ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๗. เหมกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเหมกเถระ
(พระเหมกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๘๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่ออโนมะ อาศัยยอดเงื้อมเขาสร้างอาศรมไว้อย่างดี อยู่ในบรรณศาลา [๑๘๔] การบำเพ็ญตบะของข้าพเจ้านั้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จในพลังของตน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๗. เหมกเถราปทาน

กล้าหาญในสามัญคุณของตน มีความเพียร มีปัญญารักษาตน เป็นมุนี [๑๘๕] แกล้วกล้าในลัทธิสมัยของตน ฉลาดในการโต้ตอบ ไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ ฉลาดในลางร้ายลางดี [๑๘๖] ปราศจากความเศร้าโศก ไม่แข่งดี มีอาหารน้อย(ฉันอาหารน้อย) ไม่โลภจัด สันโดษตามมีตามได้ (ลาภาลาเภน) มีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน เป็นมุนี [๑๘๗] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เลิศ ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นมุนี พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้น(จากวัฏสงสาร) จึงทรงแผ่พระกรุณาไป [๑๘๘] พระมหามุนีทรงพระนามว่าปิยทัสสี ทรงพิจารณาเห็นคนผู้ควรตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประทานโอวาทในที่ ๑,๐๐๐ จักรวาล [๑๘๙] พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า จึงเสด็จเข้ามายังอาศรมของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระชินเจ้ามาก่อน และไม่เคยได้ฟังมาจากใครๆ [๑๙๐] ลางดีลางร้าย ความฝัน และลักษณะดีร้าย ข้าพเจ้ารู้ดีแล้ว ข้าพเจ้าไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ ฉลาดในบทนักษัตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๗. เหมกเถราปทาน

[๑๙๑] ข้าพเจ้านั้นได้ฟังข่าวพระพุทธเจ้าแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ จะยืนหรือนั่งอยู่ก็ตาม ย่อมระลึกถึงตลอดกาลเป็นนิตย์ [๑๙๒] เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงอยู่อย่างนี้ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงระลึกถึง เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้า ปีติก็เกิดขึ้นทันที [๑๙๓] พระมหามุนีทรงรอเวลาอีกหน่อยแล้ว จึงเสด็จมาหาข้าพเจ้า แม้เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักว่าผู้นี้คือพระพุทธมหามุนี [๑๙๔] พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณาทรงให้รู้จักพระองค์ว่า เราเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก [๑๙๕] ครั้นข้าพเจ้ารู้จักแน่ชัดว่า พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เป็นมหามุนีแล้ว จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้กราบทูลคำนี้ว่า [๑๙๖] นิมนต์ภิกษุทั้งปวงนั่งบนตั่ง บนบัลลังก์ และบนพนักพิง ส่วนพระองค์ผู้มีปกติเห็นเหตุทั้งสิ้น ขอเชิญประทับบนอาสนะที่รุ่งเรือง [๑๙๗] ในขณะนั้น ข้าพเจ้าเนรมิตตั่งซึ่งสำเร็จด้วยแก้วล้วนๆ แล้ว ถวายอาสนะที่เนรมิตด้วยฤทธิ์แด่พระมุนีพระนามว่าปิยทัสสี [๑๙๘] เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่ง บนตั่งแก้วที่ข้าพเจ้าเนรมิตด้วยฤทธิ์แล้ว ข้าพเจ้าได้ถวายผลหว้าโตประมาณเท่าหม้อทันที {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๗. เหมกเถราปทาน

[๑๙๙] พระมหามุนีทรงให้ความร่าเริงเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้ว ทรงเสวยแล้ว ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว ถวายอภิวาทพระศาสดา [๒๐๐] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน ประทับนั่งอยู่บนอาสนะแก้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๒๐๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายตั่งแก้วและผลซึ่งเป็นอมตะแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๒๐๒] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ [๒๐๓] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๒ ชาติ จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๒๐๔] จักได้บัลลังก์ทองคำ บัลลังก์เงิน บัลลังก์แก้วทับทิม และบัลลังก์แก้วล้วน จำนวนมาก ที่ทำอย่างสวยงาม [๒๐๕] บัลลังก์มากมายจักแวดล้อมผู้นี้ซึ่งเกิดเป็นมนุษย์ พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม แม้เดินอยู่ ทุกเมื่อ [๒๐๖] ปราสาทที่เป็นเรือนยอดและที่นอนอันควรค่ามาก ดังจะรู้จิตของผู้นี้ บังเกิดขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง [๒๐๗] ช้างพลายชาติมาตังคะ ๖๐,๐๐๐ เชือก ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง มีสายประโคนพานหน้าและพานหลังทำด้วยทอง ประกอบด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายล้วนเป็นทอง [๒๐๘] มีควาญช้างผู้ถือหอกซัดและขอขึ้นขี่ประจำ พลช้างเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๗. เหมกเถราปทาน

[๒๐๙] ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๖๐,๐๐๐ ตัว เป็นพาหนะวิ่งเร็ว ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง [๒๑๐] มีทหารม้าถือธนูสวมเกราะหนังขึ้นขี่ประจำ พลม้าเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว [๒๑๑] รถ ๖๐,๐๐๐ คัน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองบ้าง หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งบ้าง ปักธงหน้ารถ [๒๑๒] มีนายสารถีถือกริชและธนูขึ้นประจำ จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว [๒๑๓] แม่โคนม ๖๐,๐๐๐ ตัว จักตกลูกโคผู้ตัวประเสริฐ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว [๒๑๔] สตรี ๖๐,๐๐๐ คน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี [๒๑๕] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว [๒๑๖] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป) พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ผู้มีพระจักษุ ทรงกำจัดความมืดมนอนธการ จักอุบัติขึ้นในโลก [๒๑๗] ผู้นี้อาศัยการได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักตัดความกังวลออกบวช จักให้พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ยินดียิ่งอยู่ในศาสนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๗. เหมกเถราปทาน

[๒๑๘] ได้ฟังธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว จักเผากิเลสทั้งหลาย กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน [๒๑๙] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระไป เป็นความเพียรนำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ ข้าพเจ้าปรารถนาประโยชน์สูงสุด อยู่ในศาสนา [๒๒๐] นี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่ อาสวะทั้งปวงของข้าพเจ้าสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๒๒๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๒๒๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระเหมกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เหมกเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๑๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๘๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๗๘-๖๘๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=409              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=9196&Z=9266                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=409              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=409&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5446              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=409&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5446                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap409/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :