ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร

๒. ทุติยปัณณาสก์
๖. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. โสณสูตร
ว่าด้วยพระโสณะ
[๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระโสณะอยู่ที่ป่าสีตวัน เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระโสณะ หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดเกิดความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า “ในบรรดาพระสาวกของพระผู้มี พระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้น จากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้ สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยทรัพย์สมบัติ และบำเพ็ญบุญ๑-” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ ท่านพระโสณะ จึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้๒- @เชิงอรรถ : @ ท่านพระโสณะปรารภความเพียรหนักเกินไปโดยเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก และเมื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีคลาน @จงกรม เข่าและฝ่ามือก็แตกเป็นแผลอีก จึงมีจิตฟุ้งซ่านท้อแท้ว่า “ถ้าเราเป็นบุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญู @(ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน) วิปจิตัญญู (ผู้รู้เมื่อขยายความ) เนยยะ (ผู้ที่พอจะแนะนำได้) จิตของเราพึงหลุดพ้น @จากกิเลสได้เป็นแน่ แต่เราคงเป็นบุคคลประเภทปทปรมะ (ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง) จิตของเราจึงไม่หลุดพ้น” @(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๕) และดู วิ.ม. ๕/๒๔๓/๔ @ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ หมายถึงตั่ง เตียง แผ่นกระดาน แผ่นหิน หรือกองทรายที่ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรปูลาด @ไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคที่จะเสด็จมาให้โอวาท แก้อารมณ์กัมมัฏฐานถึงที่อยู่ของตน ถ้าหา @อาสนะนั้นไม่ได้ จะใช้ใบไม้เก่าๆ ปูลาดก็ได้ โดยลาดสังฆาฏิไว้บน นี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับภิกษุ @นักปฏิบัติ ในที่นี้จึงหมายถึงพุทธอาสน์นั้น (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๕/๑๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร

แม้ท่านพระโสณะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มี พระภาคได้ตรัสกับท่านพระโสณะดังนี้ว่า “โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด มีความคิดคำนึงในจิตดังนี้ว่า ‘ในบรรดา พระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิต ของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูล ของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ ทางที่ดี เราควรบอกคืน สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ” ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ” ท่านพระโสณะทูลรับว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ ของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ” ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ ของเธอไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้ การได้หรือ” ท่านพระโสณะทูลรับว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร

เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน๑- และจง ถือเอานิมิต๒- ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะมาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ๓- เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๔-” ท่านพระโสณะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ คำว่า อินทรีย์ ในคำว่า ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน นั้น หมายถึงอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ @และปัญญา ที่พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานต้องปรับให้เสมอกัน กล่าวคือ (๑) ปรับศรัทธากับปัญญาให้ @เสมอกัน เพราะถ้าศรัทธามากกว่าปัญญาบุคคลก็จะเลื่อมใสจนเกินไป หรือเลื่อมใสในเหตุที่ไม่น่าเลื่อมใส @ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธา บุคคลก็จะหนักไปข้างอวดดีเป็นเหมือนโรคดื้อยารักษาให้หายยาก ถ้าธรรมทั้งสอง @เสมอกัน บุคคลจะเลื่อมใสในเหตุที่น่าเลื่อมใส (๒) ปรับสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน เพราะถ้าสมาธิมากกว่า @วิริยะ ความเกียจคร้านจะครอบงำ เนื่องจากสมาธิเป็นฝ่ายเดียวกันกับความเกียจคร้าน ถ้าวิริยะมากกว่า @สมาธิ ความฟุ้งซ่านจะครอบงำ เนื่องจากวิริยะเป็นฝ่ายเดียวกันกับความกันฟุ้งซ่าน ดังนั้น สมาธิที่ประกอบ @ควบคู่กับวิริยะ จิตจะไม่ตกไปในฝ่ายความเกียจคร้าน วิริยะที่ประกอบควบคู่กับสมาธิ จิตจะไม่ตกไป @ในฝ่ายความฟุ้งซ่าน @แต่สำหรับ สติ นั้น พระผู้บำเพ็ญกัมมัฏฐานควรบำเพ็ญให้มีพลังทุกที่ทุกเวลา ดุจเกลือ จำต้องมีใน @กับข้าวทุกอย่าง ดุจอำมาตย์ผู้ชำนาญการ จำต้องปรารถนาในราชการทุกอย่าง (เทียบ วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๔, @องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๖, วิสุทฺธิ. ๑/๖๒/๑๔๐-๑๔๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓) @ ถือเอานิมิต ในที่นี้หมายถึงเพิ่มพูนให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น @(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๖, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ปัญจกนิบาต ข้อ ๕๖ (อุปัชฌายสูตร) หน้า ๙๘ ในเล่มนี้ @ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมัคคญาณเพื่อความสิ้น @กิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร

ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ทาง ที่ดี เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วพยากรณ์อรหัตตผลในสำนัก พระผู้มีพระภาคเถิด” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไป๑- ในฐานะ ๖ ประการ๒- คือ ๑. น้อมไปในเนกขัมมะ ๒. น้อมไปในปวิเวก ๓. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมไปในความสิ้นตัณหา ๕. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน ๖. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้อาศัยคุณเพียง ศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตน ยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว๓- ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโทสะ เพราะ ปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในเนกขัมมะเพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ @เชิงอรรถ : @ คำว่า น้อมไป แปลจากบาลีว่า ‘อธิมุตฺโต’ หมายถึง ‘ปฏิวิชฺฌิตฺวา ปจฺจกฺขํ กตฺวา ฐิโต’ แปลว่า “แทงตลอด @แล้ว ทำให้ประจักษ์ชัดแล้ว ดำรงอยู่” (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗) @ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ ๖ ประการเป็นคำใช้แทนอรหัตตผล ที่มีชื่อเรียกว่า เนกขัมมะ เพราะออกไป @จากกิเลสทั้งปวงได้ ที่มีชื่อเรียกว่า ปวิเวก เพราะสงัดจากกิเลสทั้งหลาย ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่เบียด @เบียนกัน (อัพยาบาท) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะ @เกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสิ้นตัณหา ที่มีชื่อเรียกว่า ความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้น @ในที่สุดแห่งการสิ้นอุปาทาน ที่มีชื่อเรียกว่า ความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะปราศจากความลุ่มหลง @(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗) @ หมายถึงไม่เห็นว่าจะต้องทำกิจ ๔ อย่าง มีปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) เป็นต้น (ดูรายละเอียด @ในเชิงอรรถข้อ ๕๖ หน้า ๙๘) และไม่เห็นว่าจะต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อนอีก @(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗, ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๔/๒๖๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร

บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้ต้องการลาภ สักการะและการสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก๑-’ ‘แต่ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตน ยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมน้อมไปในปวิเวกเพราะสิ้น ราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจาก โทสะ ย่อมน้อมไปในปวิเวกเพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้ถือสีลัพพต- ปรามาส๒- เป็นสาระเป็นแน่ จึงน้อมไปในความไม่เบียดเบียน’ แต่ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็น อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำกิจอะไรอีก หรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมน้อมไปใน ความไม่เบียดเบียนเพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในความไม่ เบียดเบียนเพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมน้อมไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้น โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะ ปราศจากโมหะ บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมน้อมไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปความสิ้นอุปาทานเพราะสิ้น โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลงเพราะสิ้น @เชิงอรรถ : @ ข้อความว่า “ท่านรูปนี้ต้องการลาภสักการะและการสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในวิเวก” นี้ อรรถกถา @อธิบายขยายความว่า “ท่านรูปนี้ต้องการลาภสักการะและการสรรเสริญเป็นแน่ จึงพยากรณ์พระอรหัตต- @ผลอย่างนี้ว่า ‘เราน้อมไปในปวิเวก” (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๗) @ สีลัพพตปรามาส คือความยึดถือว่าบุคคลบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีล และวัตร (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๑. โสณสูตร

โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะ ปราศจากโมหะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางตา มาปรากฏ ทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำ จิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคง หนักแน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ฯลฯ แม้ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงที่จะพึงรู้แจ้งทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน น้อมไปในความสิ้นตัณหา และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๑- ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล @เชิงอรรถ : @ รวมถึงความดับแห่งอายตนะด้วย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์]

๖. มหาวรรค ๒. ผัคคุณสูตร

ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น จิตของผู้คงที่นั้นเป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร เพราะท่านผู้คงที่พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑-
โสณสูตรที่ ๑ จบ
๒. ผัคคุณสูตร
ว่าด้วยพระผัคคุณะอาพาธ
[๕๖] สมัยนั้นแล ท่านพระผัคคุณะ อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระผัคคุณะ อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มี พระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปเยี่ยมท่านพระผัคคุณะถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๒- เสด็จเข้าไปหาท่าน พระผัคคุณะถึงที่อยู่ ท่านพระผัคคุณะได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระผัคคุณะว่า “อย่าเลย ผัคคุณะ เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะที่ภิกษุอื่นปูลาดไว้ยังมีอยู่ เราจักนั่งบน อาสนะนั้น” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามท่าน พระผัคคุณะดังนี้ว่า @เชิงอรรถ : @ คำว่า “ความเกิดดับของจิตนั้น” แปลตามนัย องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๕/๑๓๘ แต่ใน ขุททกนิกาย แปลว่า @“ความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้น” ตามนัย ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๔/๒๖๓ ดู วิ.ม. ๕/๒๔๓/๔-๕, @ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (โสปปสูตร) หน้า ๔๓๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๕๓๙}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๕๓๓-๕๓๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=22&siri=306              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=8830&Z=8947                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=326              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=22&item=326&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3038              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=22&item=326&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3038                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu22              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/22i326-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an06/an06.055.than.html https://suttacentral.net/an6.55/en/sujato https://suttacentral.net/an6.55/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :