ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร

๙. อักขมสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของช้างต้นที่ไม่อดทน
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นช้างไม่ควรแก่พระราชา ไม่ควรเป็นช้างต้น ไม่นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ช้างของพระราชา ๑. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป ๒. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง ๓. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น ๔. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส ๕. เป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ เข้าสู่สมรภูมิแล้ว เห็นกองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ หรือกองทัพพลเดินเท้า ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑) ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้ เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้ยินเสียงกองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า หรือเสียงกลอง บัณเฑาะว์๑- สังข์ มโหระทึก๒- ที่กระหึ่ม ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระ ราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้ (๒) @เชิงอรรถ : @ บัณเฑาะว์ หมายถึงกลองสองหน้าขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีหลักอยู่ตอนบน ผูกตุ้มห้อยลงมาทางหน้ากลอง @ใช้ให้ตุ้มแกว่งกระทบหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕) @ มโหระทึก หมายถึงกลองโลหะชนิดหนึ่งของชนชาติที่อยู่ตอนใต้ประเทศจีน ใช้ตีเป็นสัญญาณ และประโคม @(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๒๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร

ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้กลิ่นมูตรและคูถของช้าง พระราชา(ฝ่ายข้าศึก)ที่ใหญ่กว่าซึ่งเข้ามาสู่สมรภูมิ ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถ เข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓) ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ไม่ได้กินอาหารเพียง ๑ คืน ๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน หรือ ๕ คืน ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔) ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ถูกเขายิงด้วยลูกศร ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หรือ ๕ ครั้งแล้ว ก็หยุดนิ่ง หวั่นไหว ไม่สามารถเข้าสู่ สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างนี้แล (๕) ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้ เป็นช้าง ไม่ควรแก่พระราชา ไม่ควรเป็นช้างต้น ไม่นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ ไม่ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ทักษิณา ไม่ควรแก่ การทำอัญชลี ไม่เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป ๒. เป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง ๓. เป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น ๔. เป็นผู้ไม่อดทนต่อรส ๕. เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๒๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร

ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว กำหนัดในรูปที่เป็นเหตุให้กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑) ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังเสียงทางหูแล้ว กำหนัดในเสียงที่เป็นเหตุให้กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้แล (๒) ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว กำหนัดในกลิ่นที่เป็นเหตุให้ กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓) ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว กำหนัดในรสที่เป็นเหตุให้กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔) ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว กำหนัดในโผฏฐัพพะที่ เป็นเหตุให้กำหนัด ไม่สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างนี้แล (๕) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควรแก่ของ ที่เขานำมาถวาย ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ทักษิณา ไม่ควรแก่การทำอัญชลี ไม่เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ภิกษุทั้งหลาย ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นช้าง ควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๒๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร

องค์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ช้างของพระราชา ๑. เป็นสัตว์อดทนต่อรูป ๒. เป็นสัตว์อดทนต่อเสียง ๓. เป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่น ๔. เป็นสัตว์อดทนต่อรส ๕. เป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว เห็นกองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ หรือกองทัพพลเดินเท้า ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑) ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้ยินเสียงกองทัพช้าง กอง ทัพม้า กองทัพรถ กองทัพพลเดินเท้า หรือเสียงกลอง บัณเฑาะว์ สังข์ มโหระทึก ที่กระหึ่ม ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็น สัตว์อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้แล (๒) ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ได้กลิ่นมูตรและคูถของช้าง พระราชา (ฝ่ายข้าศึก) ที่ใหญ่กว่าซึ่งเข้ามาสู่สมรภูมิ ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓) ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรส เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ไม่ได้กินอาหารแม้เพียง ๑ คืน ๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน หรือ ๕ คืน ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้า สู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๒๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ราชวรรค ๙. อักขมสูตร

ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร คือ ช้างของพระราชาในโลกนี้เข้าสู่สมรภูมิแล้ว ถูกเขายิงด้วยลูกศร ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง หรือ ๕ ครั้ง ก็ไม่หยุดนิ่ง ไม่หวั่นไหว สามารถเข้าสู่สมรภูมิได้ ช้างของพระราชาเป็นสัตว์อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างนี้แล (๕) ช้างของพระราชาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นช้างควรแก่พระราชา ควรเป็นช้างต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. เป็นผู้อดทนต่อรูป ๒. เป็นผู้อดทนต่อเสียง ๓. เป็นผู้อดทนต่อกลิ่น ๔. เป็นผู้อดทนต่อรส ๕. เป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูป เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่กำหนัดในรูปที่เป็นเหตุให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรูป เป็นอย่างนี้แล (๑) ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังเสียงทางหูแล้ว ไม่กำหนัดในเสียงที่เป็นเหตุให้ กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อเสียง เป็นอย่างนี้แล (๒) ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ไม่กำหนัดในกลิ่นที่เป็นเหตุให้ กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อกลิ่น เป็นอย่างนี้แล (๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๒๒๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์]

๔. ราชวรรค ๑๐. โสตสูตร

ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรส เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ไม่กำหนัดในรสที่เป็นเหตุให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อรส เป็นอย่างนี้แล (๔) ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ไม่กำหนัดในโผฏฐัพพะ ที่เป็นเหตุให้กำหนัด สามารถตั้งจิตไว้โดยชอบได้ ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อโผฏฐัพพะ เป็นอย่างนี้แล (๕) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรแก่ ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อักขมสูตรที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๒๒๔-๒๒๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=139              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=3680&Z=3777                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=139              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=139&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=1198              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=139&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=1198                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i131-e.php#sutta9 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an05/an05.139.than.html https://suttacentral.net/an5.139/en/sujato https://suttacentral.net/an5.139/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :