ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๗. อนุรุทธสูตร
ว่าด้วยพระอนุรุทธะ
[๒๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ เรียกชาย คนหนึ่งมาสั่งว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ เธอจงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ กราบเท้า ท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราแล้วกราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ช่างไม้ปัญจกังคะกราบเท้าท่านพระอนุรุทธะด้วยเศียรเกล้า’ และจงกราบเรียนอย่าง นี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพระอนุรุทธะโปรดนับตนเองเป็นรูปที่ ๔ นิมนต์ รับภัตตาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอพระคุณเจ้าโปรดมาแต่เช้าๆ เพราะช่างไม้ปัญจกังคะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำทางราชการมาก” ชายคนนั้นรับคำแล้วจึงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ กราบแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนท่านพระอนุรุทธะว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ช่างไม้ ปัญจกังคะกราบเท้าพระคุณท่านด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านพระอนุรุทธะโปรดนับตนเองเป็นรูปที่ ๔ นิมนต์รับ ภัตตาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอพระคุณเจ้าโปรดไปแต่เช้าๆ เพราะช่างไม้ปัญจกังคะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำทางราชการมาก” ท่านพระอนุรุทธะรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

[๒๓๐] ครั้นเวลาเช้า เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระอนุรุทธะ ครองผ้า อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของช่างไม้ปัญจกังคะ แล้วนั่งบน อาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ลำดับนั้น ช่างไม้ปัญจกังคะถวายของเคี้ยวของฉันอันประณีต แก่ท่านพระอนุรุทธะจนอิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง พอเห็นท่านพระอนุรุทธะฉันเสร็จ ละมือออกจากบาตรแล้ว จึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ได้กล่าว กับท่านพระอนุรุทธะว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระทั้งหลายเข้ามาหากระผมในที่นี้แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงเจริญเจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้เถิด’ พระเถระบางรูปกล่าวอย่างนี้ว่า ‘คหบดี ท่านจงเจริญเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะเถิด’ พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธรรม ๒ ประการนี้ คือ ๑. เจโตวิมุตติ๑- อันหาประมาณมิได้ ๒. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ๒- มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน(อย่างไร) หรือว่ามีอรรถเป็นอันเดียวกัน๓- ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น” “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละ จงทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้แจ่มแจ้ง ท่านจะได้ปฏิบัติไม่ผิดจากเรื่องนี้” “พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘ธรรมเหล่านี้ คือ ๑. เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้ ๒. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๒ (โคปกโมคคัลลานสูตร) หน้า ๙๒ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๖ (อาเนญชสัปปายสูตร) หน้า ๗๓ ในเล่มนี้ @ มีอรรถเป็นอันเดียวกัน หมายถึงฌานที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า เป็นเจโตวิมุตติ ที่หาประมาณ @มิได้หรือเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ เพราะมีจิตเป็นเอกัคคตา(มีอารมณ์เป็นหนึ่ง)เหมือนกัน @(ม.อุ.อ. ๓/๒๓๐/๑๔๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

“คหบดี ธรรม ๒ ประการนี้ คือ ๑. เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้ ๒. เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน ท่านพึงทราบความต่างกันนั้น โดย วิธีที่ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกันโดยเหตุผลต่อไปนี้ เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอด โลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มี อุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ เบียดเบียนอยู่ คหบดี นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติอันหาประมาณมิได้ [๒๓๑] เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดน มหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๗๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดอาณาจักร ๑ แห่งว่า ‘เป็น แดนมหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดอาณาจักร ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ น้อมจิตแผ่ไปตลอดปฐพีซึ่งมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ คหบดี โดยเหตุผลนี้ ท่านก็จะทราบความต่างกันนั้น โดยวิธีที่ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน [๒๓๒] คหบดี การเข้าถึงภพนี้มี ๔ ประการ การเข้าถึงภพ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ๑. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างเล็กน้อยเป็นอารมณ์อยู่ หลังจากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นปริตตาภา ๒. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างหาประมาณมิได้เป็นอารมณ์อยู่ หลัง จากตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นอัปปมาณาภา ๓. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างเศร้าหมองเป็นอารมณ์อยู่ หลังจาก ตายแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นสังกิลิฏฐาภา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๗๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

๔. น้อมจิตแผ่กสิณมีแสงสว่างบริสุทธิ์เป็นอารมณ์อยู่ หลังจากตาย แล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพชั้นปริสุทธาภา การเข้าถึงภพ ๔ ประการนี้แล มีสมัยที่พวกเทพประชุมร่วมกัน เทพเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกายต่างกัน แต่ มีรัศมีไม่ต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษตามประทีปน้ำมันหลายดวง เข้าไปยังเรือน หลังหนึ่ง ประทีปน้ำมันเหล่านั้นปรากฏมีเปลวต่างกัน แต่มีแสงสว่างไม่ต่างกัน แม้ฉันใด สมัยที่พวกเทพประชุมร่วมกัน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เทพเหล่านั้นย่อม ปรากฏมีสีกายต่างกัน แต่มีรัศมีไม่ต่างกัน มีสมัยที่พวกเทพแยกกันประชุม เทพเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกายต่างกันและ มีรัศมีต่างกัน เปรียบเหมือนบุรุษนำประทีบน้ำมันหลายดวงออกจากเรือนหลังนั้น ประทีปน้ำมันเหล่านั้นปรากฏมีเปลวต่างกันและมีแสงสว่างต่างกัน แม้ฉันใด สมัย ที่พวกเทพแยกกันประชุม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เทพเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกาย ต่างกัน และมีรัศมีต่างกัน คหบดี เทพเหล่านั้นไม่มีความดำริอย่างนี้เลยว่า ‘สิ่งนี้ของเราทั้งหลายเที่ยง ยั่งยืน หรือแน่นอน’ แต่เทพเหล่านั้นย่อมอภิรมย์ในที่ที่ตนอาศัยอยู่เท่านั้น เปรียบเหมือนแมลงวันที่ติดไปกับหาบหรือตะกร้า ย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘หาบหรือตะกร้านี้ของเราเที่ยง ยั่งยืน หรือแน่นอน’ แต่ว่าแมลงวันเหล่านั้นย่อม อภิรมย์ในที่ที่ตนอาศัยอยู่เท่านั้น แม้ฉันใด เทพเหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ มีความคิดอย่างนี้เลยว่า ‘สิ่งนี้ของเราทั้งหลายเที่ยง ยั่งยืน หรือแน่นอน’ แต่เทพ เหล่านั้นย่อมอภิรมย์ในที่ที่ตนอาศัยอยู่เท่านั้น” [๒๓๓] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสภิยกัจจานะ ได้ กล่าวกับท่านพระอนุรุทธะว่า “ดีละ ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ แต่กระผมมีเรื่องจะขอ ถามให้ยิ่งขึ้นไปในเรื่องนี้ว่า ‘เทพผู้มีรัศมีทั้งหมดนั้นมีรัศมีเล็กน้อย หรือว่าบรรดา เทพเหล่านั้นมีเทพบางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้” ท่านพระอนุรุทธะกล่าวว่า “ท่านกัจจานะ โดยองค์แห่งการเกิด บรรดาเทพ เหล่านี้ เทพบางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่เทพบางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๗๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

“ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิดใน หมู่เทพเดียวกันเหล่านั้น เทพบางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่เทพบางพวกมีรัศมี หาประมาณมิได้” “ท่านกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น กระผมจะย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านพึงตอบ ปัญหานั้นตามที่ท่านพอใจ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดน มหัคคตะ’ อยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็น มหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่ากัน” “บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมจิต แผ่ไปสู่โคนต้นไม้ ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็นมหัคคต จิตตภาวนายิ่งกว่า ขอรับ” “ท่านกัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดโคนต้นไม้ ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดน มหัคคตะ’ อยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดน มหัคคตะ’ อยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็น มหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่ากัน” “บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมจิต แผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็นมหัคคตจิตต ภาวนายิ่งกว่า ขอรับ” “ท่านกัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตจิตต ภาวนายิ่งกว่ากัน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๗๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

“บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษรูปที่น้อมจิต แผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็นมหัคคต จิตตภาวนายิ่งกว่า ขอรับ” “ท่านกัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดเขตบ้าน ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดน มหัคคตะ’ อยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดมหาอาณาจักร ๑ แห่งว่า ‘เป็น แดนมหัคคตะ’ อยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่ากัน” “บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษรูปที่น้อมจิต แผ่ไปตลอดมหาอาณาจักร ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็นมหัคคตจิตต ภาวนายิ่งกว่า ขอรับ” “ท่านกัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดมหาอาณาจักร ๑ แห่งว่า ‘เป็นแดน มหัคคตะ’ อยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดมหาอาณาจักร ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่ากัน” “บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ ไปตลอดมหาอาณาจักร ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็น มหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่า ขอรับ” “ท่านกัจจานะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ ภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดมหาอาณาจักร ๒ หรือ ๓ แห่งว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมจิตแผ่ไปตลอดมหาปฐพีมีมหาสมุทร เป็นขอบเขตอยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่ากัน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๗๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๗. อนุรุทธสูตร

“บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุ ๒ รูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมจิต แผ่ไปตลอดมหาปฐพีมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตว่า ‘เป็นแดนมหัคคตะ’ อยู่นี้ เป็น มหัคคตจิตตภาวนายิ่งกว่า ขอรับ” “ท่านกัจจานะ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิดในหมู่เทพเดียวกัน เหล่านั้น บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้” [๒๓๔] “ดีละ ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ แต่กระผมมีเรื่องจะขอสอบถามให้ยิ่งขึ้น ไปในเรื่องนี้ว่า ‘เทพผู้มีรัศมีทั้งหมดนั้นมีรัศมีเศร้าหมอง หรือว่าบรรดาเทพ เหล่านั้นมีเทพบางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์” “ท่านกัจจานะ โดยองค์แห่งการเกิดนั้น บรรดาเทพเหล่านี้ เทพบางพวกมี รัศมีเศร้าหมอง แต่เทพบางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์” “ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิด ในหมู่เทพเดียวกันเหล่านั้น เทพบางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่เทพบางพวกมีรัศมี บริสุทธิ์” “ท่านกัจจานะ ถ้าเช่นนั้น กระผมจักทำการเปรียบเทียบแก่ท่าน แม้เพราะ การเปรียบเทียบ วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ จึงรู้ทั่วถึงอรรถแห่งภาษิตได้ เปรียบเหมือน เมื่อประทีปน้ำมันอันบุคคลจุดไฟอยู่ แม้น้ำมันก็ไม่บริสุทธิ์ แม้ไส้ก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะน้ำมันและไส้ไม่บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นจึงติดไฟอย่าง ริบหรี่ แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิต แผ่กสิณมีแสงสว่างเศร้าหมองเป็นอารมณ์อยู่ ไม่ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี ไม่ถอนถีนมิทธะให้ดี ไม่กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เพราะไม่ระงับความชั่วหยาบ ทางกายให้ดี ไม่ถอนถีนมิทธะให้ดี ไม่กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี ภิกษุนั้นจึง รุ่งเรืองอย่างริบหรี่ หลังจากมรณภาพแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับหมู่เทพ ผู้มีรัศมีเศร้าหมอง เปรียบเหมือน เมื่อประทีบน้ำมันอันบุคคลจุดไฟอยู่ แม้น้ำมันก็บริสุทธิ์ แม้ไส้ก็บริสุทธิ์ เพราะน้ำมันและไส้บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นจึงติดไฟอย่างไม่ริบหรี่ แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน น้อมจิตแผ่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๒๗๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๘. อุปักกิเลสสูตร

กสิณมีแสงสว่างบริสุทธิ์เป็นอารมณ์อยู่ ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี ถอน ถีนมิทธะให้ดี กำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เพราะระงับความชั่วหยาบทางกาย ให้ดี ถอนถีนมิทธะให้ดี และกำจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี ภิกษุนั้นจึงรุ่งเรืองอย่างไม่ ริบหรี่ หลังจากมรณภาพแล้ว จึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพผู้มีรัศมีบริสุทธิ์ ท่านกัจจานะ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทพผู้เกิดในหมู่เทพเดียวกัน เหล่านั้น เทพบางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่เทพบางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์” [๒๓๕] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสภิยกัจจานะได้ กล่าวกับท่านพระอนุรุทธะว่า “ดีละ ท่านอนุรุทธะผู้เจริญ ท่านอนุรุทธะมิได้กล่าว อย่างนี้ว่า ‘เราได้สดับมาแล้วอย่างนี้’ หรือว่า ‘ควรจะเป็นอย่างนี้’ แต่ท่าน อนุรุทธะกล่าวว่า ‘เทพเหล่านั้นเป็นอย่างนั้นบ้าง เทพเหล่านั้นเป็นอย่างนี้บ้าง ท่านผู้เจริญ กระผมนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านอนุรุทธะต้องเคยอยู่ร่วม เคยเจรจา และเคยร่วมสนทนากับเทพเหล่านั้นมาเป็นแน่” “ท่านกัจจานะ ท่านกล่าววาจานี้เป็นที่น่าเชื่อถือจริงๆ แต่กระผมจักตอบ ท่านบ้าง ท่านกัจจานะ กระผมเคยอยู่ร่วม เคยเจรจา และเคยร่วมสนทนากับ เทพเหล่านั้นมานานแล้ว” เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสภิยกัจจานะได้กล่าวกับ ช่างไม้ปัญจกังคะว่า “คหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ที่ท่านละเหตุแห่ง ความสงสัยนั้นเสียได้ เราทั้งสองจึงได้ฟังธรรมบรรยายนี้” ดังนี้แล
อนุรุทธสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๒๖๘-๒๗๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=27              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=5819&Z=6016                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=420              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=420&items=19              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=3691              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=420&items=19              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=3691                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i420-e.php# https://suttacentral.net/mn127/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :