ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
๓. ติสสพรหมสูตร
ว่าด้วยติสสพรหม๑-
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๒- เทวดา ๒ องค์มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วภูเขา คิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร @เชิงอรรถ : @ หมายถึงพรหมผู้เคยบวชเป็นภิกษุสัทธิวิหาริกของท่านพระมหาโมคคัลลานะ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๖/๑๙๑) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ สัตตกนิบาต ข้อ ๓๒ หน้า ๔๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖. อัพยากตวรรค ๓. ติสสพรหมสูตร

เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้๑- หลุดพ้นแล้ว” เทวดาอีกองค์หนึ่งกราบทูลว่า “ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นดีแล้ว เพราะไม่มี อุปาทานขันธ์๒- เหลืออยู่” เทวดา ๒ องค์นั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้นเทวดา ๒ องค์นั้นทราบว่า พระศาสดาทรงพอพระทัยเรา จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดา ๒ องค์มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี ให้สว่างไปทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุณีเหล่านี้ หลุดพ้นแล้ว’ เทวดาอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า ‘ภิกษุณีเหล่านี้หลุดพ้นดีแล้ว เพราะไม่มี อุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ เทวดา ๒ องค์นั้นครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วหายไป ณ ที่นั้นแล” @เชิงอรรถ : @ ภิกษุณีเหล่านี้ ในที่นี้มายถึงเหล่าภิกษุณี ๕๐๐ รูปที่เป็นบริวารของมหาปชาบดีภิกษุณี @(องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๖/๑๙๑) @ อุปาทานขันธ์ มาจาก อุปาทาน+ขันธ์ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น @(อุป=มั่น+อาทาน=ถือ) มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ @(ปญฺจกามคุณิกราคสฺเสตํ อธิวจนํ-สํ.ข.อ. ๒/๒/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) บ้าง หมายถึงความถือมั่น @ด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิ (ตามนัย สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) บ้าง (๒) ขันธ์ แปลว่ากอง (ตสฺส ขนฺธสฺส) @ราสิอาทิวเสน อตฺโถ เวทิตพฺโพ-อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึงกองอันเป็นอารมณ์ @แห่งความถือมั่น (อุปาทานานํ อารมฺมณภูตา ขนฺธา = อุปาทานกฺขนฺธา - สํ.ข.ฏีกา ๒๒/๒๕๔) @และดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔, ๓๑๕/๒๐๘, สํ.สฬา. ๑๘/๓๒๘/๒๗๗, สํ.ม. ๑๙/๑๗๙/๕๖ @เมื่อนำองค์ธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มารวมกับอุปาทานขันธ์ เช่น วิญฺญาณู- @ปาทานกฺขนฺโธ จึงแปลได้ว่า “กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่นคือวิญญาณ” ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒ @ว่า วิญฺญาณเมว ขนฺโธ = วิญฺญาณกฺขนฺโธ (กองคือวิญญาณ) @อนึ่ง เมื่อกล่าวโดยสรุป อุปาทานขันธ์ หมายถึงทุกข์ ตามบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา @ทุกฺขา” แปลว่า “ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์” (ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๙, ขุ.ป. ๓๑/๓๓/๓๐-๔๑, @อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๑๗, วิสุทฺธิ. ๒/๕๐๕/๑๒๒) และดู อภิ.วิ (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖ ประกอบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๐๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖. อัพยากตวรรค ๓. ติสสพรหมสูตร

สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค ได้มี ความคิดดังนี้ว่า “เทวดาเหล่าไหนมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลือ อยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่” สมัยนั้นแล ภิกษุชื่อติสสะมรณภาพได้ไม่นานก็เข้าถึงพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง แม้ใน พรหมโลกนั้น พวกพรหมก็รู้จักท่านอย่างนี้ว่า “ติสสพรหม มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก” ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้หายจากภูเขาคิชฌกูฏไปปรากฏที่พรหม- โลกนั้น เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ติสสพรหมได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังมาแต่ไกล จึงกล่าวกับท่าน อย่างนี้ว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นานๆ ท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้เถิด” ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ฝ่ายติสสพรหมได้อภิวาท ท่านแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวดังนี้ว่า “ติสสะ เทวดา เหล่าไหนมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์ เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่” “ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกา๑- มีญาณอย่างนี้ใน บุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่ มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่' “ติสสะ เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาทั้งหมดเลยหรือที่มีญาณอย่างนี้ในบุคคล ผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มี อุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่'' “มิใช่เลย ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ที่เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาทั้งหมด มีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๕ สัตตกนิบาต ข้อ ๔๔ หน้า ๖๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๐๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖. อัพยากตวรรค ๓. ติสสพรหมสูตร

ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ เหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาผู้ยินดีด้วยอายุที่เป็น ของพรหม ยินดีด้วยวรรณะที่เป็นของพรหม ยินดีด้วยสุขที่เป็นของพรหม ยินดีด้วย ยศที่เป็นของพรหม ยินดีด้วยความเป็นใหญ่ที่เป็นของพรหม ไม่รู้ชัดอุบายเป็น เครื่องสลัดออกที่ยิ่งขึ้นไปตามความเป็นจริง เทวดาเหล่านั้นไม่มีญาณอย่างนี้ในบุคคล ผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มี อุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ส่วนเหล่าเทวดาชั้นพรหมกายิกาผู้ไม่ยินดีด้วย อายุที่เป็นของพรหม ไม่ยินดีด้วยวรรณะที่เป็นของพรหม ไม่ยินดีด้วยสุขที่เป็นของ พรหม ไม่ยินดีด้วยยศที่เป็นของพรหม ไม่ยินดีด้วยความเป็นใหญ่ที่เป็นของพรหม รู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกที่ยิ่งขึ้นไปตามความเป็นจริง เทวดาเหล่านั้นมีญาณ อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือใน บุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นอุภโตภาควิมุต๑- เทวดา เหล่านั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นอุภโตภาควิมุต กายของท่านจัก ดำรงอยู่เพียงใด เหล่าเทวดาและมนุษย์จักเห็นท่านเพียงนั้น แต่เมื่อท่านมรณภาพไป เหล่าเทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นท่าน’ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมี อุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์ เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นปัญญาวิมุต เทวดาเหล่านั้น ย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นปัญญาวิมุต กายของท่านจักดำรงอยู่เพียงใด @เชิงอรรถ : @ คำว่า “อุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธัมมานุสารี” ที่ปรากฏในติสสพรหม- @สูตรนี้ ดูความหมายในเชิงอรรถที่ ๒,๓,๔,๕ หน้า ๒๐ และในเชิงอรรถที่ ๑,๒ หน้า ๒๑ ในเล่มนี้ และดู @องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖/๒๙-๓๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๐๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สันตตกนิบาต ๖. อัพยากตวรรค ๓. ติสสพรหมสูตร

เหล่าเทวดาและมนุษย์จักเห็นท่านเพียงนั้น แต่เมื่อท่านมรณภาพไป เหล่าเทวดาและ มนุษย์จักไม่เห็นท่าน’ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์ เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นกายสักขี เทวดาเหล่านั้น ย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นกายสักขี เป็นการดีถ้าท่านผู้นี้ใช้สอย เสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ ยอดเยี่ยม๑- อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดาเหล่านั้นมีญาณ อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือ ในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นทิฏฐิปัตตะ ฯลฯ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นสัทธาวิมุต ฯลฯ ท่านโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นธัมมานุสารี เทวดาเหล่า นั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นธัมมานุสารี เป็นการดี ถ้าท่านผู้นี้ใช้ สอยเสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต โดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดาเหล่านั้นมีญาณ อย่างนี้ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือ ในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่” @เชิงอรรถ : @ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลหรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๐๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๖. อัพยากตวรรค ๓. ติสสพรหมสูตร

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของติสสพรหม แล้วได้หายจากพรหมโลกไปปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงถ้อยคำสนทนาปราศรัย กับติสสพรหมทั้งหมด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ติสสพรหมไม่ได้แสดงบุคคลที่ ๗ ผู้มี ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้๑- แก่เธอหรือ” ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาล ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงบุคคลที่ ๗ ผู้มีธรรม เป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้ ภิกษุทั้งหลายฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส เรื่องนี้ว่า “โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยบรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่ มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ บรรลุเจโตสมาธิอันหานิมิตมิได้ เพราะไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวงอยู่ เป็นการดี ถ้าท่านผู้นี้ใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบกัลยาณมิตร อบรมอินทรีย์ พึงทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือน บวชเป็น บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน โมคคัลลานะ เทวดาเหล่านั้นมีญาณอย่างนี้แล ในบุคคลผู้ยังมีอุปาทานขันธ์ เหลืออยู่ว่า ‘ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่’ หรือในบุคคลผู้ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ว่า ‘ไม่มีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
ติสสพรหมสูตรที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันหานิมิตมิได้ ในที่นี้หมายถึงพลววิปัสสนาสมาธิ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๕๖/๑๙๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๑๐๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๑๐๓-๑๐๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=23&siri=53              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=1637&Z=1733                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=53              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=23&item=53&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=4260              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=23&item=53&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=4260                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i051-e.php#sutta3 https://suttacentral.net/an7.56/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :