ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๑๐. อนิจจสัญญาสูตร
ว่าด้วยอนิจจสัญญา
[๑๐๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา (ความหมายรู้ว่า ไม่เที่ยง) ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะ (ความติดใจใน กามคุณ) รูปราคะ (ความติดใจในรูปธรรม) ภวราคะ (ความติดใจในภพ) และอวิชชา (ความไม่รู้จริง) ทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นเรา) ทั้งปวงได้ ในสารทฤดู ชาวนาเมื่อไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายราก (หญ้า) ที่ เกี่ยวเนื่องทุกชนิด แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๕๘/๘๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๙๕}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๑๐. อนิจจสัญญาสูตร

คนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวเสร็จแล้ว จับปลาย เขย่า ฟาด สลัดออก แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ เมื่อพวงมะม่วงขาดจากขั้ว บรรดามะม่วงเหล่านั้น มะม่วงที่ยังติดอยู่ที่ขั้ว ทั้งหมดก็หลุดไปตามพวงมะม่วงนั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้ มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ กลอนของเรือนยอดทั้งหมดทอดไปถึงยอด รวมลงที่ยอด ยอดเรือนชาวโลก กล่าวว่าเลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ กลิ่นหอมที่เกิดจากรากชนิดใดชนิดหนึ่ง กฤษณาชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่า กลิ่นหอมที่เกิดจากรากเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มาก แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ กลิ่นหอมที่เกิดจากแก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดงชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่า กลิ่นหอมที่เกิดจากแก่นเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มาก แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ กลิ่นหอมที่เกิดจากดอกชนิดใดชนิดหนึ่ง ดอกมะลิชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่า กลิ่นหอมที่เกิดจากดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มาก แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ พระราชาผู้มีอำนาจน้อยทั้งปวง ย่อมคล้อยตามพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้า จักรพรรดิชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่าพระราชาผู้มีอำนาจน้อยเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิ- มานะทั้งปวงได้ แสงสว่างของดวงดาวทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงสว่างของดวงจันทร์ แสงสว่างของดวงจันทร์ชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่าแสงสว่างของดวงดาวเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ ในสารทฤดู เมื่อฝนขาดหาย ปราศจากเมฆ ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสู่ท้องฟ้า กำจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งหมด ย่อมส่องแสง แผดแสง และแจ่มกระจ่าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๙๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม ครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำกามราคะ ทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ คือ อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อม ครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้”
อนิจจสัญญาสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุปผวรรคที่ ๕ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. นทีสูตร ๒. ปุปผสูตร ๓. เผณปิณฑูปมสูตร ๔. โคมยปิณฑสูตร ๕. นขสิขาสูตร ๖. สุทธิกสูตร ๗. คัททูลพัทธสูตร ๘. ทุติยคัททูลพัทธสูตร ๙. วาสิชฏสูตร ๑๐. อนิจจสัญญาสูตร
มัชฌิมปัณณาสก์ จบบริบูรณ์
รวมวรรคที่มีในมัชฌิมปัณณาสก์นี้ คือ
๑. อุปยวรรค ๒. อรหันตวรรค ๓. ขัชชนียวรรค ๔. เถรวรรค ๕. ปุปผวรรค
รวม ๕ วรรค เรียกว่า ทุติยปัณณาสก์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๙๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๙๕-๑๙๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=17&siri=102              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=3407&Z=3466                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=263              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=263&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7971              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=263&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7971                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i237-e.php#sutta10 https://suttacentral.net/sn22.102/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.102/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :