่อมฉันจะส่งรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัวมา เพื่อพระองค์ พระองค์ทรงขึ้นประทับบนทิพยยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย’ พระเจ้านิมิทรงรับเชิญโดยดุษณีภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

พระเจ้านิมิทอดพระเนตรนรกและสวรรค์
[๓๑๓] อานนท์ ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทราบอาการที่พระเจ้านิมิทรง รับเชิญแล้ว จึงอันตรธานจากที่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้านิมิมาปรากฏในหมู่เทพ ชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ รับสั่งเรียกมาตลีเทพบุตรผู้รับใช้มาตรัสว่า ‘มาเถิด มาตลี เพื่อนรัก ท่านจงจัดรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัว แล้วเข้าไปเฝ้าพระเจ้านิมิ’ จงทูลอย่างนี้ว่า ‘มหาราช รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัวนี้ ท้าวสักกะ จอมเทพทรงส่งมารับพระองค์ พระองค์พึงเสด็จขึ้นประทับยังทิพยยานเถิด อย่าทรง หวั่นพระทัยเลย’ มาตลีเทพบุตรผู้รับใช้ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จัดรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัว เข้าไปเฝ้าพระเจ้านิมิแล้วทูลว่า ‘มหาราช รถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัวนี้ ท้าวสักกะจอมเทพส่งมารับพระองค์ เชิญเสด็จขึ้นประทับยังทิพยยานเถิด อย่าทรงหวั่นพระทัยเลย อนึ่ง ทางสำหรับสัตว์ผู้มีบาปกรรม เสวยผลของบาปกรรม ทางหนึ่ง ทางสำหรับสัตว์ผู้มีกรรมอันงาม เสวยผลของกรรมอันงามทางหนึ่ง ข้าพระองค์จะเชิญเสด็จไปทางไหน พระเจ้าข้า’ พระเจ้านิมิตรัสว่า ‘มาตลี จงนำเราไปทั้งสองทางนั่นแล’ อานนท์ มาตลีเทพบุตรผู้รับใช้ นำเสด็จพระเจ้านิมิถึงสภาชื่อสุธัมมา ท้าวสักกะ จอมเทพ ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้านิมิผู้กำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงตรัสว่า ‘มหาราช เชิญเสด็จเข้ามาเถิด ขอรับเสด็จมหาราช เทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ปรารถนา จะเห็นพระองค์ ประชุมสรรเสริญกันอยู่ในสภาชื่อสุธัมมาว่า ‘ท่านผู้เจริญ เป็นลาภ ของชาววิเทหะหนอ ชาววิเทหะได้ดีแล้วหนอ ที่พระเจ้านิมิ เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นมหาราชผู้ตั้งมั่นในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์และ คหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์’ มหาราช เทพทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ปรารถนาจะเห็น พระองค์ ขอเชิญพระองค์ทรงอภิรมย์อยู่ในหมู่เทพทั้งหลาย ด้วยเทวานุภาพเถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

พระเจ้านิมิตรัสว่า ‘อย่าเลย พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอจงนำหม่อมฉันกลับไปยัง กรุงมิถิลา ในมนุษยโลกนั้นเถิด หม่อมฉันจะได้ประพฤติธรรมอย่างนั้น ในพราหมณ์ และคหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท และจักได้รักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ต่อไป’
พระเจ้านิมิออกผนวช
[๓๑๔] อานนท์ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกมาตลีเทพบุตร ผู้รับใช้มาตรัสว่า ‘มาเถิด มาตลีเพื่อนรัก ท่านจงจัดรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัว นำพระเจ้านิมิกลับไปยังกรุงมิถิลาในมนุษยโลกนั้นเถิด’ มาตลีเทพบุตรผู้รับใช้ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จัดรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ๑,๐๐๐ ตัว แล้วนำพระเจ้านิมิเสด็จกลับไปยังกรุงมิถิลาในมนุษยโลกนั้น ได้ยินว่า สมัยนั้น พระเจ้านิมิทรงประพฤติธรรมในพราหมณ์และคหบดี ในชาวนิคมและชาว ชนบท และทรงรักษาอุโบสถทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ต่อมาเมื่อล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี พระเจ้านิมิรับสั่งเรียกช่างกัลบก มาตรัสว่า ‘ช่างกัลบกเพื่อนรัก เมื่อใดท่านเห็นผมหงอกเกิดแล้วบนศีรษะของเรา เมื่อนั้นพึงบอกเรา’ ช่างกัลบกทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ช่างกัลบกได้เห็นพระเกศาหงอกเกิดแล้วบนพระเศียรของพระเจ้านิมิ จึงกราบทูลว่า ‘เทวทูตปรากฏแก่พระองค์แล้ว พระเกศาหงอกเกิดแล้วบนพระเศียร ปรากฏอยู่’ พระเจ้านิมิตรัสว่า ‘ช่างกัลบกเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้แหนบถอนผม หงอกนั้นให้ดี แล้ววางลงบนกระพุ่มมือของเรา’ ช่างกัลบกทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว จึงใช้แหนบถอนพระเกศาหงอกนั้น อย่างดี แล้ววางไว้ที่กระพุ่มพระหัตถ์ของพระเจ้านิมิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

อานนท์ ต่อมา พระเจ้านิมิพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบกแล้วรับสั่ง ให้เรียกพระราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย เทวทูตปรากฏ แก่พ่อแล้ว ผมหงอกเกิดแล้วบนศีรษะปรากฏอยู่ กามทั้งหลายที่เป็นของมนุษย์ พ่อบริโภคแล้ว เวลานี้เป็นเวลาที่จะแสวงหากามอันเป็นทิพย์ มาเถิดลูกเอ๋ย ลูกจง ปกครองราชสมบัตินี้ ส่วนพ่อจักโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวัง บวชเป็นบรรพชิต เมื่อใด ลูกเห็นผมหงอกเกิดแล้วบนศีรษะ เมื่อนั้นลูกจงให้บ้าน ส่วยแก่ช่างกัลบก พึงพร่ำสอนราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ในการครองราชสมบัติ ให้ดี แล้วโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด ลูกพึงประพฤติวัตรอันงามตามวิธีที่พ่อตั้งไว้นี้ ลูกอย่าเป็นคนสุดท้ายของพ่อเลย เมื่อยุคของคนใดเป็นไปอยู่ แต่ปล่อยให้วัตรอันงามเห็นปานนี้ขาดสูญไป คนนั้นชื่อว่า เป็นคนสุดท้ายของราชบรรพชิตนั้น ลูกเอ๋ย พ่อกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ลูกพึงประพฤติวัตร อันงามตามวิธีที่พ่อตั้งไว้แล้วนี้ ลูกอย่าเป็นคนสุดท้ายของพ่อเลย’
พระเจ้ากฬารกชนกเป็นองค์สุดท้าย
[๓๑๕] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้านิมิครั้นพระราชทานบ้านส่วยแก่ช่างกัลบกแล้ว ทรงพร่ำสอนพระราชกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ ในการครองราชสมบัติให้ดีแล้ว ทรงโกนพระเกศาและพระมัสสุ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากวังผนวชเป็น บรรพชิต ณ มฆเทวอัมพวันนี้ ท้าวเธอมีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไป ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ ทรงมีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง ทรงแผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๓. มฆเทวสูตร

พระเจ้านิมิทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี เสด็จออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ที่มฆเทวอัมพวันนี้นั่นแลอีก ๘๔,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงเจริญ พรหมวิหาร ๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้วได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก อานนท์ พระเจ้านิมิมีพระราชโอรสพระนามว่ากฬารกชนก พระราชกุมารนั้น มิได้ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต ทรงตัดวัตรอันงามนั้นแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์คน สุดท้ายแห่งราชบรรพชิตนั้น [๓๑๖] อานนท์ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น พระเจ้ามฆเทวะซึ่งทรง ตั้งวัตรอันงามนั้นคงเป็นคนอื่นเป็นแน่’ แต่ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น สมัยนั้น เราเป็นพระเจ้ามฆเทวะ ได้ตั้งวัตรอันงามนั้นไว้ ประชาชนผู้เกิดมาภายหลังประพฤติ ตามวัตรอันงามที่เราตั้งไว้แล้วนั้น แต่วัตรอันงามนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงพรหมโลกเท่านั้น ส่วนวัตรอันงามที่เราตั้งไว้ในบัดนี้เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว วัตรอันงามที่เราตั้งไว้ในบัดนี้ซึ่งเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว เป็นอย่างไร คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) วัตรอันงามที่เราตั้งไว้ในบัดนี้นี้แลเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๓๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๔. มธุรสูตร

อานนท์ เราขอเตือนเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘เธอทั้งหลายควรประพฤติวัตร อันงามตามวิธีที่เราตั้งไว้แล้ว เธอทั้งหลายอย่าเป็นคนสุดท้ายของเราเลย’ เมื่อยุค ของคนใดเป็นไปอยู่ แต่ปล่อยให้วัตรอันงามเห็นปานนี้ขาดสูญไป คนนั้นชื่อว่าคน สุดท้ายของบุรุษเหล่านั้น เราขอเตือนเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘เธอทั้งหลายควรประพฤติ วัตรอันงามตามวิธีที่เราตั้งไว้แล้ว เธอทั้งหลายอย่าเป็นคนสุดท้ายของเราเลย” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
มฆเทวสูตรที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๗๒-๓๘๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=33              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=7249&Z=7473                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=452              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=452&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=5653              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=452&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=5653                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i452-e1.php# https://suttacentral.net/mn83/en/sujato https://suttacentral.net/mn83/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :