ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๔. ภารทวาชสูตร
ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชะ
[๑๒๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุง โกสัมพี ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนเสด็จเข้าไปหาท่านพระปิณโฑลภารทวาชะถึงที่อยู่ ได้ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ตรัสถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะดังนี้ว่า “ท่านภารทวาชะ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท หนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน” ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดังนี้ว่า ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งจิตไว้ในสตรีทั้งหลายคราวมารดาว่า เป็นมารดา ตั้งจิตไว้ในสตรีทั้งหลายคราวพี่สาวน้องสาวว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ตั้งจิต ไว้ในสตรีทั้งหลายคราวธิดาว่าเป็นธิดา’ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท หนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๔. ภารทวาชสูตร

“ท่านภารทวาชะ จิตเป็นธรรมชาติโลเลนัก บางครั้งเกิดความโลภในสตรี ทั้งหลายคราวมารดาบ้าง บางครั้งเกิดความโลภในสตรีทั้งหลายคราวพี่สาวน้องสาว บ้าง บางครั้งเกิดความโลภในสตรีทั้งหลายคราวธิดาบ้าง มีอยู่หรือ ท่านภารทวาชะ อย่างอื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท ฯลฯ และปฏิบัติอยู่ได้นาน” “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดังนี้ว่า ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณากายนี้ขึ้นเบื้องบนแต่พื้นเท้า ขึ้นไป พิจารณาลงเบื้องล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของ ไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า ‘ในร่างกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑- หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม๒- ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๓-’ @เชิงอรรถ : @ ไต แปลจากคำบาลีว่า วกฺก (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน มีสีแดงอ่อน @เหมือนเมล็ดทองหลาง รูปร่างคล้ายลูกสะบ้าของเด็กๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผล ที่ติดอยู่ที่ขั้วเดียวกัน @มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้วแยกออกมาห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓), พจนานุกรม @ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๓๖๒ ให้บทนิยามของคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคน @และสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” , Buddhadatta, @A.P. A Concise Pali-English Dictionary, 1985, (P. 224); และ Rhys David, T.W. Pali-English @Dictionary, 1921-1925, (P.591) ให้ความหมายของคำว่า วกฺก ตรงกัน หมายถึงไต (kidney) @ ม้าม แปลจากคำบาลีว่า ปิหก (โบราณแปลว่า ไต) มีสีเขียวเหมือนดอกคนทิสอแห้ง รูปร่างคล้าย @ลิ้นลูกโคดำ ยาวประมาณ ๗ นิ้ว อยู่ด้านบนติดกับหัวใจข้างซ้ายชิดพื้นท้องด้านบน (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕), @พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๖๔๗ ให้บทนิยามของคำว่า “ม้าม” ไว้ว่า @“อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลือง @และสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย” Buddhadatta, A.P. A Concise Pali-English Dictionary, 1985, @(P.186); และ Rhys David, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925, (P. 461) ให้ความหมาย @ของคำว่า ปิหก ตรงกัน หมายถึงม้าม (spleen) @ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่มีอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๔. ภารทวาชสูตร

แม้นี้แลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท ฯลฯ และปฏิบัติอยู่ได้นาน” “ท่านภารทวาชะ ภิกษุเหล่าใดได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรม ปัญญาแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้นไม่ใช่กิจที่ภิกษุเหล่านั้นจะทำได้ยาก ส่วนภิกษุเหล่าใดยังไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้ อบรมปัญญา การเจริญอสุภกัมมัฏฐานนั้นเป็นกิจที่ภิกษุเหล่านั้นทำได้ยาก บางครั้งเมื่อบุคคลตั้งใจว่า ‘เราจักใส่ใจโดยความเป็นของไม่งาม’ (แต่อารมณ์) กลับปรากฏโดยความเป็นของงามก็มี มีอยู่หรือ ท่านภารทวาชะ อย่างอื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท ฯลฯ และปฏิบัติอยู่ได้นาน” “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงห็น เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดังนี้ว่า ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อยู่เถิด เธอทั้งหลายเห็นรูปทางตาแล้วอย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อ สำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง ทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วอย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและ โทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์’ แม้นี้แลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท หนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน” “ท่านภารทวาชะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๓. ตติยปัณณาสก์ ๓. คหปติวรรค ๕. โสณสูตร

นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท หนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน สมัยใดแม้ข้าพเจ้าเอง ไม่ได้รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติไว้มั่น ไม่สำรวม อินทรีย์ เข้าไปภายในวัง สมัยนั้น ความโลภก็ครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก แต่สมัยใดข้าพเจ้าได้รักษากาย วาจา ใจ ตั้งสติไว้มั่น สำรวมอินทรีย์ เข้าไปภายในวัง สมัยนั้น ความโลภก็ไม่ครอบงำข้าพเจ้า ท่านภารทวาชะ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านภารทวาชะ ภาษิต ของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านภารทวาชะประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ ต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลง ทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ท่านภารทวาชะ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น สรณะ ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น ไปจนตลอดชีวิต”
ภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๑๕๒-๑๕๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=107              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=2904&Z=2981                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=195              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=195&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=945              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=195&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=945                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i191-e.php#sutta4 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.127.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.127.wlsh.html https://suttacentral.net/sn35.127/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.127/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :