ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
๑. วัตถุคาถา๑-
เรื่องพราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา
[๑] พราหมณ์พาวรี ผู้เรียนจบมนตร์ ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศล อันรื่นรมย์ ไปสู่ทักขิณาปถชนบท [๒] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะกับแคว้นมุฬกะต่อกัน (เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ [๓] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์ ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๙๘๓-๑๐๓๘/๕๒๔-๕๓๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๔] ท่านบูชามหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว พราหมณ์อีกคนหนึ่ง ก็เดินทางมาถึง [๕] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ [๖] พราหมณ์พาวรีเห็นเขาแล้วก็เชิญให้นั่ง ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า [๗] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด เราสละไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย [๘] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า) ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่ ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง [๙] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก แสดงท่าทาง(หลอกลวง) กล่าวคำที่น่ากลัว พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์ [๑๐] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงแล้ว ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน [๑๑] เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์ เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่ จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๑๒] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้นเป็นคนโกหก เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป [๑๓] (พราหมณ์พาวรีคิดว่า) เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้ (จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน [๑๔] (เทวดากล่าวว่า) แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น [๑๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ รู้จักศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด [๑๖] (เทวดากล่าวว่า) พระโอรสของเจ้าศากยะ เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๑๗] (เทวดากล่าวว่า) พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ [๑๘] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระพุทธเจ้าในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด พระองค์จักทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่านได้ [๑๙] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า ก็เบิกบานใจ ความเศร้าโศกก็เบาบางลง และได้รับปีติเปี่ยมล้น [๒๐] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ เกิดความปลาบปลื้มใจ จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น (และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกประทับอยู่ ณ ที่ไหน จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม พวกเราพึงไปเข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย [๒๑] (เทวดากล่าวว่า) เจ้าศายกบุตรพระองค์นั้น ผู้ทรงชนะมาร มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของพระเจ้าโกศลเขตกรุงสาวัตถี {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๒๒] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า มาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา [๒๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวต่อไปว่า) ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนืองๆ ในโลกนั่นหาได้ยาก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เสด็จอุบัติในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า พวกเธอจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย [๒๔] (มาณพทั้งหลายถามว่า) ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าพวกข้าพเจ้าพบแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์ แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด [๒๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า) ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับ [๒๖] บุคคลใดมีมหาปุริสลักษณะเหล่านั้นอยู่ในตัว บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย [๒๗] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงครอบครองแผ่นดินนี้ ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๒๘] แต่ถ้าบุคคลนั้น ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑- อันเปิดแล้ว [๒๙] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้นถึงชาติ โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่นๆ ศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป [๓๐] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้ เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา [๓๑] ครั้นฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู [๓๒] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต [๓๓] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี [๓๔] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน เป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น @เชิงอรรถ : @ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา พระผู้มีพระภาค @ทรงเผากิเลสเหล่านี้ด้วยไฟคือญาณ (ดูรายละเอียดในข้อ ๑๑๘/๓๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๓๕] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ อภิวาทพราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว ต่างออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอุดร [๓๖] สู่สถานที่ตั้งแคว้นมุฬกะ กรุงมาหิสสติในกาลนั้น กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยา๑- [๓๗] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา [๓๘] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ และปาสาณกเจดีย์ อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ [๓๙] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา เหมือนคนกระหายน้ำรีบหาน้ำเย็นดื่ม เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา [๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า [๔๑] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ [๔๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า @เชิงอรรถ : @ วนสวหยา มีชื่ออีก ๒ อย่าง คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๐๑๘/๔๓๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๔๓] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า) ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด ถึงชาติ โคตร พร้อมด้วยลักษณะ ขอโปรดตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร [๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ๑- ๓ อย่างอยู่ในตัว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท๒- [๔๕] พราหมณ์นั้นถึงความสำเร็จ ในลักษณะมนตร์๓- และประวัติศาสตร์๔- พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๕- และเกฏุภศาสตร์๖- ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์ ๕๐๐ คน [๔๖] (อชิตมาณพทูลถามว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้ ขอพระองค์โปรดประกาศความเด่นชัด แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย @เชิงอรรถ : @ ลักษณะ หมายถึงมหาปุริสลักษณะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๒๖-๑๐๒๗/๔๓๒) @ ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ คัมภีร์ คือฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท @ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้ @ มนตร์ ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวดๆ เรียกชื่อว่า ฤคเวท @ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท @ ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่าๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้ @ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์ @(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย @เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า @นิฆัณฏุ (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔) @ เกฎุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นส่วน @หนึ่งของกัลปะซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ @(ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า) พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้ มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้ [๔๘] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ ก็ปลาบปลื้มใจ ประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่างๆ ว่า [๔๙] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม หรือพระอินทร์ผู้สุชัมบดีเมื่อถามปัญหาด้วยใจ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกปัญหานั้นกับใครเล่า [๕๐] (อชิตมาณพกราบทูลว่า) พราหมณ์พาวรีถามถึงเรื่องศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด [๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะเป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป [๕๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพ มีความปลาบปลื้มใจมากล้น สนับสนุนแล้ว พาดหนังเสือเฉวียงบ่า ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท (แล้วกราบทูลต่อไปว่า) [๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค]

๑. วัตถุคาถา

[๕๔] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) ขอพราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ จงมีความสุขและแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ [๕๕] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี แก่เธอ และมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งก็จงถามเถิด [๕๖] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปัญหาข้อแรกกับพระตถาคต ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุคาถาจบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า : ๑๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๐ หน้าที่ ๑-๑๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=30&siri=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=30&A=1&Z=169                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=30&i=1              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=30&item=1&items=56              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=30&item=1&items=56                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu30              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://www.ancient-buddhist-texts.net/Texts-and-Translations/Parayanavagga/Parayanavaggo-00-Introduction.htm



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :