ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
๒. ปริยายสูตร
ว่าด้วยเหตุที่นิวรณ์และโพชฌงค์อาศัย
[๒๓๓] ครั้นในเวลาเช้า ภิกษุหลายรูปครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวไปบิณฑบาต ยังกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราทั้งหลายควรจะเข้าไปยังอารามของพวก อัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๖๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๖. โพชฌังคสากัจฉวรรค ๒. ปริยายสูตร

“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นความเศร้าหมอง แห่งจิต ทอนกำลังปัญญาแล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการตามความเป็นจริงเถิด’ แม้แต่เราทั้งหลายก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นความเศร้าหมองแห่งจิต ทอนกำลัง ปัญญาแล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการตามความเป็นจริงเถิด’ ผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรมเทศนาหรืออนุสาสนีนี้ คือ ธรรมเทศนาของพระสมณโคดมกับธรรม- เทศนาของพวกเรา หรืออนุสาสนีของพระสมณโคดมกับอนุสาสนีของพวกเราจะผิด แผกแตกต่างกันอย่างไร” ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราทั้งหลายจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิต นี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค” ภิกษุเหล่านั้นครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภาย หลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวไป บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราทั้งหลายควรจะเข้าไปยังอารามของ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก’ ครั้งนั้นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงได้เข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียถีย์ ปริพาชกได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกับข้าพระองค์ทั้งหลายดังนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นความเศร้าหมอง แห่งจิต ทอนกำลังปัญญาแล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการตามความเป็นจริงเถิด’ แม้แต่เราทั้งหลายก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๖๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๖. โพชฌังคสากัจฉวรรค ๒. ปริยายสูตร

ท่านทั้งหลายจงละนิวรณ์ ๕ ประการอันเป็นความเศร้าหมองแห่งจิต ทอนกำลัง ปัญญาแล้วเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการตามความเป็นจริงเถิด’ ผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรมเทศนาหรืออนุสาสนีนี้ คือ ธรรมเทศนาของพระสมณโคดมกับธรรม- เทศนาของพวกเรา หรืออนุสาสนีของพระสมณโคดมกับอนุสาสนีของพวกเราจะผิด แผกแตกต่างกันอย่างไร’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิต ของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราทั้งหลายจัก รู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกมีวาทะ อย่างนี้ เธอทั้งหลายควรถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็เหตุที่นิวรณ์ ๕ ประการ อาศัยกลายเป็น ๑๐ ประการ และเหตุที่โพชฌงค์ ๗ ประการ อาศัยกลายเป็น ๑๔ ประการมีอยู่หรือ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถูกถามอย่างนี้แล้วจักไม่สามารถ ตอบได้ จักถึงความลำบากอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพวกอัญเดียรถีย์- ปริพาชกถูกถามในสิ่งอันมิใช่วิสัย๑- ภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เรายังไม่เห็นบุคคลที่จะทำจิตให้ยินดี ได้ด้วยการตอบปัญหาเหล่านี้ เว้นตถาคตหรือสาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจาก คำสอนของตถาคตนี้ เหตุที่นิวรณ์ ๕ ประการอาศัยกลายเป็น ๑๐ ประการ เป็นอย่างไร คือ แม้กามฉันทะในภายใน๒- ก็เป็นนิวรณ์ แม้กามฉันทะในภายนอก๓- ก็เป็น นิวรณ์ คำว่า ‘กามฉันทนิวรณ์’ ย่อมมาสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ กามฉันทนิวรณ์ นั้นจึงเป็น ๒ ประการ @เชิงอรรถ : @ สิ่งอันมิใช่วิสัย หมายถึงการทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การเทินศิลาขนาดเท่าเรือนยอด ข้ามน้ำลึก @และการฉุดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ลงมา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (สํ.สฬา.อ. ๓/๒๓/๕) @ กามฉันทะในภายใน หมายถึงความพอใจและความกำหนัดที่เกิดขึ้นเพราะปรารภขันธ์ ๕ ของตน @(สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) @ กามฉันทะในภายนอก หมายถึงความพอใจและความกำหนัดที่เกิดขึ้นเพราะปรารภขันธ์ ๕ ของผู้อื่น @(สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๖๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๖. โพชฌังคสากัจฉวรรค ๒. ปริยายสูตร

แม้พยาบาทในภายใน๑- ก็เป็นนิวรณ์ แม้พยาบาทในภายนอก๒- ก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ‘พยาบาทนิวรณ์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ พยาบาทนิวรณ์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้ถีนะก็เป็นนิวรณ์ แม้มิทธะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ‘ถีนมิทธนิวรณ์’ ย่อมไปสู่ อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ ถีนมิทธนิวรณ์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้อุทธัจจะก็เป็นนิวรณ์ แม้กุกกุจจะก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายใน๓- ก็เป็นนิวรณ์ แม้วิจิกิจฉาในธรรม ทั้งหลายในภายนอก๔- ก็เป็นนิวรณ์ คำว่า ‘วิจิกิจฉานิวรณ์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ วิจิกิจฉานิวรณ์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ ภิกษุทั้งหลาย เหตุนี้แลที่นิวรณ์ ๕ ประการอาศัยกลายเป็น ๑๐ ประการ เหตุที่โพชฌงค์ ๗ ประการอาศัยกลายเป็น ๑๔ ประการ เป็นอย่างไร คือ แม้สติในธรรมทั้งหลายในภายใน๕- ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ แม้สติในธรรม ทั้งหลายในภายนอก๖- ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ คำว่า ‘สติสัมโพชฌงค์’ ย่อมไปสู่ อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ สติสัมโพชฌงค์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้ธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจสอบพินิจพิจารณาในธรรมทั้งหลายในภายใน ด้วยปัญญาก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แม้ธรรมที่บุคคลเลือกเฟ้นตรวจสอบพินิจ @เชิงอรรถ : @ พยาบาทในภายใน หมายถึงปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) ที่เกิดขึ้นเพราะมือและเท้าเป็นต้นของตน @(สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) @ พยาบาทในภายนอก หมายถึงปฏิฆะที่เกิดขึ้นเพราะมือและเท้าเป็นต้นของผู้อื่น (สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) @ วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายใน หมายถึงความสงสัยในขันธ์ของตน (สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) @ วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายในภายนอก หมายถึงความสงสัยมากในฐานะทั้ง ๘ ในภายนอก คือ มนุษย์ @เทวดา มาร พรหม มนุษยโลก เทวโลก มารโลก และพรหมโลก (สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙, สํ.ฎีกา ๒/๒๓๓/๕๒๓) @ สติในธรรมทั้งหลายในภายใน หมายถึงสติ (ความระลึกได้) ที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้กำหนดสังขารในภายใน @(สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) @ สติในธรรมทั้งหลายในภายนอก หมายถึงสติที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้กำหนดสังขารในภายนอก @(สํ.ม.อ. ๓/๒๓๓/๒๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๑๗๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [๒. โพชฌังคสังยุต]

๖. โพชฌังคสากัจฉวรรค ๓. อัคคิสูตร

พิจารณาในธรรมทั้งหลายในภายนอกด้วยปัญญาก็เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คำว่า ‘ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นจึง เป็น ๒ ประการ แม้ความเพียรทางกายก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ แม้ความเพียรทางจิตก็เป็น วิริยสัมโพชฌงค์ คำว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ วิริยสัมโพชฌงค์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้ปีติที่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ แม้ปีติที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็นปีติ- สัมโพชฌงค์ คำว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์’ ย่อมมาสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ ปีติ- สัมโพชฌงค์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้กายปัสสัทธิก็เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แม้จิตตปัสสัทธิก็เป็นปัสสัทธิ- สัมโพชฌงค์ คำว่า ‘ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้สมาธิที่มีวิตกวิจารก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ แม้สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารก็เป็น สมาธิสัมโพชฌงค์ คำว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ แม้อุเบกขาในธรรมทั้งหลายในภายในก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ แม้อุเบกขา ในธรรมทั้งหลายในภายนอกก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คำว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์’ ย่อมไปสู่อุทเทสนี้ แม้ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นจึงเป็น ๒ ประการ ภิกษุทั้งหลาย เหตุนี้แลที่โพชฌงค์ ๗ ประการอาศัยกลายเป็น ๑๔ ประการ”
ปริยายสูตรที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๖๗-๑๗๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=19&siri=124              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=3190&Z=3276                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=547              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=19&item=547&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=5164              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=19&item=547&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=5164                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu19              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/sn46.52/en/sujato https://suttacentral.net/sn46.52/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :