ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา

๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา๑-
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๑๒๗] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้) ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด [๑๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ) ชนทั้งหลายเห็นชนอื่นๆ เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป [๑๑๒๙] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้) ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑ ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐ สิ่งใดๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด @เชิงอรรถ : @ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๕-๑๔๘/๓๔-๓๕ และดูรายละเอียดใน ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๙-๙๒/๓๒๔-๓๓๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

ปารายนัตถุติคาถา

[๑๑๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ) เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
ปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖ จบ
ปารายนัตถุติคาถา๑-
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็น ศิษย์ใกล้ชิด ได้ตรัสตอบปัญหาแล้ว ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม แห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชรา และมรณะได้แน่นอน เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้จึงชื่อว่า ปารายนะ [๑๑๓๑] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ @เชิงอรรถ : @ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๙-๑๕๕/๓๖-๓๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

ปารายนัตถุติคาถา

[๑๑๓๒] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราชผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะผู้เป็นมหาฤๅษี [๑๑๓๓] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก จึงเข้าไปใกล้เฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ [๑๑๓๔] พระพุทธเจ้า(อันพราหมณ์เหล่านั้น)ทูลถามปัญหาแล้ว ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ ด้วยการตรัสตอบปัญหาทั้งหลาย [๑๑๓๕] พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ [๑๑๓๖] การตรัสตอบปัญหาแต่ละปัญหา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่ง๑- ไปถึงฝั่ง๒- ได้ @เชิงอรรถ : @ ที่มิใช่ฝั่ง หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๔) @ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๓๗] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้ (เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ
ปารายนานุคีติคาถา๑-
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๑๓๘] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้) อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า [๑๑๓๙] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ [๑๑๔๐] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว @เชิงอรรถ : @ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๕๖-๑๗๔/๓๘-๔๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๔๑] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ๑- ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น [๑๑๔๒] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่างๆ (อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น) [๑๑๔๓] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ [๑๑๔๔] ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ [๑๑๔๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้) ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่ @เชิงอรรถ : @ ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๔๑/๔๕๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๔๖] ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน [๑๑๔๗] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวดังนี้) ท่านพราหมณ์ อาตมภาพ มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่ [๑๑๔๘] ธรรมใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ [๑๑๔๙] ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน เห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยตา อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น [๑๑๕๐] ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ เสด็จไปสู่ทิศใดๆ อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้นๆ นั่นแล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค]

ปารายนานุคีติคาถา

[๑๑๕๑] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่ ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้ แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่ ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น [๑๑๕๒] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม๑- ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง๒- ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ [๑๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้) วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช [๑๑๕๔] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้) ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ @เชิงอรรถ : @ เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๐) @ ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่งไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต

[๑๑๕๕] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ๑- ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้ [๑๑๕๖] สภาวะใดไม่มีอะไรๆ ที่ไหนเปรียบได้ สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ ๕ จบ
สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(๑-๒) ในวรรคที่ ๑ มี ๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร @เชิงอรรถ : @ อธิเทพ หมายถึงเทพ ๓ จำพวก คือ (๑) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร @พระราชเทวี (๒) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น (๓) วิสุทธิเทพ @เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๙/๓๘๗-๓๘๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๑ นี้ที่มีเนื้อความประเสริฐสุดได้ ๑๒ สูตร พระผู้มี พระภาคผู้ทรงมีพระจักษุทรงปราศจากมลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต ทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า อุรควรรค (๓-๔) ในวรรคที่ ๒ มี ๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร ๔. มงคลสูตร ๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร ๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กิงสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้ ได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า จูฬวรรค (๕-๖) ในวรรคที่ ๓ มี ๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาสิตสูตร ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร ๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๓ นี้ ได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้ ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า มหาวรรค (๗-๘) ในวรรคที่ ๔ มี ๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๔ นี้ ได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนก ไว้ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อัฏฐกวรรค (๙) พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุดในคณะ ประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ที่ประเสริฐซึ่งตกแต่งไว้อย่างดี ในมคธชนบทอันน่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เคยสร้างบุญไว้ (๑๐) ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอันพราหมณ์ผู้เป็นมาณพ ๑๖ คน กราบทูลถามแล้ว ได้ทรงประกาศประทานธรรม แก่ชนทั้ง ๒ พวกที่มาประชุมกันแน่นขนัด ณ ปาสาณกเจดีย์ กินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการถามโสฬสปัญหา (๑๑) พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะมาร ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงธรรมที่ประกาศอรรถ บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ เป็นบ่อเกิดแห่งความเกษมอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันหลากหลายด้วยธรรมจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

(๑๒) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะและอรรถ มีการเปรียบเทียบที่หมายรู้ด้วยอักขระซึ่งแน่นอน เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง (๑๓) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันไม่มีมลทิน เพราะมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง (๑๔) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ อันไม่มีมลทิน เพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือทุจริต เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง (๑๕) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน และกิเลสเป็นเครื่องประกอบ เป็นเหตุปลดเปลื้องนิวรณ์และมลทินทั้ง ๓ ของชาวโลกนั้น (๑๖) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหามลทินไม่ได้ เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าหมองทุกอย่าง เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความหวั่นไหว หมดความเศร้าโศก เป็นธรรมสงบ ประณีต และรู้เห็นได้ยาก (๑๗) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหักรานราคะและโทสะให้สงบ เป็นเครื่องตัด เป็นเครื่องต้านทาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

และเป็นเครื่องพ้นกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕ และความยินดีที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน (๑๘) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก และละเอียดอ่อน มีอรรถอันลุ่มลึกซึ่งรู้ได้เฉพาะบัณฑิต เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง (๑๙) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ ดุจดอกไม้เครื่องประดับที่คงทน ๙ ชนิด อันจำแนกอินทรีย์ ฌาน และวิโมกข์ อันมรรคมีองค์ ๘ เป็นยานเครื่องนำไปอย่างประเสริฐ (๒๐) พระผู้มีพระภาค ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งปราศจากมลทิน บริสุทธิ์เปรียบเหมือนดวงจันทร์ วิจิตรด้วยรัตนะ เปรียบเหมือนห้วงน้ำ เสมอด้วยดอกไม้ มีเดชเปรียบดังดวงอาทิตย์ (๒๑) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม ให้ความสุข ฉ่ำเย็น สงบ เป็นเครื่องต้านทานมัจจุราชอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างสูง เป็นเหตุให้ชาวโลกนั้นรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสภาวธรรมที่ดับกิเลสได้แล้ว
สุตตนิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๗๘๔}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๗๗๓-๗๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=298              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=11405&Z=21240                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=440              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=440&items=5              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=10200              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=440&items=5              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=10200                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i424-e.php#sutta17 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.5.16.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.5.16.irel.html https://suttacentral.net/snp5.17/en/mills https://suttacentral.net/snp5.17/en/anandajoti https://suttacentral.net/snp5.17/en/sujato https://suttacentral.net/snp5.18/en/mills https://suttacentral.net/snp5.18/en/anandajoti https://suttacentral.net/snp5.18/en/sujato https://suttacentral.net/snp5.19/en/mills https://suttacentral.net/snp5.19/en/anandajoti https://suttacentral.net/snp5.19/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :