ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๓. สัพพกิตติกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัพพกิตติกเถระ
(พระสัพพกิตติกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๐๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรุ่งเรืองดุจดอกกรรณิการ์ ทรงโชติช่วงดุจต้นพฤกษาประทีป ทรงรุ่งโรจน์ดุจดาวประกายพรึก ดุจสายฟ้าในท้องฟ้า [๓๐๕] ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้งกลัว ดุจพญาเนื้อ ทรงประกาศแสงสว่างคือญาณ ทรงย่ำยีหมู่เดียรถีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๓. สัพพกิตติกเถราปทาน

[๓๐๖] ทรงช่วยโลกนี้ คลายความสงสัยทั้งปวงได้ไม่ครั่นคร้าม ดุจพญาราชสีห์ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว [๓๐๗] ข้าพเจ้าทรงชฎาและหนังสัตว์ เป็นใหญ่ ซื่อตรง มีความเพียร ถือเอาผ้าเปลือกปอไปปูลาดที่แทบพระบาท [๓๐๘] ข้าพเจ้านำกระลำพักมาชโลมทาพระตถาคต ครั้นชโลมทาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า [๓๐๙] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ทรงข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกนี้ ทรงโชติช่วง ด้วยแสงสว่างแห่งพระญาณ พระญาณ(ของพระองค์)ประเสริฐสุด [๓๑๐] พระองค์ทรงประกาศธรรมจักร ย่ำยีเดียรถีย์อื่น เป็นผู้องอาจ ชนะสงครามแล้ว ทำแผ่นดินให้หวั่นไหว [๓๑๑] ทิฏฐิทั้งปวงย่อมแตกทำลายไปเพราะพระญาณของพระองค์ ดุจคลื่นในมหาสมุทรย่อมแตกขจายไปเพราะริมฝั่ง [๓๑๒] แหตาเล็กๆ ที่เขาเหวี่ยงลงไปในสระแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ภายในแห ย่อมถูกบีบคั้นในขณะนั้นฉันใด [๓๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเดียรถีย์ในโลกเป็นผู้หลงงมงาย ไม่อิงอาศัยสัจจะ ย่อมเป็นไปภายในพระญาณ อันประเสริฐของพระองค์ฉันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๓. สัพพกิตติกเถราปทาน

[๓๑๔] พระองค์เท่านั้นเป็นที่พึ่งของผู้ที่ถูกพัดพาไปในห้วงน้ำ เป็นที่พึ่งของผู้ไม่มีญาติ เป็นสรณะของผู้ที่มีภัย เป็นจุดมุ่งหมายของผู้ต้องการความหลุดพ้น [๓๑๕] เสด็จเที่ยวไปผู้เดียว ไม่มีใครเหมือน ทรงประกอบด้วยพระเมตตากรุณา ทรงมีปัญญาประกอบด้วยจาคะ ชำนาญ คงที่ เป็นที่อยู่แห่งคุณ [๓๑๖] เป็นนักปราชญ์ ปราศจากความหลง ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่มีความสงสัย เป็นผู้พอพระทัย ทรงคลายโทสะแล้ว ไม่มีมลทิน ทรงสำรวม มีความบริสุทธิ์ [๓๑๗] ล่วงธรรมเครื่องข้อง ปราศจากความเมา ได้วิชชา ๓ ถึงที่สุดภพ ทรงล่วงเขตแดน เป็นผู้หนักในธรรม ถึงจุดมุ่งหมายแล้ว ทรงหว่านประโยชน์เกื้อกูล [๓๑๘] ทรงช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้นเปรียบเหมือนเรือ(พาคนข้ามฟาก) ทรงมีขุมทรัพย์ ทรงทำความเบาใจ ไม่ทรงครั่นคร้ามเหมือนราชสีห์ ทรงฝึกแล้วเหมือนพญาคชสารที่ฝึกแล้ว [๓๑๙] ครั้งนั้น ครั้นข้าพเจ้าสรรเสริญพระมหามุนี พระนามว่าปทุมุตตระ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา กราบพระบาทของพระศาสดาแล้วได้ยืนนิ่งอยู่ [๓๒๐] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๓. สัพพกิตติกเถราปทาน

[๓๒๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่สรรเสริญศีล ปัญญา และธรรมของเรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๓๒๒] ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป จักครองอิสริยยศปกครองเทวดาเหล่าอื่น [๓๒๓] ภายหลังเขาบวชแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน จักบวชในศาสนา ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม [๓๒๔] ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ แล้วนิพพาน [๓๒๕] เมฆคำรนกระหึ่ม ทำแผ่นดินนี้ให้ชุ่มฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ชุ่มชื่นด้วยธรรมฉันนั้น [๓๒๖] ครั้นข้าพเจ้าเชยชมศีล ปัญญา ธรรม และพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว ได้บรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เป็นบทไม่จุติ [๓๒๗] โอหนอ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น พึงดำรงอยู่นานแน่ ข้าพเจ้าก็พึงรู้แจ้งธรรมที่ยังไม่รู้แจ้ง พึงเห็นอมตบท [๓๒๘] ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค]

๔. มธุทายกเถราปทาน

[๓๒๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ [๓๓๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงเข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๓๓๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระสัพพกิตติกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัพพกิตติกเถราปทานที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๒๓-๖๒๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=395              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=8467&Z=8519                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=395              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=395&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=395&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap395/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :