ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)
ว่าด้วยจิตตบัณฑิตกับพระเจ้าสัมภูตบัณฑิต
(พระราชาทรงขับเพลงขับว่า) [๒๔] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล ผลกรรมถึงจะเล็กน้อย ชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่ เราเห็นสัตว์ผู้เกิดมามีอานุภาพมาก ซึ่งเกิดแต่ผลบุญ เพราะกรรมของตน [๒๕] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล ผลกรรมถึงจะเล็กน้อยชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่ แม้ท่านจิตตบัณฑิตมีมโนรถสำเร็จสมปรารถนา เหมือนอย่างเราแลหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)

(เมื่อพระเจ้าสัมภูตะทรงขับเพลงจบลง กุมารขับเพลงตอบถวายพระราชาว่า) [๒๖] กรรมทุกอย่างที่นรชนประพฤติดีแล้วมีผล ผลกรรมถึงจะเล็กน้อยชื่อว่าเป็นโมฆะหามีไม่ ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ แม้จิตตบัณฑิตพระองค์ก็โปรด ทราบเถิดว่า ท่านมีมโนรถสำเร็จสมปรารถนาเหมือนพระองค์ (พระเจ้าสัมภูตะทรงสดับแล้ว จึงตรัสว่า) [๒๗] เจ้าเป็นจิตตดาบสหรือหนอ หรือว่าเจ้าฟังมาจากคนอื่น หรือใครได้บอกเรื่องนั้นกับเจ้า คาถาเจ้าขับดีแล้ว เราไม่มีความสงสัย และเราจะให้บ้านส่วยแก่เจ้า ๑๐๐ หลัง (ลำดับนั้น กุมารกราบทูลว่า) [๒๘] ข้าพระองค์มิใช่จิตตฤๅษี และข้าพระองค์มิได้ฟังมาจากคนอื่น แต่ฤๅษีได้บอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ว่า เจ้าจงไป จงขับคาถาตอบพระราชา พระราชาทรงพอพระทัย พึงพระราชทานพรแก่เจ้าบ้าง (พระเจ้าสัมภูตะทรงสดับแล้วจึงรับสั่งให้พวกราชบุรุษเตรียมกระบวนว่า) [๒๙] พวกพนักงานจงเทียมราชรถที่ตกแต่งสวยงาม เย็บปักอย่างวิจิตรตระการตา จงผูกสายรัดสัปคับช้าง สวมเครื่องประดับคอ [๓๐] ชาวพนักงานจงนำกลอง ตะโพน และสังข์มา และจงเทียมราชยานที่เร็ว วันนี้ เราจักไปสู่อาศรมที่เราเห็นฤๅษีนั่งอยู่ (พระเจ้าสัมภูตะเสด็จเข้าไปหาจิตตบัณฑิตดาบส ทรงดีพระทัยแล้วตรัสว่า) [๓๑] หม่อมฉันเป็นผู้ได้ลาภดีแล้วหนอ คาถาอันเขาขับดีแล้ว ณ ท่ามกลางบริษัท หม่อมฉันนั้นมีปีติและโสมนัสเพราะได้เห็นฤๅษีผู้สมบูรณ์ด้วยสีลวัตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)

(ตั้งแต่ได้พบจิตตบัณฑิตดาบส พระเจ้าสัมภูตะทรงโสมนัส จึงรับสั่งพวก ราชบุรุษให้เตรียมสถานที่แล้วตรัสว่า) [๓๒] ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงรับอาสนะ น้ำ และผ้าเช็ดเท้าของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าขอถวายของมีค่า๑- ต้อนรับพระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญจงใช้สอยของที่มีค่าของข้าพเจ้าด้วยเถิด (พระเจ้าสัมภูตะเมื่อจะทรงแบ่งราชสมบัติถวายครึ่งหนึ่ง จึงตรัสว่า) [๓๓] ขอพระองค์จงสร้างพระตำหนักที่น่ารื่นรมย์สำหรับพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้หมู่นารีบำเรอเถิด และจงให้โอกาสเพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉัน แม้เราทั้ง ๒ จะครอบครองความเป็นใหญ่ร่วมกัน (จิตตบัณฑิตดาบสกราบทูลว่า) [๓๔] ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมาเห็นผลของทุจริต และวิบากยิ่งใหญ่แห่งธรรมที่ประพฤติดีแล้วจักสำรวมตนอย่างเดียว จึงไม่ปรารถนาบุตร ปศุสัตว์ หรือทรัพย์ [๓๕] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เพียง ๑๐ ปีเท่านั้น ชีวิตนั้นยังไม่ทันถึงเขตกำหนดซูบซีดไปเหมือนต้นอ้อที่ถูกตัด [๓๖] ในสภาพชีวิตอย่างนั้นจะเพลิดเพลิน จะเล่นสนุกสนาน จะรื่นเริง จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไมกัน ประโยชน์อะไรด้วยบุตรและภรรยาสำหรับอาตมา อาตมาพ้นแล้วจากเครื่องผูก มหาบพิตร [๓๗] อาตมานั้นทราบชัดอย่างนี้ว่า มัจจุราชจะไม่เมินเฉยต่ออาตมา ผู้ถูกมฤตยูครอบงำ จะรื่นเริง จะแสวงหาทรัพย์ไปทำไมกัน @เชิงอรรถ : @ ของที่มีค่า ในที่นี้หมายถึงสิ่งของที่คู่ควรแก่การต้อนรับแขก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)

[๓๘] ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ชาติกำเนิดของนรชนไม่สม่ำเสมอ ในหมู่มนุษย์ กำเนิดแห่งคนจัณฑาลนับว่าต่ำต้อยที่สุด ในชาติก่อน พวกเราได้อาศัยอยู่ในครรภ์ของหญิงจัณฑาล เพราะกรรมชั่วช้าของตน [๓๙] พวกเราได้เกิดเป็นคนจัณฑาลในอวันตีชนบท ได้เกิดเป็นเนื้ออยู่ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้เกิดเป็นนกเขาอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทา แต่วันนี้เราทั้ง ๒ นั้นเป็นพราหมณ์และกษัตริย์ (จิตตบัณฑิตดาบสเมื่อให้พระเจ้าสัมภูตะเกิดอุตสาหะในบุญกุศลทั้งหลาย จึงกล่าวว่า) [๔๐] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก ชีวิตที่ถูกชรานำไป ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นกำไรเลย [๔๑] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก ชีวิตที่ถูกชรานำไป ย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีทุกข์เป็นผลเลย [๔๒] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก ชีวิตที่ถูกชรานำไปย่อมไม่มีผู้ต้านทาน ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมซึ่งมีธุลีแปดเปื้อนบนพระเศียรเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๒. จิตตสัมภูตชาดก (๔๙๘)

[๔๓] ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้มรณะ อายุของเหล่าสัตว์น้อยนัก ชราย่อมขจัดผิวพรรณของนรชนผู้แก่ชรา ขอถวายพระพรพระเจ้าปัญจาละ ขอมหาบพิตรจงทรงทำตามคำของอาตมา มหาบพิตรอย่าได้ทรงทำกรรมเพื่อเกิดในนรกเลย (เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนั้น พระราชาทรงยินดีแล้วจึงตรัสว่า) [๔๔] คำของพระองค์นั้นเป็นคำสัตย์อย่างแท้จริง คำนั้นเป็นเหมือนดังที่ฤๅษีกล่าว แต่กามของหม่อมฉันมีอยู่มิใช่น้อย ข้าแต่ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร กามเหล่านั้นคนเช่นหม่อมฉันละได้ยาก [๔๕] หม่อมฉันจมอยู่ในเปือกตมคือกาม ไม่อาจดำเนินตามทางของภิกษุได้ เหมือนช้างเชือกที่จมอยู่ในท่ามกลางเปือกตม เห็นที่เนินอยู่ก็ไม่อาจจะไปได้ [๔๖] มารดาบิดาพร่ำสอนบุตรด้วยหวังว่า เขาจะมีความสุขได้อย่างไร แม้ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระองค์ก็ฉันนั้น พร่ำสอนหม่อมฉัน โดยที่หม่อมฉันละโลกนี้ไปแล้วจะพึงเป็นสุขสิ้นกาลนาน (พระโพธิสัตว์มาตังคบัณฑิตถวายพระพรว่า) [๔๗] ขอถวายพระพรพระองค์ผู้จอมชน หากมหาบพิตรไม่ทรงสามารถจะละกามซึ่งเป็นของมนุษย์เหล่านี้ได้ ขอพระองค์ทรงตั้งพลีกรรมที่เป็นธรรมเถิด มหาบพิตร อนึ่ง การกระทำที่ไม่เป็นธรรมขออย่าได้มีในแคว้นของพระองค์เลย [๔๘] ขอพวกทูตจงเที่ยวไปนิมนต์สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ทั่วทิศทั้ง ๔ มหาบพิตร ขอทรงบำรุงสมณะและพราหมณ์ เหล่านั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า เสนาสนะ และปัจจัย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๔๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๕. วีสตินิบาต]

๓. สีวิราชชาดก (๔๙๙)

[๔๙] พระองค์ผู้มีพระหฤทัยเลื่อมใส ทรงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ ทรงถวายและทรงเสวยตามความสามารถ จะไม่ถูกนินทา ขอทรงเข้าถึงแดนสวรรค์เถิด [๕๐] มหาบพิตร หากว่าความเมาพึงครอบงำพระองค์ ซึ่งมีหมู่นารีบำเรออยู่ ขอพระองค์ทรงมนสิการคาถานี้ และขอจงตรัสคาถานี้ในท่ามกลางบริษัท [๕๑] สัตว์ผู้นอนอยู่กลางแจ้ง มีหญิงจัณฑาลผู้เมื่อจะไปป่าให้ดื่มน้ำนม แล้วคลุกคลีอยู่กับฝูงสุนัข สัตว์นั้นวันนี้เขาเรียกกันว่า พระราชา
จิตตสัมภูตชาดกที่ ๒ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๔๗๓-๔๗๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=498              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=8065&Z=8155                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2054              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2054&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=413              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2054&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=413                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja498/en/rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :