ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค ๗. สัญจิจจสิกขาบท นิทานวัตถุ

๘. สหธรรมิกวรรค
๗. สัญจิจจสิกขาบท
ว่าด้วยการจงใจก่อความรำคาญ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๔๖๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จงใจก่อความ รำคาญให้แก่พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ด้วยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ‘สงฆ์ไม่พึงอุปสมบทให้บุคคลอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี’ พวกท่านอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี อุปสมบทแล้ว พวกท่านคงจะยังเป็นอนุปสัมบันของ พวกเรากระมัง” พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านั้นพากันร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม” พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านี้ จงใจก่อความรำคาญให้แก่พวกกระผม ขอรับ” บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงจงใจก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุทั้งหลายเล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลาย ตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี พระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอจงใจก่อความ รำคาญให้แก่ภิกษุทั้งหลาย จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้า ข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๖๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค ๗. สัญจิจจสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

จงใจก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุทั้งหลายเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้
พระบัญญัติ
[๔๖๕] ก็ ภิกษุใดจงใจก่อความรำคาญให้แก่ภิกษุด้วยหวังว่า “เธอจักไม่ มีความผาสุกแม้ชั่วครู่ด้วยอุบายนี้” ประสงค์เพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรอื่น ต้อง อาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๔๖๖] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ คำว่า ภิกษุ คือ ภิกษุอื่น ที่ชื่อว่า จงใจ คือ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ฝ่าฝืนล่วงละเมิด คำว่า ก่อความรำคาญ ความว่า ภิกษุก่อความรำคาญกล่าวว่า “ท่านคง จะอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี อุปสมบทแล้ว ท่านคงจะฉันอาหารในเวลาวิกาล ท่านคง จะดื่มน้ำเมา ท่านคงจะนั่งในที่ลับกับมาตุคาม” ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คำว่า ประสงค์เพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรอื่น คือ ไม่มีเหตุอื่นที่จะก่อความรำคาญให้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๖๖}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๘. สหธรรมิกวรรค ๗. สัญจิจจสิกขาบท อนาปัตติวาร

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๔๖๗] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน จงใจก่อความรำคาญ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ จงใจก่อความรำคาญ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน จงใจก่อความรำคาญ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ทุกกฏ
ภิกษุจงใจก่อความรำคาญให้แก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ อนุปสัมบัน ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าเป็นอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๔๖๘] ๑. ภิกษุไม่ประสงค์จะก่อความรำคาญ กล่าวว่า “ท่านคงจะอายุ หย่อนกว่า ๒๐ ปี อุปสมบทแล้ว ท่านคงจะฉันอาหารเวลาวิกาล ท่านคงจะดื่มน้ำเมา ท่านคงจะนั่งในที่ลับกับมาตุคาม ท่านจงรู้ เถิด อย่าได้มีความรำคาญภายหลังเลย” ๒. ภิกษุวิกลจริต ๓. ภิกษุต้นบัญญัติ
สัญจิจจสิกขาบทที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๕๖๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๖๕-๕๖๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=113              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=13683&Z=13736                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=707              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=707&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10081              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=707&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10081                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc77/en/brahmali https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc77/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :