ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๖. ทุติยกามภูสูตร
ว่าด้วยพระกามภู สูตรที่ ๒
[๓๔๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน เขตเมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ครั้งนั้น จิตตคหบดีเข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่านพระกามภูดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สังขารมีเท่าไร” ท่านพระกามภูตอบว่า “คหบดี สังขารมี ๓ ประการ คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๘๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๖. ทุติยกามภูสูตร

๑. กายสังขาร๑- ๒. วจีสังขาร๒- ๓. จิตตสังขาร๓-” จิตตคหบดีกล่าวว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระกามภู แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ท่านผู้เจริญ กายสังขารเป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร และจิตตสังขาร เป็นอย่างไร” “คหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกชื่อว่ากายสังขาร วิตกวิจารชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาชื่อว่าจิตตสังขาร” จิตตคหบดีกล่าวว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากายสังขาร เพราะเหตุไร วิตกวิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร เพราะเหตุไร สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร” “คหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นไปในกาย ธรรมเหล่านี้เกี่ยวเนื่อง ด้วยกาย เพราะฉะนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากายสังขาร” “คหบดี บุคคลตรึกตรองก่อนแล้วจึงเปล่งวาจาภายหลัง เพราะฉะนั้น วิตก วิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร @เชิงอรรถ : @ กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกายหรือกายสัญเจตนา คือ ความจงใจทางกาย @(องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) @ วจีสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตกวิจารหรือวจีสัญเจตนา คือ ความ @จงใจทางวาจา (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) @ จิตตสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนาหรือมโนสัญเจตนา คือ @ความจงใจทางใจ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๘๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๖. ทุติยกามภูสูตร

สัญญาและเวทนาเป็นไปทางจิต ธรรมเหล่านี้เกี่ยวเนื่องด้วยจิต เพราะฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร” “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ก็สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติมีได้อย่างไร” “คหบดี ภิกษุผู้กำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติย่อมไม่คิดว่า ‘เราจักเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หรือเรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หรือเรา เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว’ ที่แท้จิตที่นำบุคคลเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น เธอได้อบรมไว้ในกาลก่อนแล้ว” จิตตคหบดีกล่าวว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมเหล่าไหนดับก่อน กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร” “คหบดี เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้น กายสังขาร จิตตสังขารจึงดับ” “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ คนที่ตายแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทั้งสองนี้ต่างกันอย่างไร” “คหบดี คนที่ตายแล้ว กายสังขารก็ดับระงับไป วจีสังขารก็ดับระงับไป จิตตสังขารของเขาก็ดับระงับไป อายุสิ้นไป ไออุ่นหมดไป อินทรีย์แตกสลายไป แม้ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ กายสังขารก็ดับระงับไป วจีสังขารก็ ดับระงับไป จิตตสังขารก็ดับระงับไป (แต่)อายุไม่สิ้นไป ไออุ่นยังไม่หมด อินทรีย์ ก็ผ่องใส คหบดี คนที่ตายแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทั้งสองนั้น ต่างกันอย่างนี้” “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีได้อย่างไร” “ภิกษุผู้กำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติย่อมไม่คิดว่า ‘เราจักออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หรือเรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๘๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๗. จิตตสังยุต]

๗. โคทัตตสูตร

เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว’ ที่แท้จิตที่นำบุคคลเข้าไปเพื่อความเป็น อย่างนั้น เธอได้อบรมไว้ในกาลก่อนแล้ว” จิตตคหบดีกล่าวว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไป อีกว่า “ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมเหล่าไหน เกิดขึ้นก่อน กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร” “คหบดี เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิดขึ้นก่อน ต่อจากนั้น กายสังขาร วจีสังขารจึงเกิดขึ้น” “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ผัสสะเท่าไรย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ” “คหบดี ผัสสะ ๓ คือ (๑) สุญญผัสสะ (๒) อนิมิตตผัสสะ (๓) อัปปณิหิตผัสสะ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ” “ดีละ ท่านผู้เจริญ” ฯลฯ แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตน้อมไป โน้มไป โอนไปสู่อะไร” “คหบดี ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว จิตย่อมน้อมไป โน้ม ไป โอนไปสู่วิเวก๑-” จิตตคหบดีกล่าวว่า “ดีละ ท่านผู้เจริญ” แล้วได้ชื่นชมยินดีภาษิตของท่าน พระกามภู แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมเหล่าไหนมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ” “คหบดี ปัญหาที่ควรจะถามก่อนท่านถามช้าไป แต่เอาเถิด อาตมภาพ จักตอบแก่ท่าน ธรรม ๒ ประการ คือ (๑) สมถะ (๒) วิปัสสนา มีอุปการะมาก แก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
ทุติยกามภูสูตรที่ ๖ จบ
@เชิงอรรถ : @ วิเวก ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๘/๑๕๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๓๘๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๓๘๑-๓๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=262              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=7456&Z=7524                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=560              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=560&items=11              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3378              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=560&items=11              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3378                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i537-e.php#sutta6 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn41/sn41.006.than.html https://suttacentral.net/sn41.6/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :