ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)

๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)
ว่าด้วยผีเสื้อน้ำ
(เภรีปริพาชิกากล่าวปัญหาของรากษสว่า) [๒๒๔] ถ้าว่ามหาบพิตรทั้ง ๗ พระองค์กำลังลอยเรืออยู่ในห้วงน้ำ ผีเสื้อน้ำผู้แสวงหามนุษย์เป็นพลีกรรมยึดเรือไว้ มหาบพิตรจะทรงสละให้ผีเสื้อน้ำตามลำดับอย่างไร (พระราชาสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า) [๒๒๕] โยมจะให้พระมารดาเป็นอันดับ ๑ ให้พระมเหสีแล้วให้อนุชา แต่นั้นจะให้พระสหาย แล้วจะให้ปุโรหิตพราหมณ์เป็นอันดับที่ ๕ จะให้ตนเองเป็นอันดับที่ ๖ แต่จะไม่ให้มโหสธบัณฑิต (เภรีปริพาชิกากล่าวคุณของมารดาว่า) [๒๒๖] พระราชชนนีของมหาบพิตร ทรงบำรุงเลี้ยง ให้กำเนิด และทรงเอ็นดูช่วยเหลือตลอดกาลนาน เมื่อมหาบพิตรถูกฉัพภิพราหมณ์ประทุษร้าย พระนางทรงเป็นบัณฑิตคิดเห็นประโยชน์ จึงทรงกระทำสิ่งอื่นแทนมหาบพิตร ปลดเปลื้องมหาบพิตรจากการถูกลอบปลงพระชนม์ [๒๒๗] พระราชมารดานั้นทรงประทานพระชนม์ชีพ ทรงครรภ์พระโอรสเช่นนั้น เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานให้ผีเสื้อน้ำ (พระราชาตรัสโทษของพระมารดาว่า) [๒๒๘] พระมารดาของโยมประดับเครื่องอลังการที่ไม่ควรประดับ เหมือนเด็กสาวกระซิกกระซี้กับคนเฝ้าประตู และคนชั้นต่ำเกินขอบเขต [๒๒๙] อนึ่ง ทรงส่งทูตไปยังพระราชาฝ่ายอื่นเสียเอง เพราะโทษนั้น โยมจะพึงให้พระมารดาแก่รากษส {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)

(เภรีปริพาชิกากล่าวคุณของพระนางนันทาเทวีว่า) [๒๓๐] พระนางนันทาเทวีผู้ประเสริฐกว่าหมู่สนมนารี มีพระเสาวนีย์น่ารัก ทรงอนุวัตรตามมหาบพิตร เป็นผู้ทรงศีล มิได้ทรงเหินห่างมหาบพิตร ประดุจพระฉายาโดยส่วนเดียว [๒๓๑] ปราศจากความกริ้วโกรธ ทรงมีบุญ ฉลาด ทรงเล็งเห็นประโยชน์ เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจะประทานมเหสีให้ผีเสื้อน้ำ (พระราชาตรัสโทษของนางนันทาเทวีว่า) [๒๓๒] พระนางนันทาเทวีนั้นชอบขอทรัพย์ที่ไม่ควรขอกับโยม ผู้ถึงความร่าเริงยินดี ผู้ตกอยู่ในอำนาจสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อโอรสและธิดาของตน [๒๓๓] โยมนั้นมีความกำหนัด จึงยอมให้ทรัพย์ ทั้งมีค่ามากและมีค่าน้อยเป็นจำนวนมาก ครั้นยอมให้ทรัพย์ยากที่จะสละได้แล้ว ภายหลังจึงเศร้าโศกเสียใจ เพราะโทษนั้นแหละ โยมจะพึงให้มเหสีแก่ผีเสื้อน้ำ (เภรีปริพาชิกาทูลถามต่อไปว่า) [๒๓๔] พระกนิษฐภาดาพระองค์ใดทรงยังชนบทให้เจริญ เชิญเสด็จมหาบพิตรกลับพระราชมณเฑียรและทรงครอบงำ นำทรัพย์จากราชสมบัติอื่นมาถวายเป็นจำนวนมาก [๒๓๕] พระกนิษฐภาดาพระองค์นั้นประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย ทรงกล้าหาญ มีพระปรีชาเฉียบแหลม เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานให้แก่ผีเสื้อน้ำเล่า (พระราชาตรัสโทษของพระกนิษฐาภาดาว่า) [๒๓๖] อนุชาใดของโยมผู้ยังชนบทให้เจริญ นำโยมกลับพระราชมณเฑียรและครอบงำ นำทรัพย์จากราชสมบัติอื่นมาให้เป็นจำนวนมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)

[๒๓๗] อนุชานั้นประเสริฐกว่านายขมังธนูทั้งหลาย กล้าหาญ และมีปัญญาเฉียบแหลม ยังเป็นเด็ก แต่ดูหมิ่นโยมว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงเป็นสุขเพราะเรา [๒๓๘] พระแม่เจ้า เขาไม่มาแม้สู่ที่บำรุงของโยมเหมือนก่อน เพราะโทษนั้น โยมจะพึงให้อนุชาแก่ผีเสื้อน้ำ (เภรีปริพาชิกาบอกคุณของพระสหายนั้นว่า) [๒๓๙] มหาบพิตรและธนุเสขกุมาร ทั้ง ๒ กำเนิดราตรีเดียวกัน ทั้ง ๒ เกิดในพระนครนี้ เป็นชาวปัญจาลนคร เป็นสหายกันมีวัยเสมอกัน [๒๔๐] กุมารนั้นติดตามมหาบพิตรท่องเที่ยวไป ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมหาบพิตร มีความขยันขวนขวายในราชกิจทุกอย่างของมหาบพิตร ทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานสหายให้ผีเสื้อน้ำเสียเล่า (พระราชาตรัสโทษของพระสหายว่า) [๒๔๑] พระแม่เจ้า ธนุเสขกุมารนี้หัวเราะดังกับโยม เมื่อท่องเที่ยวไปกับโยม แม้วันนี้เขาก็ยังหัวเราะดังเกินขอบเขตแบบนั้น [๒๔๒] พระแม่เจ้า โยมแม้กำลังปรึกษากับพระเทวีอยู่ในที่รโหฐาน ธนุเสขกุมารยังมิทันบอกกล่าว ยังมิทันให้โยมรู้ตัวก่อน ก็พรวดพราดเข้าไป [๒๔๓] เขาได้ช่อง ได้โอกาส เพราะโทษนั้น โยมจึงจะให้สหายผู้ไม่มีความละอาย ไม่เอื้อเฟื้อแก่ผีเสื้อน้ำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)

(เภรีปริพาชิกาบอกคุณของเกวัฏฏปุโรหิตว่า) [๒๔๔] ท่านเกวัฏฏปุโรหิตเป็นผู้ฉลาดในนิมิตทุกอย่าง รู้สำเนียงเสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง เชี่ยวชาญในคัมภีร์พระเวท เชี่ยวชาญในเรื่องลางบอกเหตุ ในความฝัน ชำนาญในการหาฤกษ์ยาม ในการเคลื่อนพลและเข้าประชิด [๒๔๕] สามารถรู้โทษและคุณทั้งในภาคพื้นดินและอากาศ เป็นผู้ฉลาดในคลองแห่งนักษัตร เพราะโทษอะไร มหาบพิตรจึงจะประทานปุโรหิตพราหมณ์ ให้แก่ผีเสื้อน้ำเสียเล่า (พระราชาตรัสโทษของปุโรหิตพราหมณ์ว่า) [๒๔๖] พระแม่เจ้า แม้ท่ามกลางบริษัท ปุโรหิตพราหมณ์ก็ลืมตาจ้องมองโยม เพราะเหตุนั้น โยมจะให้ปุโรหิตผู้หยาบช้า คล้ายกับเลิกคิ้วมองดูโยมแก่ผีเสื้อน้ำเสีย (เภรีปริพาชิกาทูลถามต่อไปอีกว่า) [๒๔๗] พระองค์ทรงครอบครองแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขต มีสาครล้อมรอบประดุจต่างหู ทรงมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม [๒๔๘] ทรงมีแคว้นกว้างใหญ่ไพศาล มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงพิชิตสงคราม มีพลานุภาพมาก ทรงเป็นเอกราชเหนือพื้นปฐพี มหาบพิตรทรงมีพระอิสริยยศอันไพบูลย์ [๒๔๙] ทรงมีเหล่านารีจากชนบทต่างๆ ถึง ๑๖,๐๐๐ นาง ล้วนประดับด้วยแก้วมุกดาและต่างหูแก้วมณี งามเปรียบได้กับเทพกัญญา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๖. ติงสตินิบาต]

๗. ทกรักขสชาดก (๕๑๗)

[๒๕๐] ขอถวายพระพรพระบรมกษัตริย์ ชีวิตยืนยาวที่เพียบพร้อมด้วยองค์สมบัติทุกอย่างนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นที่รักของคนที่มีความสุข ผู้เพียบพร้อมด้วยสมบัติ ที่น่าปรารถนาทุกอย่าง [๒๕๑] เมื่อเป็นเช่นนั้น เรื่องอะไรหรือเหตุไฉน มหาบพิตรจึงทรงสละ พระชนม์ชีพที่สละได้ยาก คอยตามป้องกันบัณฑิตเล่า (พระราชาตรัสบอกคุณของมโหสธบัณฑิตว่า) [๒๕๒] พระแม่เจ้า เพราะท่านมโหสธแม้มาสู่เงื้อมมือโยมแล้ว โยมยังไม่ทราบถึงความชั่วของท่านปราชญ์แม้สักเพียงอณูหนึ่ง [๒๕๓] ถึงแม้ว่าโยมจะต้องตายไปก่อนในกาลไรๆ ก็ตาม ท่านมโหสธก็จะพึงช่วยลูกและหลานของโยมให้มีความสุข [๒๕๔] ท่านมโหสธเห็นแจ่มแจ้งประโยชน์ทุกประการ ทั้งอนาคตและปัจจุบัน โยมจะไม่ยอมให้ท่านมโหสธ ผู้ไม่เคยทำความผิดแก่ผีเสื้อน้ำ (เภรีปริพาชิกาเชิญชาวพระนครมากล่าวว่า) [๒๕๕] ชาวปัญจาละทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงสดับพระดำรัสของพระเจ้าจูฬนีนี้ พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพที่สละได้ยาก คอยตามป้องกันบัณฑิต [๒๕๖] พระเจ้าปัญจาละทรงสละชีวิตของพระชนนี พระมเหสี พระกนิษฐภาดา พระสหาย และพราหมณ์ปุโรหิต และแม้ของพระองค์เองรวมเป็น ๖ คน [๒๕๗] ปัญญาให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่หลวง เป็นธรรมชาติละเอียดอ่อน เป็นเหตุให้เกิดแต่สิ่งที่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และเพื่อความสุขในสัมปรายภพด้วยประการฉะนี้
ทกรักขสชาดกที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๗๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๗๒-๕๗๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=517              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=9703&Z=9786                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2372              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2372&items=15              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=5811              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2372&items=15              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=5811                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja517/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :