ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)
ว่าด้วยโกสิยเศรษฐี
(โกสิยเศรษฐีกล่าวว่า) [๗๓] ของนี้มีอยู่เพียงนิดหน่อย ได้มาแสนยาก ข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อ ไม่ได้ขาย ทั้งไม่ได้สะสมไว้ในที่นี้ ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้ไม่เพียงพอสำหรับคน ๒ คน (ท้าวสักกะตรัสว่า) [๗๔] บุคคลควรให้แต่น้อยจากของที่น้อย ควรให้พอปานกลางจากของที่มีพอปานกลาง ควรให้มากจากของที่มีมาก ชื่อว่าการไม่ให้ไม่ควร [๗๕] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๓๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต]

๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)

(จันทเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า) [๗๖] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว การบูชาของผู้นั้นเป็นโมฆะ แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ๑- ของผู้นั้นก็เป็นโมฆะ [๗๗] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข (สุริยเทพเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า) [๗๘] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว การบูชาของผู้นั้นย่อมมีผลจริง แม้ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของผู้นั้นก็มีผลจริง [๗๙] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข (มาตลิเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า) [๘๐] ก็บุคคลเข้าไปยังแหล่งน้ำบางแห่งแล้วบูชาที่แม่น้ำหลายสายบ้าง ที่สระโบกขรณีชื่อคยาบ้าง ที่ท่าน้ำชื่อโทณะ และท่าน้ำชื่อติมพรุบ้าง ที่ห้วงน้ำใหญ่ซึ่งมีกระแสเชี่ยวบ้าง [๘๑] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคอาหารแต่ผู้เดียว การบูชาของผู้นั้นในที่นั้น และความเพียรที่ตั้งไว้ชอบของเขาในที่นั้นย่อมมีผล [๘๒] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข @เชิงอรรถ : @ ความเพียรที่ตั้งไว้ชอบ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่บำเพ็ญเพื่อให้เกิดทรัพย์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๗๖/๒๙๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๓๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต]

๗. โกสิยชาดก (๔๗๐)

(ปัญจสิขเทพบุตรเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า) [๘๓] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคอาหารแต่ผู้เดียว ผู้นั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดพร้อมทั้งเครื่องผูกที่มีสายยาว [๘๔] ท่านโกสิยะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงบอกท่านว่า ท่านจงให้ทานและจงบริโภค จงขึ้นสู่ทางของพระอริยะ ผู้กินคนเดียวย่อมไม่ได้รับความสุข (โกสิยเศรษฐีเห็นฤทธิ์ของเทพบุตรเหล่านั้นแล้วจึงกล่าวว่า) [๘๕] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ แต่สุนัขของพวกท่านตัวนี้ เพราะเหตุไร จึงเปลี่ยนแปลงรัศมีสีสันได้ต่างๆ นานา ข้าแต่ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ขอท่านจงบอกข้าพเจ้าว่า พวกท่านเป็นใครกันหนอ (ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า) [๘๖] เทพทั้งหลายที่มา ณ ที่นี้ คือ จันทเทพบุตรและสุริยเทพบุตรทั้ง ๒ มาตลีเทพสารถี เราคือท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพชั้นไตรทศ ส่วนผู้นี้แลชื่อว่าปัญจสิขเทพบุตร (ท้าวสักกะสรรเสริญยศของปัญจสิขเทพบุตรว่า) [๘๗] เสียงปรบมือ ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ เปิงมาง ๑ ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วให้ตื่นขึ้น เทพบุตรผู้ตื่นขึ้นแล้วย่อมร่าเริงยินดี (ท้าวสักกะตรัสอีกว่า) [๘๘] คนผู้ตระหนี่เห็นแก่ตัวเหล่านี้ บางพวกมักว่าสมณะและพราหมณ์ เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ตกนรก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๓๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๒. ทวาทสกนิบาต]

๘. เมณฑกปัญหชาดก (๔๗๑)

(เพื่อจะแสดงว่าบุคคลผู้ดำรงอยู่ในธรรมได้บังเกิดในเทวโลก จึงตรัสว่า) [๘๙] คนผู้หวังสุคติเหล่านี้ บางพวกดำรงอยู่ในธรรม คือความสำรวมและการจำแนกแจกทาน เมื่อทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ตายไปก็ไปสุคติ [๙๐] ท่านเป็นญาติของพวกเราเมื่อชาติก่อน แต่ท่านนั้นเป็นคนตระหนี่ ขี้โกรธ มีธรรมเลวทราม พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่ท่านนั่นเอง ท่านอย่ามีธรรมเลวทรามไปตกนรกเลย (โกสิยเศรษฐีมีจิตยินดีกล่าวว่า) [๙๑] พวกท่านหวังเกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างแน่แท้จึงได้พร่ำสอนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่พวกท่านผู้หวังเกื้อกูลกล่าวทุกประการ [๙๒] ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพเจ้านั้นจะของดเว้น จากความตระหนี่ จะไม่ทำบาปอะไรๆ อีก อนึ่ง วัตถุอะไรๆ ที่ไม่พึงให้จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า แม้แต่น้ำข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้แล้วก็จะไม่ยอมดื่ม [๙๓] ข้าแต่ท้าวสักกะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่ตลอดกาลทั้งปวงอย่างนี้ แม้โภคะของข้าพเจ้าจักหมดสิ้นไป ข้าแต่ท้าวสักกะ ต่อแต่นี้ข้าพเจ้าจะละกามทั้งหลายตามที่มีอยู่แล้วบวช
โกสิยชาดกที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๓๘๕-๓๘๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=470              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=6584&Z=6637                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1673              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=1673&items=13              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=40&A=2643              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=1673&items=13              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=40&A=2643                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja470/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :