ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๒. วังคีสสูตร

๑๒. วังคีสสูตร๑-
ว่าด้วยพุทธพจน์ตรัสแก้ความสงสัยของพระวังคีสะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี สมัยนั้น พระนิโครธกัปปเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะเพิ่งจะปรินิพพาน ที่อัคคาฬวเจดีย์ไม่นาน ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ๒- ได้เกิดความ คิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน” ครั้นถึงเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะจึงออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับได้เกิดความคิดคำนึง อย่างนี้ว่า ‘พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน” ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไป ทางพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า [๓๔๖] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดา ผู้มีพระปัญญามากว่า ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ๓- ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี้ ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๒๗๒-๑๒๘๗/๕๔๖-๕๔๙ @ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ หมายถึงหลีกออกจากหมู่คณะอยู่สงบกาย และอยู่สงบจิตจากอารมณ์นั้นๆ @(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๕/๑๖๔) @ เรืองยศ ในที่นี้หมายถึงเพียบพร้อมด้วยลาภและบริวาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๖/๑๖๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๒. วังคีสสูตร

[๓๔๗] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง ภิกษุนั้นเป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า ‘นิโครธกัปปะ’ ท่านเที่ยวนอบน้อม มุ่งหวังความหลุดพ้น ปรารภความเพียร [๓๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ทุกรูปปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตฟัง พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม [๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ ขอพระองค์โปรดขจัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระ ผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา [๓๕๐] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้ เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตผู้มีพระจักษุ มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป [๓๕๑] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นเพียงบุรุษธรรมดา ก็จะไม่ทรงทำลายกิเลสได้ เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆที่หนาทึบไม่ได้ ฉะนั้น โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้วก็ยิ่งจะมืดหนักลง นรชนทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่รุ่งเรืองนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๒. วังคีสสูตร

[๓๕๒] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความเพียร นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้ทำแสงสว่าง๑- ให้เกิด เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าใจพระองค์ว่า ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระ แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่ประชุมนี้ด้วยเถิด [๓๕๓] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวาลที่เกิดแต่พระนาสิก ที่บุญญาธิการตกแต่งมาดีแล้ว ได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา เหมือนพญาหงส์ทองโก่งคอขันเบาๆ อย่างไพเราะ ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่ ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์ [๓๕๔] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตาย ที่ละได้อย่างสิ้นเชิง จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด เพราะบรรดาปุถุชนทั้งหลาย บุคคลผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี แต่คนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตนต้องการได้ [๓๕๕] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก พระองค์ผู้ทรงมีพระปัญญารุ่งเรือง ได้ตรัสไวยากรณ์ที่สมบูรณ์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายอัญชลีกรรมอย่างนอบน้อม @เชิงอรรถ : @ แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๒/๑๖๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๒. วังคีสสูตร

พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระ โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย [๓๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ทรงรู้แจ้งอริยธรรม๑- ทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อนต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น ขอพระองค์โปรดเปล่งสัททายตนะคือสุตะเถิด [๓๕๗] พระนิโครธกัปปเถระประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของท่าน ไม่สูญเปล่าหรือ ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น [๓๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) นิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้ ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน ข้ามพ้นชาติและมรณะได้อย่างสิ้นเชิง พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการ๒- ได้ตรัสไว้ดังนี้ @เชิงอรรถ : @ อริยธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๖/๑๖๘) @ พลธรรม ๕ ประการ คือ (๑) สัทธา(ความเชื่อ) (๒) วิริยะ(ความเพียร) (๓) สติ(ความระลึกได้) (๔) สมาธิ @(ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา(ความรู้ทั่ว) อนึ่ง คำว่า “พระผู้มีพระภาค” ในคาถานี้เป็นคำกล่าวของพระ @สังคีติกาจารย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๘/๑๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค]

๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร

[๓๕๙] (ท่านพระวังคีสเถระกราบทูลดังนี้) ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมเลื่อมใส ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้วไม่ไร้ประโยชน์ พระองค์ทรงเป็นพุทธเจ้า ไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน [๓๖๐] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้าง ทั้งมั่นคง ของมารเจ้าเล่ห์ได้เด็ดขาด [๓๖๑] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
วังคีสสูตรที่ ๑๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๘๐-๕๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=251              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=8135&Z=8219                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=329              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=329&items=2              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=3635              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=329&items=2              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=3635                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i314-e.php#sutta12 https://suttacentral.net/snp2.12/en/mills https://suttacentral.net/snp2.12/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :