ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๓. จาปาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจาปาเถรี
(พระจาปาเถรีได้รวบรวมคาถาที่อุปกาชีวกและตนกล่าวด้วยการเปล่งอุทาน ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๒๙๒] เมื่อก่อน ตัวเรา(เป็นปริพาชก)ถือไม้เท้า เดี๋ยวนี้ เรานั้นกลายเป็นพรานล่าเนื้อไปเสียแล้ว ไม่อาจข้ามจากตัณหาและเปือกตมอันร้ายกาจ๑- ไปสู่ฝั่งโน้นได้เลย [๒๙๓] เมื่อก่อน นางจาปาดูหมิ่นเราว่าเป็นคนมัวเมานัก จึงกล่อมลูกเย้ยหยันเสียดสี เราจะตัดความเกี่ยวข้องด้วยจาปาไปบวชเสีย (เรากล่าวว่า) [๒๙๔] อย่าโกรธเลย ท่านมหาวีระ อย่าโกรธเลย ท่านมหามุนี เพราะว่า ผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ไม่มีความบริสุทธิ์ดอก แล้วตบะจะมีแต่ที่ไหนเล่า @เชิงอรรถ : @ กาม (ความใคร่, ความกำหนัด) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (ขุ.เถรี.อ. ๒๙๒/๒๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๓. จาปาเถรีคาถา

(อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๒๙๕] เราจะออกจากบ้านนาลา ใครจะอยู่ในบ้านนาลานี้ได้ เจ้าจะผูกเหล่าสมณะผู้เลี้ยงชีพโดยธรรมด้วยมารยาหญิงอยู่หรือ (เรากล่าวว่า) [๒๙๖] มาสิ ท่านกาฬะ กลับมาเถิด เชิญบริโภคกามเหมือนแต่ก่อน ดิฉันและพวกญาติยอมอยู่ในอำนาจของท่าน (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๒๙๗] จาปา เจ้ากล่าวคำอ่อนหวานเช่นใดแก่เรา พึงเปล่งคำอ่อนหวานให้ยิ่งไปกว่านี้อีก ๔ เท่า คำอ่อนหวานนั้นจะพึงเป็นคำจับใจบุรุษ ผู้ยินดีในเธอเท่านั้นดอกนะ (เรากล่าวว่า) [๒๙๘] ท่านกาฬะ ดิฉันซึ่งสะสวย มีเรือนร่างงามดังต้นคนทามีดอกบานสะพรั่งอยู่บนยอดเขา ดังเครือทับทิมมีดอกบานแล้ว ดังต้นแคฝอยมีดอกบานสะพรั่งภายในเกาะ [๒๙๙] มีร่างกายลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ นุ่งห่มผ้าแคว้นกาสีมีค่ามาก เพราะเหตุไร ท่านจึงละทิ้งไปเสียเล่า (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๓๐๐] เจ้าจะตามเบียดเบียนเราด้วยรูปที่ตกแต่ง เหมือนอย่างพรานนกประสงค์จะตามเบียดเบียนนก ไม่ได้ดอกนะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๓. จาปาเถรีคาถา

(เรากล่าวว่า) [๓๐๑] ท่านกาฬะ ก็ผลคือลูกของเรานี้ท่านทำให้เกิดมาแล้ว ท่านจะละทิ้งดิฉันซึ่งมีลูกไปเพื่ออะไรเล่า (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๓๐๒] ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีความเพียรมาก ย่อมละพวกลูก จากนั้นก็ละพวกญาติ ต่อจากนั้นก็ละทรัพย์ ตัดเครื่องผูกพันได้ขาด แล้วออกบวช เหมือนพญาช้างทำเครื่องผูกให้ขาดแล้วหนีไป (เรากล่าวว่า) [๓๐๓] บัดนี้ ดิฉันจะเอาท่อนไม้ทุบ หรือเอากริชแทงลูกคนนี้ของท่านให้ล้มลงเหนือพื้นดิน เพราะความเศร้าโศกถึงลูก ท่านจะไปไม่ได้แน่ (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๓๐๔] ถึงเจ้าจักยอมมอบลูกให้ฝูงสุนัขจิ้งจอก(กินเป็นอาหาร) แน่ะหญิงเลว เพราะลูกเป็นต้นเหตุ เจ้าจักทำเราให้หวนกลับมาอีกไม่ได้ดอก (เรากล่าวว่า) [๓๐๕] ท่านกาฬะผู้เจริญ บัดนี้ ท่านจักไปที่ไหน จะเป็นหมู่บ้าน นิคม นคร ราชธานีไหน ก็เชิญเถิด (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๓๐๖] เมื่อก่อน เราเป็นเจ้าคณะ ไม่เป็นสมณะ แต่สำคัญตัวว่าเป็นสมณะ ได้เที่ยวไปตามหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทุกนคร ทุกราชธานี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๓. จาปาเถรีคาถา

[๓๐๗] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้ ณ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงแสดงธรรมโปรดหมู่สัตว์เพื่อให้ละทุกข์ทั้งปวง เราควรจักไปเฝ้าพระองค์ พระองค์จักเป็นศาสดาของเรา (เรากล่าวว่า) [๓๐๘] บัดนี้ ขอท่านพึงกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม ถึงการถวายอภิวาทของดิฉัน และพึงทำประทักษิณ แล้วอุทิศส่วนบุญให้ดิฉันด้วย (อุปกาชีวกกล่าวว่า) [๓๐๙] แม่จาปา ข้อที่เจ้าพูดกับเรา เรารับได้ บัดนี้เราจักกราบทูลพระโลกนาถผู้ยอดเยี่ยม ถึงการถวายอภิวาทของเจ้า และจักทำประทักษิณ แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่เจ้าแน่ [๓๑๐] ต่อแต่นั้น ท่านกาฬะได้เดินทางไปใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้กำลังทรงแสดงอมตบท [๓๑๑] คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ [๓๑๒] ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์ ทำประทักษิณพระองค์ แล้วอุทิศส่วนบุญให้จาปา บวชเป็นบรรพชิต บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๐๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๐๓-๖๐๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=469              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=9721&Z=9781                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=469              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=469&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=5985              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=469&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=5985                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thig13.3/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :