ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๐. เทวทูตสูตร
ว่าด้วยเทวทูต
[๒๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลัง มีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดี ยืนอยู่ตรงกลางเรือน ๒ หลังนั้น พึงเห็นคนกำลังเดินเข้าเรือนบ้าง กำลังเดินออก จากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเดินไปบ้าง แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘สัตว์เหล่านี้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หรือสัตว์เหล่านี้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และ มโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม ตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในหมู่มนุษย์ สัตว์เหล่านี้ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๐๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในเปรตวิสัย หรือสัตว์เหล่านี้ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ก็หรือว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม ตามความเห็นผิด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑- [๒๖๒] ภิกษุทั้งหลาย นายนิรยบาล๒- จับแขนเขาไปแสดงต่อพญายม๓- ว่า ‘ขอเดชะ คนผู้นี้ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูล พราหมณ์ และไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ขอพระองค์จงลงโทษคนผู้นี้เถิด’ ภิกษุทั้งหลาย พญายมสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูต๔- ที่ ๑ ว่า ‘เจ้า ไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์บ้างหรือ’ เขาตอบว่า ‘ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า’ พญายมถามเขาว่า ‘ในหมู่มนุษย์ เด็กเล็กผู้ยังอ่อนนอนหงายกลิ้งเกลือกอยู่ ในมูตรและกรีสของตน เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ’ เขาตอบว่า ‘เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘เจ้านั้นเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดอย่างนี้หรือว่า ‘ถึงตัวเราก็มี ความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ เอาเถิด เราจะทำความดีทางกาย วาจา และใจ’ ‘ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๖๑/๑๘๓ @ นายนิรยบาล หมายถึงผู้ทำหน้าที่ลงโทษสัตว์นรก (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๖/๑๓๓) @ พญายม หมายถึงพญาเวมาณิกเปรต ซึ่งบางครั้งเสวยสมบัติในวิมานทิพย์ บางคราวเสวยวิบากกรรม @และพญายมนั้นมิใช่มีตนเดียว แต่มีถึง ๔ ตนประจำประตูนรก ๔ ประตู (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๖/๑๓๓) @ เทวทูต ในที่นี้หมายถึงสื่อแจ้งข่าวมฤตยู เป็นสัญญาณเตือนให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิตไม่ให้ประมาท @ได้แก่ ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ปรากฏเสมือนเทวดาทรงเครื่องมาประทับยืนในอากาศเตือนว่า @“วันโน้นท่านจะตาย” (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๖/๑๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

‘เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถิด เราจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนี้นั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา ไม่ได้ ทำให้เจ้าเลย เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้านั่นเองต้องรับผลของบาปกรรมนั้น’ (๑) [๒๖๓] พญายมครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูตที่ ๑ แล้ว จึง สอบสวนซักไซ้ไล่เลียง ถึงเทวทูตที่ ๒ ว่า ‘เจ้าไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏ ในหมู่มนุษย์บ้างหรือ’ เขาตอบว่า ‘ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘ในหมู่มนุษย์ สตรีหรือบุรุษมีอายุ ๘๐ ปี ... ๙๐ ปี ... หรือ ๑๐๐ ปี เป็นคนชรา มีซี่โครงคด หลังโก่ง หลังค่อม ถือไม้เท้า เดินงกๆ เงิ่นๆ เก้ๆ กังๆ หมดความเป็นหนุ่มสาว ฟันหัก ผมหงอก ศีรษะล้าน หนังเหี่ยว ตัวตกกระ เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ’ ‘เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘เจ้านั้นเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดอย่างนี้หรือว่า ‘ถึงตัวเราก็มี ความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เอาเถิด เราจะทำความดีทางกาย วาจา และใจ’ ‘ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า’ ‘เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถิด เราจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนี้นั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา ไม่ได้ ทำให้เจ้าเลย เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้านั่นเองต้องรับผลของบาปกรรมนั้น’ (๒) [๒๖๔] พญายมครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูตที่ ๒ แล้ว จึง สอบสวนซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า ‘เจ้าไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏใน หมู่มนุษย์บ้างหรือ’ เขาตอบว่า ‘ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

‘ในหมู่มนุษย์ สตรีหรือบุรุษเจ็บป่วย ประสบทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนจมอยู่ ในมูตรและกรีสของตน ผู้อื่นต้องช่วยพยุงให้ลุกขึ้นช่วยป้อนอาหาร เจ้าไม่เคยเห็น บ้างหรือ’ ‘เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘เจ้านั้นเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดอย่างนี้หรือว่า ‘ถึงตัวเราก็มี ความป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ เอาเถิด เราจะทำความดี ทางกาย วาจา และใจ’ ‘ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า’ ‘เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถิด เราจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนี้นั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา ไม่ได้ ทำให้เจ้าเลย เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้านั่นเองต้องรับผลของบาปกรรมนั้น’ (๓) [๒๖๕] พญายมครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูตที่ ๓ แล้ว จึงสอบ สวนซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่ ๔ ว่า ‘เจ้าเคยเห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่ มนุษย์บ้างหรือ’ เขาตอบว่า ‘ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘ในหมู่มนุษย์ พระราชารับสั่งให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว ลงอาญาด้วย ประการต่างๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลอง บ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัว ราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึง ข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดู เหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

แว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่ กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้ รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้ นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ’ ‘เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘เจ้านั้นเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดอย่างนี้หรือว่า ‘ได้ยินว่า สัตว์ผู้ทำบาปกรรมไว้เหล่านั้น จะถูกลงอาญาด้วยประการต่างๆ เห็นปานนี้ใน ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงชาติหน้า เอาเถิด เราจะทำความดีทางกาย วาจา และใจ’ ‘ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า’ ‘เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถิด เราจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนี้นั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา ไม่ได้ทำให้เจ้า เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้านั่นเองต้องรับผลของบาปกรรมนั้น’ (๔) [๒๖๖] พญายมครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูตที่ ๔ แล้ว จึง สอบสวนซักไซ้ไล่เลียงถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า ‘เจ้าไม่เคยเห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏใน หมู่มนุษย์บ้างหรือ’ เขาตอบว่า ‘ไม่เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘ในหมู่มนุษย์ สตรีหรือบุรุษที่ตาย ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน พองขึ้น เป็นสีเขียว มีน้ำเหลืองแตกซ่าน เจ้าไม่เคยเห็นบ้างหรือ’ ‘เคยเห็น พระเจ้าข้า’ ‘เจ้าเป็นผู้รู้เดียงสา เป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้คิดอย่างนี้หรือว่า ‘ถึงตัวเราก็มีความ ตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เอาเถิด เราจะทำความดีทางกาย วาจา และใจ’ ‘ไม่เคยคิด เพราะมัวประมาทอยู่ พระเจ้าข้า’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

‘เจ้าไม่ได้ทำความดีทางกาย วาจา และใจ เพราะมัวประมาทอยู่ เอาเถิด เราจะลงโทษเจ้าตามฐานะที่ประมาท ก็บาปกรรมนี้นั้น บิดามารดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต สมณพราหมณ์ เทวดา ไม่ได้ ทำให้เจ้าเลย เจ้าทำเองแท้ๆ เจ้านั่นเองต้องรับผลของบาปกรรมนั้น’ (๕) [๒๖๗] พญายมครั้นสอบสวนซักไซ้ไล่เลียงเขาถึงเทวทูตที่ ๕ นั้นแล้วก็นิ่งเฉย นายนิรยบาลจึงลงกรรมกรณ์ชื่อเครื่องพันธนาการ ๕ อย่าง คือ ตอกตะปู เหล็กร้อนแดงที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง และที่กลางอก เขาเสวยทุกขเวทนา กล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน ณ ที่นั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยัง ไม่สิ้นไป นายนิรยบาลฉุดลากเขาไป เอาขวานถาก ฯลฯ นายนิรยบาลจับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอามีดเฉือน ฯลฯ จับเขา เทียมรถแล่นกลับไปกลับมาบนพื้นดินอันร้อนลุกเป็นเปลว โชติช่วง ฯลฯ บังคับ เขาขึ้นลงภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่ไฟลุกโชน ฯลฯ จับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะ ลง ทุ่มลงในโลหกุมภีอันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟ เขาถูกต้มเดือดจนตัวพองใน โลหกุมภีนั้น เขาเมื่อถูกต้มเดือดจนตัวพองในโลหกุมภีนั้น บางครั้งลอยขึ้น บางครั้งจมลง บางครั้งลอยขวาง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในโลหกุมภีอันร้อนแดงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจึงทุ่มเขาลงในมหานรก ก็มหานรกนั้น มี ๔ มุม ๔ ประตู แบ่งออกเป็นส่วน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก มหานรกนั้น มีพื้นเป็นเหล็ก ลุกโชนโชติช่วง แผ่ไปไกลด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ [๒๖๘] ภิกษุทั้งหลาย เปลวไฟแห่งมหานรกนั้น ลุกโพลงขึ้นจากฝาด้าน ทิศตะวันออกจรดฝาด้านทิศตะวันตก ลุกโพลงขึ้นจากฝาด้านทิศตะวันตกจรดฝา ด้านทิศตะวันออก ลุกโพลงขึ้นจากฝาด้านทิศเหนือจรดฝาด้านทิศใต้ ลุกโพลงขึ้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

จากฝาด้านทิศใต้จรดฝาด้านทิศเหนือ ลุกโพลงขึ้นจากเบื้องล่างจรดเบื้องบน ลุก โพลงขึ้นจากเบื้องบนจรดเบื้องล่าง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในมหานรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป มีสมัยที่บางครั้งบางคราว เมื่อล่วงกาลไปนาน ประตูด้านทิศตะวันออกของ มหานรกนั้นจะถูกเปิด เขาจะวิ่งไปที่ประตูนั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเขาวิ่งไปอย่าง รวดเร็วจึงถูกไฟไหม้ผิวบ้าง ไหม้หนังบ้าง ไหม้เนื้อบ้าง ไหม้เอ็นบ้าง แม้กระดูก ทั้งหลายก็มอดไหม้เป็นควัน อวัยวะที่ถูกแยกออกแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที ใน ขณะที่เขามาถึง ประตูนั้นจะถูกปิด เขาจึงเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในมหานรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป มีสมัยที่บางครั้งบางคราว เมื่อล่วงกาลไปนาน ประตูด้านทิศตะวันตกของ มหานรกนั้นจะถูกเปิด ... ประตูด้านทิศเหนือจะถูกเปิด ... ประตูด้านทิศใต้จะถูก เปิด ... เขาจะวิ่งไปที่ประตูนั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเขาวิ่งไปอย่างรวดเร็วจึงถูกไฟ ไหม้ผิวบ้าง ไหม้หนังบ้าง ไหม้เนื้อบ้าง ไหม้เอ็นบ้าง แม้กระดูกทั้งหลายก็มอด ไหม้เป็นควัน อวัยวะที่ถูกแยกออกแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที ในขณะที่เขามาถึง ประตูนั้นจะถูกปิด เขาจึงเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ใน มหานรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป มีสมัยที่บางครั้งบางคราว เมื่อล่วงกาลไปนาน ประตูมหานรกด้านทิศ ตะวันออกจะถูกเปิด เขาจะวิ่งไปที่ประตูนั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเขาวิ่งไปอย่างรวดเร็ว จึงถูกไฟไหม้ผิวบ้าง ไหม้หนังบ้าง ไหม้เนื้อบ้าง ไหม้เอ็นบ้าง แม้กระดูกทั้งหลาย ก็มอดไหม้เป็นควัน อวัยวะที่ถูกแยกออกแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที (แต่)เขาจะ ออกทางประตูนั้นได้ [๒๖๙] ภิกษุทั้งหลาย ๑. รอบๆ มหานรกนั้น มีคูถนรกขนาดใหญ่อยู่ เขาตกลงในคูถนรกนั้น ในคูถนรกนั้นแล สัตว์ปากเข็มทั้งหลายย่อมเจาะผิว เจาะผิวแล้ว จึงเจาะหนัง เจาะหนังแล้ว จึงเจาะเนื้อ เจาะเนื้อแล้ว จึงเจาะเอ็น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

เจาะเอ็นแล้ว จึงเจาะกระดูก เจาะกระดูกแล้ว จึงกินเยื่อในกระดูก เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในมหานรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป ๒. รอบๆ คูถนรกนั้น มีกุกกุลนรก๑- ขนาดใหญ่อยู่ เขาตกลงใน กุกกุลนรกนั้น จึงเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ใน กุกกุลนรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป ๓. รอบๆ กุกกุลนรกนั้น มีป่างิ้วขนาดใหญ่สูง ๑ โยชน์ มีหนามยาว ๑๖ องคุลี ร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟ นายนิรยบาลบังคับเขาขึ้นลง ที่ป่างิ้วนั้น เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ใน ป่างิ้วนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป ๔. รอบๆ ป่างิ้วนั้นมีป่าไม้ที่มีใบเป็นดาบขนาดใหญ่อยู่ เขาเข้าไป ในป่าไม้ที่มีใบเป็นดาบนั้น ใบไม้ที่เป็นดาบถูกลมพัดแล้วจะตัดมือ เขาบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดหูและจมูกบ้าง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในป่าไม้ที่มีใบเป็นดาบนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรม นั้นยังไม่สิ้นไป ๕. รอบๆ ป่าไม้ที่มีใบเป็นดาบนั้นมีแม่น้ำอันมีน้ำเป็นด่างขนาดใหญ่ อยู่ เขาตกลงในแม่น้ำอันมีน้ำเป็นด่างนั้น จึงลอยไปในแม่น้ำอันมี น้ำเป็นด่างนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ตามกระแสและ ทวนกระแสบ้าง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในนรกแม่น้ำอันมีน้ำเป็นด่างนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่ บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป @เชิงอรรถ : @ กุกกุลนรก ในที่นี้หมายถึงนรกที่มีเถ้าร้อนประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ภายในเต็มด้วยเปลวไฟและถ่านเพลิง @ขนาดเท่าเรือนยอด (ม.อุ.อ. ๓/๒๖๙/๑๗๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

๑๐. เทวทูตสูตร

[๒๗๐] ภิกษุทั้งหลาย นายนิรยบาลใช้เบ็ดเกี่ยวสัตว์นรกนั้นขึ้นมาวางไว้บนบก แล้วถามเขาอย่างนี้ว่า ‘พ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร’ เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า’ นายนิรยบาลจึงใช้ขอเหล็กอันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟเกี่ยวปากให้อ้า แล้วใส่ ก้อนโลหะอันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟเข้าไปในปาก ก้อนโลหะนั้นจึงไหม้ริมฝีปากบ้าง ไหม้ปากบ้าง ไหม้คอบ้าง ไหม้ท้องบ้าง พาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้างของเขา ออกมาทางทวารหนัก เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในนรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลถามเขาว่า ‘พ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร’ เขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้ากระหาย เจ้าข้า’ นายนิรยบาลจึงใช้ขอเหล็กอันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟเกี่ยวปากให้อ้า แล้ว กรอกน้ำทองแดงอันร้อนแดงลุกเป็นแสงไฟเข้าไปในปาก น้ำทองแดงนั้นจึงลวก ริมฝีปากบ้าง ลวกปากบ้าง ลวกคอบ้าง ลวกท้องบ้าง พาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อย บ้างของเขา ออกมาทางทวารหนัก เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อน อยู่ในนรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาล จึงโยนเขาเข้าไปในมหานรกอีก ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พญายมได้คิดว่า ‘ได้ยินว่า ชนเหล่าใดทำ บาปอกุศลกรรมไว้ในโลก ชนเหล่านั้นจึงถูกนายนิรยบาลทรมานด้วยวิธีการต่างๆ อย่างนี้ โอหนอ เราพึงได้ความเป็นมนุษย์ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงเสด็จอุบัติในโลก เราพึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ พระองค์พึงแสดงธรรมแก่เรา และ เราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์’ เราได้ฟังความนั้นจากสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ แต่เรากล่าวสิ่งที่เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองเท่านั้น” [๒๗๑] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ ตรัสคาถาประพันธ์อื่นอีกต่อไปว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๓. สุญญตวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

“มาณพเหล่าใดอันเทวทูตตักเตือนแล้ว ยังประมาทอยู่ มาณพเหล่านั้นเข้าถึงหมู่ที่เลว ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน ส่วนสัตบุรุษเหล่าใดเป็นผู้สงบในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ไม่ประมาทในอริยธรรมในกาลใดๆ เห็นภัยในความยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความเกิดและความตาย เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงหลุดพ้น ในธรรมเป็นที่สิ้นความเกิดและความตาย สัตบุรุษเหล่านั้นจึงถึงความเกษม มีความสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงพ้นเวรและภัยทุกอย่าง ข้ามพ้นทุกข์ทั้งสิ้นได้แล้ว” ดังนี้แล๑-
เทวทูตสูตรที่ ๑๐ จบ
สุญญตวรรคที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬสุญญตสูตร ๒. มหาสุญญตสูตร ๓. อัจฉริยัพภูตสูตร ๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร ๕. ทันตภูมิสูตร ๖. ภูมิชสูตร ๗. อนุรุทธสูตร ๘. อุปักกิเลสสูตร ๙. พาลปัณฑิตสูตร ๑๐. เทวทูตสูตร @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ เทวทูตสูตร องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๖-๓๗/๑๙๑-๑๙๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๓๑๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๓๐๙-๓๑๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=30              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=6750&Z=7030                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=504              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=504&items=22              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=4252              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=504&items=22              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=4252                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i504-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.130.than.html https://suttacentral.net/mn130/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :