ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)
ว่าด้วยสังกิจจฤๅษี
(พระศาสดาทรงปรารภพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาต จึงตรัสสังกิจจชาดกนี้ว่า) [๖๙] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัต ผู้ทรงเป็นจอมทัพประทับนั่งอยู่ จึงได้กราบทูลท้าวเธอให้ทรงทราบว่า “พระองค์ทรงเอ็นดูท่านผู้ใด [๗๐] ท่านผู้นี้ คือ สังกิจจฤๅษี ผู้ได้รับสมมติว่า เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลาย ได้มาถึงแล้ว ขอเชิญพระองค์รีบเสด็จออกไปพบ ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยด่วนเถิด พระเจ้าข้า” [๗๑] ลำดับนั้น พระราชาผู้จอมทัพ รีบเสด็จขึ้นประทับราชรถที่เทียมไว้แล้ว มีหมู่มิตรและอำมาตย์ห้อมล้อมได้เสด็จไปแล้ว [๗๒] พระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี ทรงเก็บราชกกุธภัณฑ์ ๕ ประการ คือ ๑. พัดวาลวีชนี ๒. กรอบพระพักตร์ ๓. พระขรรค์ ๔. เศวตฉัตร ๕. ฉลองพระบาท [๗๓] พระราชาทรงวางเบญจกกุธภัณฑ์ไว้อย่างปกปิดแล้ว เสด็จลงจากราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปหาสังกิจจฤๅษี ซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน [๗๔] พระราชาพระองค์นั้นครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว ทรงบันเทิงอยู่กับฤๅษีสนทนาปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วเสด็จเข้าไป ณ ที่สมควร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๗๕] ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว เมื่อทรงเห็นว่าเป็นกาลอันสมควร จึงทรงสอบถามถึงกรรมอันเป็นบาปว่า [๗๖] โยมขอถามท่านสังกิจจฤๅษีผู้ได้รับสมมติว่า เป็นคนดีกว่าฤๅษีทั้งหลายซึ่งนั่งอยู่ ณ ทายปัสสอุทยาน ห้อมล้อมไปด้วยหมู่ฤๅษีว่า [๗๗] คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย เหมือนโยมผู้ประพฤติล่วงธรรม ละไปแล้วจะไปสู่คติอะไร ขอพระคุณเจ้าจงตอบเนื้อความที่โยมถามเถิด [๗๘] สังกิจจฤๅษีได้กราบทูลพระราชาผู้ทรงผดุงรัฐให้เจริญแก่ชาวกาสี ซึ่งประทับนั่ง ณ ทายปัสสอุทยานว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ทรงสดับคำของอาตมภาพ [๗๙] ผู้ใดพร่ำสอนบอกหนทางแก่คนเดินทางผิด ถ้าเขาพึงทำตามคำของผู้นั้น เขาก็ไม่พึงถูกหนามตำฉันใด [๘๐] ผู้ใดพร่ำสอนธรรมแก่ผู้ปฏิบัติผิดธรรม ถ้าเขาพึงทำตามคำสอนของท่านผู้นั้น เขาจะไม่พึงไปสู่ทุคติฉันนั้นเหมือนกัน (ฤๅษีโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาต่อไปว่า) [๘๑] ข้าแต่มหาราช ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย๑- ส่วนอธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ไม่ปลอดภัย เพราะว่าอธรรมนำสัตว์ไปสู่นรก ส่วนธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติ @เชิงอรรถ : @ ธรรมชื่อว่าเป็นทางที่ปลอดภัย ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (กายกรรม ๓ คือ เว้นจากการ @ฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, วจีกรรม ๔ คือเว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูด @ส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ, มโนกรรม ๓ คือไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่คิดปองร้ายเขา @เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) เป็นทางเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า ดำเนินไปสู่สุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๑/๑๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๘๒] ข้าแต่มหาบพิตร คนผู้ประพฤติล่วงธรรมทั้งหลาย มีชีวิตไม่ราบรื่น ตายไปแล้วจะไปสู่คติใดในนรก ขอพระองค์ทรงสดับการกล่าวถึงนรกเหล่านั้นของอาตมภาพเถิด [๘๓] คือ ๑. สัญชีวนรก ๒. กาฬสุตตนรก ๓. สังฆาฏนรก โรรุวนรก ๒ คือ (๔. ชาลโรรุวนรก ๕. ธูมโรรุวนรก) ๖. ตาปนนรก ๗. ปตาปนนรก ๘. อเวจีมหานรก๑- [๘๔] นรก ๘ ขุมเหล่านี้บัณฑิตกล่าวว่า ก้าวพ้นได้โดยยาก เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ผู้มีกรรมหยาบช้า แต่ละขุมๆ มีอุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นบริวาร @เชิงอรรถ : @ มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้มีคำแปลและความหมาย ดังนี้ @๑. สัญชีวนรก นรกที่ตายแล้วฟื้น หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกสับถูกฟันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว @กลับฟื้นขึ้นมาบ่อยๆ @๒. กาฬสุตตนรก นรกสายบรรทัดเหล็ก หมายถึงสัตว์นรกวิ่งไปบนแผ่นเหล็กแดง ถ้าล้มลง จะถูก @ดีดด้วยสายบรรทัดเหล็กแดง @๓. สังฆาฏนรก นรกที่ถูกบดหรือหนีบ หมายถึงมีภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟกลิ้งมาบดขยี้สัตว์ในนรกนี้ @๔. ชาลโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะเปลวไฟ หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพุ่งวูบเข้าทางทวารทั้ง ๙ @เผาสัตว์นรกตลอดเวลา @๕. ธูมโรรุวนรก นรกที่สัตว์ร้องไห้เพราะควันไฟ หมายถึงนรกที่มีควันไฟรมสัตว์นรกทางทวารทั้ง ๙ @อยู่ตลอดเวลา @๖. ตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อน หมายถึงพวกสัตว์นรกในนรกนี้จะถูกแทงด้วยหลาวเหล็กเท่า @ลำตาลลุกเป็นไฟ @๗. ปตาปนนรก นรกที่ทำให้ร้อนมาก หมายถึงสัตว์นรกในนรกนี้ถูกไล่ตีหนีขึ้นไปบนภูเขา บนกำแพง @ที่ร้อน ตกลงมาถูกหลาวเหล็กเสียบแทง @๘. อเวจีมหานรก นรกที่ไม่มีเวลาว่าง หมายถึงนรกที่มีเปลวไฟพลุ่งออกมาจากทิศทั้ง ๔ เผาสัตว์นรก @อยู่ตลอดเวลา @มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้แต่ละขุมมีประตู ๔ ด้าน ประตูหนึ่งๆ มีอุสสุทนรก (นรกบริวาร) ด้านละ ๔ @มหานรกขุมหนึ่งๆ จึงมีอุสสทนรก ๑๖ แห่ง มหานรก ๘ ขุมมีอุสสทนรก ๑๒๘ รวมกับมหานรก ๘ @เป็น ๑๓๖ ขุม (ขุ.ชา.อ. ๘/๘๓-๘๔/๑๑๗-๑๒๐) ดูการทำกรรมและวิธีเสวยผลกรรมต่างๆ จากเนมิราช- @ชาดก ชาดกที่ ๔ ในมหานิบาต (ข้างหน้า) (ขุ.ชา. ๒๘/๔๒๑-๕๘๙/๑๖๖-๑๘๗) (ขุ.ชา.อ. ๙/๔๒๑-๕๘๙/ @๑๕๑-๒๐๙) และดูเทวทูตสูตรใน ม.อุ. ๑๔/๒๖๑-๒๗๑/๒๓๐-๒๔๐, ม.อุ.อ. ๓/๒๖๑-๒๗๑/๑๖๗-๑๗๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๘๕] เป็นนรกที่โหดร้าย เผาผลาญเหล่าสัตว์ ผู้ตระหนี่เหนียวแน่นให้เร่าร้อน เป็นมหาภัย มีเปลวไฟลุกโพลง น่าขนพองสยองเกล้า น่าสะพรึงกลัว มีภัยเฉพาะหน้า มีแต่ทุกข์ [๘๖] มี ๔ มุม มีประตู ๔ ด้าน จัดไว้เหมาะสมตามสัดส่วน มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ มีเหล็กครอบไว้ด้วย [๘๗] ภาคพื้นของนรกเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นเหล็ก มีไฟลุกโชน มีความร้อนแผ่ซ่านไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ในกาลทุกเมื่อ [๘๘] คนผู้กล่าวล่วงเกินฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวม ผู้มีตบะเหล่านั้น ย่อมตกนรก มีเท้าชี้ขึ้นเบื้องบน มีศีรษะปักลงเบื้องล่าง [๘๙] คนเหล่านั้นผู้มีปกติกระทำกรรมหยาบช้า มีความเจริญถูกขจัดแล้ว เหมือนปลาที่ถูกเฉือนออกเป็นชิ้นๆ ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีนับไม่ถ้วน [๙๐] มีกายถูกไฟเผาไหม้ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่เป็นนิตย์ แสวงหาทางออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออก [๙๑] จึงวิ่งไปทางประตูด้านทิศตะวันออก จากนั้นก็วิ่งกลับไปทางประตูด้านทิศตะวันตก วิ่งไปแม้ทางประตูด้านทิศเหนือ จากนั้นจึงวิ่งกลับไปยังประตูด้านทิศใต้ วิ่งไปถึงประตูใดๆ ประตูนั้นๆ ก็ปิดทันที [๙๒] นับเป็นเวลาหลายพันปี ชนทั้งหลายที่ตกนรก ต้องประคองแขนคร่ำครวญ เสวยทุกข์มิใช่น้อย [๙๓] เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควรระรานคนดี เพราะท่านมีความสำรวม มีตบะ ประดุจอสรพิษมีพิษกล้าที่โกรธแล้วหลีกเลี่ยงได้ยาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๙๔] พระเจ้าอัชชุนะทรงเป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ มีพระวรกายกำยำล่ำสัน ทรงเป็นนายขมังธนูผู้ยิ่งใหญ่ มีพระพาหาตั้งพัน ก็หายสาบสูญไปเพราะระรานโคตมฤๅษี [๙๕] พระเจ้าทัณฑกีได้ทรงเอาธุลีโปรยใส่กีสวัจฉฤๅษี ผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังธุลี พระองค์ทรงถึงความพินาศเหมือนต้นตาลถูกตัดราก [๙๖] พระเจ้ามัชฌะคิดร้ายมาตังคฤๅษีผู้เรืองยศ จึงได้หายสาบสูญไปพร้อมทั้งบริษัท แคว้นของพระองค์ก็กลายเป็นป่าไม้ในกาลนั้น [๙๗] ชาวเมืองอันธกเวณฑยะระรานกัณหทีปายนฤๅษี ต่างถือไม้พลองตีกันและกัน ก็พากันไปถึงสถานที่ชำระโทษของพญายม [๙๘] ส่วนพระเจ้าเจจจะพระองค์นี้ เมื่อก่อนทรงเหาะไปในอากาศได้ ถูกกบิลดาบสสาปมีอัตภาพเสื่อมสิ้นฤทธิ์แล้ว ถูกแผ่นดินสูบถึงสิ้นพระชนม์ [๙๙] เพราะเหตุนั้นแหละ บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่สรรเสริญ การถึงความลำเอียงเพราะความชอบ บุคคลไม่พึงมีจิตคิดประทุษร้าย พึงกล่าววาจาที่ประกอบด้วยความจริง [๑๐๐] ถ้าว่าคนใดมีใจประทุษร้าย เพ่งเล็งมุนีผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เขาก็จะไปสู่นรกเบื้องต่ำ [๑๐๑] ชนเหล่าใดพยายามพูดคำหยาบคาย ด่าว่าผู้เฒ่า ชนเหล่านั้นจะไม่มีที่พึ่ง ไม่มีทายาท เป็นเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๑๐๒] อนึ่ง คนใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ คนนั้นย่อมหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน [๑๐๓] อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดไม่ตั้งอยู่ในธรรม ทรงมีอคติ เที่ยวกำจัดแคว้น ทำชนบทให้เดือดร้อน สิ้นพระชนม์แล้วจะหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก [๑๐๔] และท้าวเธอจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปีทิพย์๑- จะถูกกลุ่มเปลวเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา [๑๐๕] เปลวเพลิงจะเปล่งรัศมีพวยพุ่งออกจากพระกายของท้าวเธอ สรรพางค์กายพร้อมทั้งขนและเล็บทั้งหลายของสัตว์ ผู้มีไฟเป็นอาหารจะลุกโชนเป็นอันเดียวกัน [๑๐๖] สัตว์นรกมีกายถูกไฟครอกทั้งภายในและภายนอกอยู่เป็นนิตย์ ถูกความทุกข์ย่ำยีร้องครวญครางอยู่เหมือนช้างถูกสับด้วยตะขอ [๑๐๗] คนใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่าบิดาเพราะความโลภหรือความโกรธ คนนั้นย่อมหมกไหม้ในกาฬสุตตนรกตลอดราตรีนาน [๑๐๘] คนผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีนรก และนายนิรยบาลทั้งหลายจะใช้หอกแทงเขาผู้ถูกต้มจนไม่มีหนัง ทำให้ตาบอด ให้กินปัสสาวะและอุจจาระเป็นอาหาร แล้วกดคนเช่นนั้นให้จมลงในน้ำกรด [๑๐๙] นายนิรยบาลบังคับให้สัตว์นรกกินน้ำอุจจาระ ที่ร้อนจนเดือดพล่าน และก้อนเหล็กแดงที่มีไฟลุกโชน ถือเอาผาลที่ยาวและร้อนอยู่ตลอดราตรีนาน งัดปาก เมื่อปากเปิดอ้าจึงใช้เบ็ด ที่ผูกสายเชือก(ดึงลิ้นออกมา) แล้วจึงยัด(เหล็กแดง)เข้าไป @เชิงอรรถ : @ หนึ่งแสนปีทิพย์ ประมาณ ๕๕,๘๗๒ ล้านปีมนุษย์ (คำนวณตามประมาณอายุ)(อภิ.วิ.อ. ๑/๑๐๒๓/๕๖๖-๕๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๑๑๐] ฝูงสุนัขดำ ฝูงสุนัขด่าง ฝูงนกแร้ง ฝูงกาป่า และฝูงนกปากเหล็ก พากันรุมจิกกัดสัตว์นรกผู้กำลังดิ้นทุรนทุราย แบ่งกันกินเป็นอาหารพร้อมทั้งเลือด [๑๑๑] สัตว์นรกผู้ฆ่าบิดานั้นมีร่างกายแตกปริไปทั่ว เหมือนต้นตาลที่ถูกไฟไหม้ นายนิรยบาลทั้งหลายจะเที่ยวติดตามทุบตี จริงอยู่ นายนิรยบาลเหล่านั้นมีความยินดี แต่พวกสัตว์นรกนอกนี้ได้รับทุกข์ทรมาน คนผู้ฆ่าบิดาทุกจำพวกในโลกนี้ต้องตกอยู่ในนรกเช่นนั้น [๑๑๒] อนึ่ง บุตรฆ่ามารดา ตายจากโลกนี้ไปแล้ว เข้าถึงที่อยู่ของพญายม ต้องเสวยทุกข์อย่างร้ายแรงด้วยผลกรรมของตน [๑๑๓] นายนิรยบาลทั้งหลายที่มีพละกำลังอย่างยิ่ง จะใช้ขนหางสัตว์ที่เป็นลวดเหล็กแดง มัดบีบคั้นสัตว์นรกที่ฆ่ามารดาผู้ให้กำเนิดอยู่เสมอๆ [๑๑๔] บังคับให้สัตว์นรกนั้นผู้ฆ่ามารดาดื่มเลือดที่มีอยู่ในตน ที่ไหลออกจากร่างกายของตน ซึ่งร้อนปานประหนึ่งน้ำทองแดงที่ละลายคว้าง [๑๑๕] สัตว์นรกนั้นลงสู่ห้วงน้ำที่คล้ายน้ำหนองน้ำเลือด มีโคลนตม คูถอันน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็นเน่าดุจซากศพ แล้วยืนอยู่ [๑๑๖] ณ ห้วงน้ำนั้น หมู่หนอนปากเหล็ก มีร่างกายใหญ่โตเหลือประมาณทำลายผิวหนัง ชอนไชเข้าไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๑๑๗] ก็สัตว์นรกนั้นตกถึงนรกแล้ว ก็จมลงไปประมาณ ๑๐๐ ช่วงคน ซากศพอันเน่าก็เหม็นฟุ้งตลบไปโดยรอบตลอด ๑๐๐ โยชน์ [๑๑๘] จริงอยู่ แม้คนที่มีจักษุ ก็จะเสื่อมจากจักษุทั้ง ๒ ได้เพราะกลิ่นนั้น ขอถวายพระพรพระเจ้าพรหมทัต คนฆ่ามารดาย่อมได้รับความทุกข์เช่นนั้นแหละ [๑๑๙] หญิงที่รีดลูกทั้งหลายจะต้องย่างเหยียบนรก บนคมมีดโกนอันคมกริบที่ไม่น่ารื่นรมย์ แล้วตกไปยังแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยาก [๑๒๐] ต้นงิ้วทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็ก มีหนามยาว ๑๖ องคุลี ห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำเวตตรณีซึ่งข้ามไปได้ยากทั้ง ๒ ฝั่ง [๑๒๑] สัตว์นรกเหล่านั้นมีเปลวเพลิงลุกโชนขึ้นไปเบื้องบนหนึ่งโยชน์ มีกายเร่าร้อนด้วยไฟที่เกิดเอง ยืนอยู่เหมือนกองไฟที่ตั้งอยู่ในที่ไกล [๑๒๒] หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี ชายผู้คบชู้กับภรรยาคนอื่นก็ดี พวกเขาเหล่านั้นต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อนมีหนามแหลมคม [๑๒๓] สัตว์นรกเหล่านั้นถูกอาวุธทิ่มแทง ก็กลิ้งกลับเอาศีรษะลงเบื้องล่าง ตกลงไปเป็นจำนวนมาก ถูกหลาวเหล็กทิ่มแทงร่างกายจนนอน ตื่นอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน [๑๒๔] ต่อแต่นั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว สัตว์นรกทั้งหลายก็ถูกนายนิรยบาลซัดเข้าไปยังโลหกุมภีอันใหญ่ อุปมาดังภูเขามีน้ำร้อนอันเปรียบได้กับไฟ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

๒. สังกิจจชาดก (๕๓๐)

[๑๒๕] บุคคลผู้ทุศีลถูกโมหะครอบงำ ย่อมเสวยกรรมของตนหมกไหม้อยู่ ที่ตนกระทำชั่วไว้แล้วในปางก่อนตลอดวันตลอดคืนอย่างนี้ [๑๒๖] อนึ่ง ภรรยาที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์ ดูหมิ่นสามี หรือแม่ผัว พ่อผัว หรือแม้พี่ชาย พี่สาวของสามี [๑๒๗] นายนิรยบาลทั้งหลายจะเอาเบ็ดเกี่ยวปลายลิ้นของเธอ ดึงออกมาพร้อมทั้งสายเบ็ด เธอเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไปด้วยหนอน ไม่อาจจะบอกใครให้ทราบได้ จึงตายไปหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก [๑๒๘] พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร จับปลา ดักสัตว์ พวกโจร พวกคนฆ่าวัว พวกนายพราน และพวกที่กล่าวอ้างโทษว่าเป็นคุณ [๑๒๙] พวกเขาจะถูกนายนิรยบาลทั้งหลายเข่นฆ่าด้วยหอก ด้วยค้อนเหล็ก ด้วยดาบ ด้วยลูกศร และศีรษะจะปักดิ่งลงไปยังแม่น้ำกรด [๑๓๐] ส่วนคนผู้ตัดสินคดีไม่เป็นธรรม จะถูกพวกนายนิรยบาลทุบตีด้วยค้อนเหล็กทุกเย็นทุกเช้า ต่อแต่นั้นจะต้องกินอาเจียนที่สัตว์นรกเหล่าอื่นคายออก ที่มีอัตภาพลำบากทุกเมื่อ [๑๓๑] ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอก ฝูงแร้ง และฝูงกาป่าปากเหล็ก ก็พากันรุมจิกกัดกินสัตว์นรก ผู้กระทำกรรมหยาบช้าซึ่งกำลังดิ้นรนอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๙. สัฏฐินิบาต]

รวมชาดกที่มีในนิบาต

[๑๓๒] เหล่าชนผู้เป็นอสัตบุรุษใช้ธุลีฉาบปกปิดร่างกาย ฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อหรือฆ่านกด้วยนกต่อ ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก [๑๓๓] ส่วนสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกเบื้องบน เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วในโลกนี้ ขอมหาบพิตรโปรดทอดพระเนตร ผลกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วเถิด เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมก็มีอยู่ [๑๓๔] ข้าแต่มหาราช เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอถวายพระพร ขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้น จงทรงประพฤติธรรม โดยประการที่บุคคลประพฤติธรรมดีแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลังเถิด
สังกิจจชาดกที่ ๒ จบ
รวมชาดกที่มีในนิบาตนี้
๑. โสณกชาดก ๒. สังกิจจชาดก
สัฏฐินิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๕๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๔๕-๕๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=5              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=595&Z=732                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=90              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=90&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=2118              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=90&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=2118                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja530/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :