ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติสรณคมนิยเถระ
(พระติสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๐๖] ข้าพเจ้าเป็นคนเลี้ยงดูมารดาและบิดาอยู่ในกรุงจันทวดี มารดาและบิดาของข้าพเจ้าเป็นคนตาบอด ข้าพเจ้าเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ อยู่ในครั้งนั้น [๑๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในที่สงัดจึงคิดอย่างนี้ว่า เราเลี้ยงดูมารดาและบิดาอยู่ จึงไม่ได้บวช [๑๐๘] มวลมนุษย์ถูกความมืดมนอนธการปิดบังไว้แล้ว ถูกไฟ ๓ กองแผดเผาอยู่ เมื่อเกิดความเป็นเช่นนี้ขึ้นแล้ว ไม่มีใครจะเป็นผู้แนะนำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน

[๑๐๙] บัดนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ประกาศคำสั่งสอนให้รุ่งเรือง สัตว์ผู้ใคร่บุญอาจเพื่อจะถอนตนขึ้นได้ [๑๑๐] ข้าพเจ้ารับสรณะ ๓ แล้ว รักษาให้บริบูรณ์ ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงพ้นทุคติได้ [๑๑๑] ข้าพเจ้าได้เข้าไปหาสมณะนามว่านิสภะ ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วรับสรณคมน์ [๑๑๒] ครั้งนั้น เหล่าสัตว์มีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ข้าพเจ้าได้รักษาสรณคมน์ให้บริบูรณ์ตลอดระยะเวลาเท่านั้น [๑๑๓] เมื่อจิตดวงสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพเจ้าระลึกถึงสรณคมน์นั้นได้แล้ว ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๑๔] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในเทวโลกได้ประกอบแต่บุญกรรม ไปถึงภูมิประเทศใดๆ ย่อมได้เหตุ ๘ ประการ ในภูมิประเทศนั้นๆ [๑๑๕] คือ (๑) ข้าพเจ้าได้รับการบูชาทุกทิศ (๒) เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม (๓) เทวดาทั้งปวงย่อมประพฤติตาม (๔) ได้โภคสมบัตินับไม่ถ้วน [๑๑๖] (๕) เป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ (๖) เป็นผู้มีไหวพริบในทุกเรื่อง (๗) เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อมิตร (๘) มียศฟุ้งขจรไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน

[๑๑๗] ข้าพเจ้าเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข [๑๑๘] ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๑๑๙] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าประกอบแต่บุญกรรม ได้เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลมั่งคั่งที่สุดในกรุงสาวัตถี [๑๒๐] เวลาเย็น (วันหนึ่ง) ข้าพเจ้าต้องการจะเล่น จึงออกจากนคร มีพวกเด็กๆ ห้อมล้อม เข้าไปยังสังฆาราม [๑๒๑] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบสมณะรูปหนึ่งผู้หลุดพ้น ไม่มีอุปธิ ท่านแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า และได้ให้สรณะแก่ข้าพเจ้า [๑๒๒] ข้าพเจ้านั้นฟังสรณะแล้ว ระลึกถึงสรณะของข้าพเจ้าได้ นั่งอยู่บนอาสนะเดียวได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว [๑๒๓] ข้าพเจ้าเกิดได้ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงรู้คุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว จึงประทานอุปสมบทให้ [๑๒๔] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้ถึงสรณะทั้งหลาย กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วเพียงนั้น แสดงผลแก่ข้าพเจ้าในอัตภาพสุดท้ายนี้ [๑๒๕] สรณะข้าพเจ้า ก็รักษาไว้ดีแล้ว ใจข้าพเจ้า ก็ได้ตั้งไว้มั่นแล้ว ข้าพเจ้าจึงเสวยยศทุกอย่างแล้ว ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว(คือนิพพาน) [๑๒๖] บรรดาท่านที่ต้องการจะฟังจงฟังข้าพเจ้ากล่าว ข้าพเจ้าจักบอกบทอันเป็นประโยชน์ที่ข้าพเจ้าเห็นเองแก่ท่านทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค]

๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน

[๑๒๗] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ศาสนาของพระชินเจ้าแผ่ไปอยู่ พระองค์ทรงลั่นอมตเภรีบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกได้ [๑๒๘] ท่านทั้งหลายควรทำอธิการ๑- ในนาบุญที่ยอดเยี่ยมตามกำลังของตน ท่านทั้งหลายจักพบพระนิพพาน [๑๒๙] ท่านทั้งหลายจงรับสรณะ ๓ จงรักษาศีล ๕ ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้ [๑๓๐] พวกท่านทุกคนจงถือข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง รักษาศีลแล้วก็จักบรรลุอรหัตตผลได้โดยไม่นานเลย [๑๓๑] (พระติสรณคมนิยเถระกราบทูลว่า) ข้าพระองค์เป็นผู้ได้วิชชา ๓ มีฤทธิ์ ฉลาดในเจโตปริยญาณ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์ ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา [๑๓๒] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป ข้าพระองค์ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถึงสรณะ [๑๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระติสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติสรณคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ
@เชิงอรรถ : @ อธิการ หมายถึงการสะสมบุญอันเป็นการทำที่ยิ่ง (ขุ.อป.อ. ๒/๕/๒๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๑๓๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๑๓๕-๑๓๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=25              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=1684&Z=1731                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=25              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=25&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=1009              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=25&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=1009                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap25/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :