ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

๑๖. มหานิบาต
๑. สุเมธาเถรีคาถา
ภาษิตพระสุเมธาเถรี
ทราบว่า พระสุเมธาเถรีได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า [๔๕๐] เราเป็นธิดาของพระอัครมเหสีพระเจ้าโกญจะกรุงมันตาวดี ชื่อว่า สุเมธา ผู้ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำให้เกิดเลื่อมใสแล้ว [๔๕๑] เจ้าหญิงสุเมธามีศีล กล่าวธรรมได้วิจิตร เป็นพหูสูต ถูกแนะนำในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าเฝ้าพระชนกและพระชนนี กราบทูลว่า “ขอพระชนกพระชนนีทั้ง ๒ พระองค์ โปรดตั้งพระทัยสดับคำของลูก [๔๕๒] ลูกยินดีอย่างยิ่งในนิพพาน ภพถึงแม้ว่าจะเป็นทิพย์ก็ไม่ยั่งยืน จะกล่าวไปใยถึงกามทั้งหลายซึ่งเป็นของว่างเปล่า มีความยินดีน้อย มีความคับแค้นมาก [๔๕๓] กามทั้งหลายเผ็ดร้อน เปรียบด้วยงูพิษ ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ พวกคนเขลาเหล่านั้นแออัดกันในนรก ต้องประสบทุกข์เดือดร้อนอยู่เป็นเวลาช้านาน [๔๕๔] พวกคนเขลาไม่สำรวมกายวาจาและใจ ทำแต่ความชั่ว พอกพูนแต่ความชั่วย่อมโศร้าโศกในอบายทุกเมื่อ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๕๕] พวกคนเขลาเหล่านั้นมีปัญญาทราม ไม่มีความคิด ยินดีแล้วในทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้สัจธรรม ๔ ที่พระอริยะแสดงอยู่ จึงรู้อริยสัจไม่ได้ [๔๕๖] ทูลกระหม่อมแม่เจ้าขา คนเขลาเหล่าใดเมื่อไม่รู้สัจจะทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว ยังชื่นชมภพ พอใจเกิด ในหมู่เทพ คนเขลาเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกนี้ [๔๕๗] ความเกิดในหมู่เทพในภพที่ไม่เที่ยง เป็นสภาวะที่ไม่ยั่งยืน พวกคนเขลาย่อมไม่สะดุ้งกลัวต่อการที่จะต้องเกิดบ่อยๆ [๔๕๘] สัตว์ทั้งหลายย่อมได้อบาย ๔ กันง่าย ส่วนคติ ๒ ได้กันลำบาก เหล่าสัตว์ที่เข้าถึงอบาย ในนรกไม่มีการบวชนะเพคะ [๔๕๙] ขอพระชนกพระชนนีทั้ง ๒ พระองค์ ทรงอนุญาตให้ลูกบวชในพระธรรมวินัยของพระทศพลเถิดเพคะ ลูกจักขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ [๔๖๐] กายที่มีโทษคือกายที่ไร้สาระซึ่งพวกคนเขลาชื่นชมนักหนา จะมีประโยชน์อะไรในภพ ขอทั้ง ๒ พระองค์ทรงอนุญาตเถิด ลูกจักบวชเพื่อดับภวตัณหา๑- [๔๖๑] ความอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายลูกได้แล้ว อักขณะ๒- ลูกก็เว้นแล้ว ขณะลูกก็ได้แล้ว ลูกจะไม่พึงทำลายศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต” @เชิงอรรถ : @ ความอยากในภพ @ ไม่ใช่เวลา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๖๒] เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีอย่างนี้ว่า “ตราบใดที่ลูกยังเป็นคฤหัสถ์จักไม่ยอมรับประทานอาหาร ถึงจะตายก็ยอมเพคะ” [๔๖๓] พระชนนีของพระนางสุเมธานั้นทรงเป็นทุกข์ ทรงกันแสง และพระชนกของนางมีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชล ทั้ง ๒ พระองค์ทรงพยายามเกลี้ยกล่อมพระนางสุเมธานั้น ซึ่งฟุบลงที่พื้นดิน ณ พื้นปราสาทว่า [๔๖๔] “ลุกขึ้นเถิด ลูกรัก จะเศร้าโศกไปทำไม พ่อแม่ได้ยกลูกให้พระเจ้าอนิกรัต ผู้ทรงสง่างามในพระนครวารณวดีแล้ว [๔๖๕] ลูกจักเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าอนิกรัต ศีล พรหมจรรย์ บรรพชาทำได้ยากนะลูกรัก [๔๖๖] อำนาจในแคว้นของพระเจ้าอนิกรัต ทรัพย์ ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสกุลนี้ ถ้าลูกปรารถนาแล้ว ก็จักอยู่ในเงื้อมมือของลูก ลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภคกามทั้งหลายเถิด ลูกจงวิวาห์เสียนะลูกนะ” [๔๖๗] ลำดับนั้น เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีนั้น อย่างนี้ว่า “อำนาจเป็นต้นเช่นนี้จงอย่ามีเลย เพราะภพหาสาระมิได้ ลูกขอบวชหรือตายเท่านั้น แต่ลูกไม่ยอมวิวาห์แน่นอน [๔๖๘] กายที่เปื่อยเน่าเหมือนหมู่หนอน ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป น่าสะพรึงกลัว เป็นดุจถุงหนัง บรรจุศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด ไหลออกอยู่เนืองๆ ซึ่งคนเขลายึดถืออยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๖๙] ลูกรู้อยู่ว่าร่างกายนั้นปฏิกูลเหมือนหมู่หนอน ถูกฉาบไว้ด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เป็นเหยื่อของแร้งกา ทำไมทูลกระหม่อมจึงพระราชทานซากศพ แก่พระราชาพระองค์นั้นเพคะ [๔๗๐] ไม่ช้าร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ ถูกหมู่ญาติซึ่งพากันเกลียดชัง ทอดทิ้งไปเหมือนท่อนไม้ที่เขาก็พากันนำไปทิ้งป่าช้า [๔๗๑] มารดาบิดาของตนยังเกลียดชัง พากันเอาซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นอาหารของสัตว์อื่นๆ ในป่าช้า กลับมาก็ต้องอาบน้ำดำเกล้า จะกล่าวไปใยถึงหมู่ชนทั่วๆ ไปเล่า [๔๗๒] หมู่ชนยึดถือแล้วในร่างกายอันเปื่อยเน่า เป็นซากศพ ไม่มีแก่นสาร เป็นร่างของกระดูกและเอ็น เต็มไปด้วยน้ำลาย น้ำตา และอุจจาระ [๔๗๓] ผู้ใดพึงชำแหละร่างกายนั้นกลับข้างในมาไว้ข้างนอก ผู้นั้นก็จะทนกลิ่นเหม็นของร่างกายนั้นไม่ได้ แม้มารดาของตนก็ยังเกลียดชัง [๔๗๔] ลูกพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีชาติเป็นมูลเหตุ เป็นทุกข์ เพราะเหตุไร จะพึงปรารถนาการวิวาห์เล่าเพคะ [๔๗๕] หอก ๓๐๐ เล่มใหม่เอี่ยมจะพึงตกต้องที่กายทุกๆ วัน และทิ่มแทงอยู่ถึง ๑๐๐ ปี ยังประเสริฐกว่า หากว่าความสิ้นทุกข์ จะพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๗๖] ผู้ใดรู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว พึงยอมรับการทิ่มแทง ด้วยอาการอย่างนั้นยังประเสริฐกว่า เพราะสังสารวัฎของคนเหล่านั้น ซึ่งถูกชราพยาธิและมรณะเบียดเบียนบ่อยๆ ยาวนาน [๔๗๗] ในจำพวกเทวดา มนุษย์ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมู่อสุรกาย เปรต และสัตว์นรก การทำร้ายกันยังปรากฏอยู่หาประมาณมิได้ [๔๗๘] สำหรับสัตว์ที่เศร้าหมองอยู่ในอบาย ยังมีการทำร้ายกันอยู่มากในนรก แม้ในเทวดาทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ สุขอื่นนอกจากสุขคือนิพพานไม่มีเลย [๔๗๙] ชนเหล่าใดขวนขวายในพระธรรมวินัยของพระทศพล มีความขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ ชนเหล่านั้นย่อมถึงนิพพาน [๔๘๐] ทูลกระหม่อมพ่อ เพคะ วันนี้แหละลูกจักออกบวช โภคทรัพย์ทั้งหลายที่ไม่มีแก่นสารจะมีประโยชน์อะไร ลูกเบื่อหน่ายกามทั้งหลายแล้ว ทำให้เสมอด้วยรากสุนัข ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน” [๔๘๑] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังกราบทูลพระชนกอยู่อย่างนี้ พระเจ้าอนิกรัตผู้ได้รับพระราชทานพระนางสุเมธานั้น มีข้าราชบริพารหนุ่มแวดล้อมแล้ว ก็เสด็จมาเพื่อเข้าสู่วิวาห์เมื่อเวลากระชั้นชิด [๔๘๒] ภายหลัง เจ้าหญิงสุเมธาทราบว่าพระเจ้าอนิกรัตเสด็จมา จึงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำขลับที่รวบไว้ อ่อนสลวย ทรงปิดปราสาท เข้าปฐมฌาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๘๓] เจ้าหญิงสุเมธานั้นเข้าฌาน อยู่ในปราสาทนั้น และพระเจ้าอนิกรัตก็ได้เสด็จมาถึงพระนคร สุเมธาก็เจริญอนิจจสัญญาอยู่ในปราสาทนั้นนั่นแหละ [๔๘๔] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังมนสิการ และพระเจ้าอนิกรัตทรงแต่งองค์ด้วยแก้วมณีและทองคำ ก็รีบเสด็จขึ้นปราสาท ทรงประคองอัญชลี อ้อนวอนพระนางสุเมธาว่า [๔๘๕] “อำนาจ ทรัพย์ ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสมบัติ น้องหญิงยังเป็นสาวอยู่ ขอเชิญบริโภคกามทั้งหลาย กามสุขหาได้ยากในโลก [๔๘๖] ราชสมบัติพี่ยอมสละให้น้องหญิงแล้ว เชิญน้องหญิงบริโภคโภคทรัพย์ ถวายทานทั้งหลายเถิด น้องหญิงอย่าทรงเสียพระทัยเลย พระชนกพระชนนีของพระน้องหญิงทรงเป็นทุกข์” [๔๘๗] เจ้าหญิงสุเมธาไม่ต้องการกามทั้งหลาย ปราศจากโมหะแล้ว จึงกราบทูลพระเจ้าอนิกรัตนั้นว่า “อย่าทรงเพลิดเพลินกามเลย โปรดทรงเห็นโทษในกามทั้งหลายเถิด เพคะ [๔๘๘] พระเจ้ามันธาตุ เจ้าแห่งทวีปทั้ง ๔ ทรงเป็นยอดผู้บริโภคกามทั้งหลาย ยังไม่ทันทรงอิ่มก็เสด็จสวรรคตไปแล้ว ทั้งความปรารถนาของพระองค์ ก็ยังไม่เต็มเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๘๙] เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งฝนพึงหลั่งฝนคือรัตนะ ๗ ลงมาโดยรอบ ทั่วทั้ง ๑๐ ทิศ ความอิ่มกามทั้งหลายก็ไม่มี นรชนทั้งหลายยังไม่อิ่มเลย ก็พากันตายไป [๔๙๐] กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและหลาว เปรียบด้วยหัวงูเห่า เปรียบด้วยร่างกระดูก เปรียบด้วยคบเพลิงตามเผาอยู่ [๔๙๑] กามทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีผลเป็นทุกข์ เหมือนก้อนเหล็กที่ลุกโชน [๔๙๒] กามทั้งหลายเปรียบด้วยผลไม้ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ นำทุกข์มาให้ เปรียบด้วยความฝันหลอกลวง เปรียบด้วยของที่ยืมเขามา [๔๙๓] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นทุกข์ เป็นความลำบาก เสมือนหลุมถ่านเพลิง เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นภัย เป็นเพชฌฆาต [๔๙๔] กามทั้งหลายมีทุกข์มากอย่างนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่าทำอันตราย เชิญพระองค์เสด็จกลับไปเสียเถิด หม่อมฉันไม่มีความวางใจในภพของตนเองเลย [๔๙๕] เมื่อไฟกำลังไหม้ศีรษะของตนเองอยู่ คนอื่นจักช่วยอะไรหม่อมฉันได้ เมื่อชราและมรณะติดตามอยู่ ก็ควรพยายามกำจัดชราและมรณะนั้นเสีย” [๔๙๖] ดิฉันเห็นพระชนกพระชนนีและพระเจ้าอนิกรัตเสด็จยังไม่ทันถึง พระทวารก็ประทับนั่งที่พื้นดิน ทรงกันแสงอยู่ จึงได้กราบทูลดังนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๔๙๗] “สังสารวัฏเป็นสภาวะยืดยาวสำหรับพวกคนเขลา ผู้ร้องไห้อยู่บ่อยๆ เพราะบิดามารดาตาย พี่ชายน้องชายถูกฆ่า และตัวเองถูกฆ่า ในสังสารวัฏที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว [๔๙๘] ขอพระองค์ทรงโปรดระลึกถึงน้ำตา น้ำนม เลือด และกองกระดูก ของสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวไปมาว่ามากเพียงไร เพราะความที่สังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว [๔๙๙] โปรดทรงระลึกถึงมหาสมุทรทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรง นำมาเปรียบเทียบด้วยน้ำตา น้ำนมและเลือด โปรดทรงระลึกถึงกองกระดูกในกัปหนึ่งของบุคคลคนหนึ่ง เทียบเท่าภูเขาวิปุลบรรพต [๕๐๐] โปรดทรงระลึกถึงแผ่นดินใหญ่ชมพูทวีปที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงนำมาเปรียบเทียบด้วยสังสารวัฏของสัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ใน สังสารวัฏที่มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว แผ่นดินทั้งหลายทำให้เป็นก้อนเท่าเมล็ดพุทรา ก็มากไม่พอเท่าจำนวนมารดาบิดาทั้งหลาย [๕๐๑] โปรดทรงระลึกถึงหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงนำมาเปรียบเทียบ เพราะสังสารวัฏมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ท่อนไม้ทั้งหลายมีขนาด ๔ นิ้ว ก็มากไม่พอเท่าจำนวนบิดาและปู่ทั้งหลาย [๕๐๒] โปรดทรงระลึกถึงเต่าตาบอด และช่องแอกอันหมุนวนไปในทิศบูรพาและทิศอื่นๆ ในมหาสมุทรมาสวมหัวเต่าตาบอดตัวนั้น เปรียบเทียบในการได้อัตภาพเป็นมนุษย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๕๐๓] โปรดทรงระลึกถึงสภาวะที่จะสลายไปแห่งโทษคือกาย ที่ไม่มีแก่นสาร ซึ่งเปรียบด้วยก้อนฟองน้ำ โปรดทรงพิจารณาให้เห็นขันธ์ทั้งหลายว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง โปรดทรงระลึกถึงนรกทั้งหลายว่ามีความคับแค้นมาก [๕๐๔] โปรดทรงระลึกถึงสัตว์ทั้งหลายที่พากันทำป่าช้าให้รก ในชาตินั้นๆ อยู่ร่ำไป โปรดระลึกถึงภัยคือจรเข้๑- โปรดทรงระลึกถึงอริยสัจ ๔ [๕๐๕] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่ พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร ด้วยของเผ็ดร้อน ๕ อย่างที่ทรงดื่มแล้วอีกเล่า เพราะว่า ความยินดีกามทุกอย่าง เผ็ดร้อนกว่าของเผ็ดร้อน ๕ อย่าง [๕๐๖] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่ พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่เร่าร้อนอีกเล่า เพราะว่าความยินดีกามทุกอย่างอันไฟติดโพลงแล้ว ให้เดือดร้อน ให้หวั่นไหว เผาให้ร้อนแล้ว [๕๐๗] เมื่อการออกจากกามซึ่งไม่มีข้าศึกมีอยู่ พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่มีข้าศึกมาก กามทั้งหลายมีภัยอยู่ทั่วไป คือ ราชภัย อัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย และอัปปิยภัย๒- จึงชื่อว่ามีข้าศึกมาก @เชิงอรรถ : @ เห็นแก่กินเห็นแก่ปากแก่ท้อง @ ภัยที่เกิดจากคนร่วมมรดกที่ไม่ถูกกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๕๐๘] เมื่อโมกขธรรมมีอยู่ พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร ด้วยกามทั้งหลายที่มีการฆ่าการจองจำเล่า เพราะว่าการฆ่าการจองจำมีอยู่ในกามทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่กามย่อมได้รับทุกข์ทั้งหลาย [๕๐๙] คบเพลิงหญ้าที่ลุกโพลงย่อมไหม้คนที่ถือ และพวกคนที่ไม่ยอมปล่อย เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิงย่อมไหม้คนที่ไม่ยอมละ [๕๑๐] โปรดอย่าละสุขอันไพบูลย์ เพราะเหตุแห่งกามสุขเพียงเล็กน้อย อย่าทรงเป็นดุจปลาใหญ่กลืนเบ็ด ต้องเดือดร้อนในภายหลัง [๕๑๑] โปรดอย่าทรงเป็นดุจสุนัขถูกล่ามโซ่หมุนไปหมุนมา เพราะกามทั้งหลายเลย เพราะกามทั้งหลายจักทำพระองค์ให้เป็นเหมือนคนจัณฑาลหิวจัด ได้สุนัขแล้วทำให้พินาศได้ [๕๑๒] พระองค์ทรงประกอบด้วยกาม จักเสวยทุกข์ซึ่งหาประมาณมิได้ และความเสียใจอย่างมาก โปรดสละกามอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด [๕๑๓] เมื่อนิพพานที่ไม่มีความแก่มีอยู่ พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร ด้วยกามทั้งหลายที่มีความแก่เล่า ความเกิดทั้งปวงมีมรณะและพยาธิกำกับไว้ในภพทุกภพ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๕๑๔] นิพพานนี้ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นทางดำเนินถึงความไม่แก่และไม่ตาย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่ถูกข้าศึกเบียดเบียน ไม่พลาด ไม่มีภัย ไม่มีความเดือดร้อน [๕๑๕] นิพพานนี้ พระอริยเจ้าเป็นจำนวนมากบรรลุแล้ว อมตนิพพานนี้อันผู้พยายามโดยแยบคายพึงได้ในวันนี้นี่แหละ แต่ผู้ไม่พยายามอาจหาได้ไม่” [๕๑๖] เจ้าหญิงสุเมธาเมื่อไม่ทรงยินดีในสังขาร กราบทูลอย่างนี้ และเมื่อกำลังทรงเกลี้ยกล่อมพระเจ้าอนิกรัตอยู่ ก็ทรงโยนพระเกศาลงที่พื้นดิน [๕๑๗] พระเจ้าอนิกรัตเสด็จลุกขึ้น ประคองอัญชลี ทูลอ้อนวอนพระชนกของพระนางว่า “โปรดทรงปลดปล่อยเจ้าหญิงสุเมธาให้ผนวชเถิด เพราะว่าเจ้าหญิงทรงเห็นวิโมกข์และสัจธรรมแล้ว” [๕๑๘] เจ้าหญิงสุเมธานั้นซึ่งพระชนกชนนีทรงปล่อยแล้ว กลัวภัยคือความโศก บวชแล้วเมื่อศึกษาอยู่ ก็ทำให้แจ้งอภิญญา ๖ และอรหัตผลแล้ว [๕๑๙] นิพพานนั้นน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ได้มีแก่สุเมธาราชกัญญา พระสุเมธาเถรีได้พยากรณ์วิธีที่ตนประพฤติแล้วในปุพเพนิวาสญาณ เหมือนอย่างที่พยากรณ์ในเวลาใกล้ปรินิพพานว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๖. มหานิบาต]

๑. สุเมธาเถรีคาถา

[๕๒๐] “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโกนาคมนะเสด็จอุบัติขึ้นใน โลก เมื่อสร้างสังฆารามเสร็จใหม่ๆ ข้าพเจ้าได้เป็นหญิง รวมกับ เพื่อนกัน ๓ คน๑- ได้ถวายวิหารแด่สงฆ์ [๕๒๑] พวกเราทั้ง ๓ คนเกิดในเทวดา ๑๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ไม่จำต้องกล่าวถึงการเกิดในมนุษย์เลย [๕๒๒] พวกเรามีฤทธิ์มากในหมู่เทวดา ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงฤทธิ์ในหมู่มนุษย์ เราเป็นมเหสีนารีรัตน์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีรัตนะ ๗ ประการ [๕๒๓] การสร้างอารามถวายสงฆ์เป็นวิหารทานนั้น เป็นเหตุเป็นแดนเกิด(แห่งทิพยสมบัติตามที่กล่าวมาแล้ว) ข้อนั้นเป็นมูล และเป็นความเกษมในพระศาสนา เป็นเหตุตั้งมั่น (พร้อมด้วยธรรมครั้งที่ ๑) ข้อนั้นเป็นนิพพานสำหรับข้าพเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรม [๕๒๔] ชนเหล่าใดเชื่อพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ผู้มีพระปัญญาไม่ทราม ชนเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายในภพ ครั้นเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายกำหนัดดังนี้”
มหานิบาต จบบริบูรณ์
เถรีคาถา จบบริบูรณ์
ในเถรีคาถานี้ มี ๔๙๔ คาถา และมีพระเถรีล้วนแต่เป็นผู้สิ้นอาสวะเกิน ๑๐๐ รูป ฉะนี้แล @เชิงอรรถ : @ คือ ธนัญชานี เขมา และข้าพเจ้า (สุเมธา) (ขุ.เถรี.อ. ๕๒๐/๓๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๔๐}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ สุตตันตปิฎกที่ ๑๘ ขุททกนิกาย
วิมาน เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๒๙-๖๔๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=474              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=10138&Z=17815                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=474              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=474&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=7270              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=474&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=7270                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thig16.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :