ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ

๑๙. ธัมมัฏฐวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม
๑. วินิจฉยมหามัตตวัตถุ
เรื่องมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา
(ภิกษุทั้งหลายเห็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษารับสินบนแล้วตัดสินคดี จึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสพระคาถา ดังนี้) [๒๕๖] ผู้ที่ตัดสินคดีโดยผลีผลาม๑- ไม่ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี เหตุแห่งคดีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงทั้งสอง [๒๕๗] พิพากษาผู้อื่นโดยไม่ผลีผลาม โดยเที่ยงธรรม โดยสม่ำเสมอ ผู้มีปัญญา มีธรรมคุ้มครองนั้น เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๕๘] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก แต่ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงจะชื่อว่า เป็นบัณฑิต. @เชิงอรรถ : @ ตัดสินคดีโดยผลีผลาม หมายถึงดำรงอยู่ในอคติ ๔ มีฉันทาคติเป็นต้นแล้วตัดสินคดีโดยมุสาวาท เช่น ทำผู้ @ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ หรือทำผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๔. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ

๓. เอกุทานขีณาสววัตถุ
เรื่องพระเอกุทานขีณาสพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ๒ รูป ดังนี้) [๒๕๙] บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเพียงเพราะพูดมาก ส่วนผู้ใดได้สดับตรับฟังธรรมน้อย แต่พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย ทั้งไม่ประมาทธรรมนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ทรงธรรม
๔. ลกุณฏกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ป่า ๓๐ รูป ที่เห็นพระลกุณฑก- ภัททิยเถระรูปร่างเล็กเหมือนสามเณร ดังนี้) [๒๖๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ๑- เพียงเพราะมีผมหงอก ผู้ที่แก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่า คนแก่เปล่า [๒๖๑] ส่วนผู้มีสัจจะ มีธรรม๒- มีอหิงสา สัญญมะ และทมะ๓- คายมลทินได้แล้ว เป็นปราชญ์ ชื่อว่า เถระ @เชิงอรรถ : @ เถระ ในที่นี้หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง คือรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๗) @ มีสัจจะ หมายถึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ มีธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๗) @ อหิงสา หมายถึงความไม่เบียดเบียน สัญญมะ หมายถึงศีล ทมะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ @(ขุ.ธ.อ. ๗/๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๖. หัตถกวัตถุ

๕. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่พูดจาคล่องแคล่ว ดังนี้) [๒๖๒] เพราะเหตุเพียงการพูดจาคล่องแคล่ว หรือเพราะมีผิวพรรณงดงาม แต่ยังมีความริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด บุคคลก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่ [๒๖๓] ส่วนผู้ตัดความริษยาเป็นต้นนี้ได้ ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว คายโทษได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา จึงจะชื่อว่า คนดี
๖. หัตถกวัตถุ
เรื่องหัตถกภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระหัตถกะผู้พูดจาเหลาะแหละ ดังนี้) [๒๖๔] ผู้ไม่มีวัตร๑- พูดจาเหลาะแหละ แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ ผู้เต็มไปด้วยความปรารถนา และความอยากได้ จะเป็นสมณะได้อย่างไร [๒๖๕] ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง และเพราะเหตุที่ระงับบาปทั้งหลายได้นี้เอง เขาจึงเรียกผู้นั้นว่า สมณะ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๘. ติตถิยวัตถุ

๗. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พราหมณ์คนหนึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเที่ยวบิณฑบาตอย่างภิกษุ วันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคประสงค์จะให้พระองค์ตรัสเรียกว่าภิกษุ พระองค์ จึงตรัสพระคาถา ดังนี้) [๒๖๖] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ๑- เพียงเพราะขอจากผู้อื่นเท่านั้น ทั้งไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะยังสมาทานธรรมที่เป็นพิษอยู่๒- [๒๖๗] ในศาสนานี้ ผู้ที่ลอยบุญและบาปได้แล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในโลกด้วยปัญญา จึงจะชื่อว่า ภิกษุ
๘. ติตถิยวัตถุ
เรื่องเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๖๘] บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่งๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่ ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว [๒๖๙] เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนีแท้ ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี(เช่นกัน)๓- @เชิงอรรถ : @ ภิกษุ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำลายกิเลสทั้งหลายได้ด้วยญาณ (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๑) @ สมาทานธรรมที่เป็นพิษ หมายถึงมีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๑) @ คาถาธรรมบท ๒ ข้อนี้ มีข้อความสัมพันธ์กัน ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๗๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ

๙. อริยพาฬิสิกวัตถุ
เรื่องพรานเบ็ดชื่ออริยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามชื่อนายพรานเบ็ด นายพรานเบ็ดทูลตอบว่าชื่ออริยะ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถานี้แก่เขา ดังนี้) [๒๗๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะยังเบียดเบียนสัตว์อยู่ แต่ชื่อว่า อริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๒๗๑] ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงมีศีล๑- และวัตร๒- แม้ด้วยความเป็นพหูสูต๓- ด้วยการได้สมาธิ๔- หรือด้วยการนอนในที่สงัด [๒๗๒] หรือด้วยการรู้ประจักษ์ว่าเราได้สัมผัสเนกขัมมสุข๕- ที่ปุถุชนไม่เคยได้สัมผัส แต่ถ้าเธอยังไม่บรรลุความสิ้นอาสวะ ก็อย่าไว้วางใจ
ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙ จบ
@เชิงอรรถ : @ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจัยสันนิสิตศีล) @(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖) @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้ @ ความเป็นพหูสูต หมายถึงเรียนปิฎก ๓ (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖) @ สมาธิ หมายถึงสมาบัติ ๘ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖) @ เนกขัมมสุข หมายถึงสุขของพระอนาคามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๑๑๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๑๒-๑๑๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=28              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=946&Z=985                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=29              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=29&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=828              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=29&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=828                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i029-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i029-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.19.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.19.budd.html https://suttacentral.net/dhp256-272/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp256-272/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp256-272/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :