ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
๑๐. อุเทนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุเทนเถระ
(พระอุเทนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๓๓๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อปทุม ข้าพเจ้าสร้างอาศรมสร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้ [๓๓๑] ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น แม่น้ำไหลอยู่มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ แม่น้ำมีน้ำใสสะอาด เย็นสนิท ไหลอยู่เป็นนิตย์ [๓๓๒] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า และฝูงปลาตะเพียน อยู่ประจำในแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำงามทุกเมื่อ [๓๓๓] ดาษดื่นไปด้วยต้นมะม่วง ต้นหว้า อนึ่ง ต้นกุ่ม ต้นหมากเม่า ต้นราชพฤกษ์ ต้นแคฝอย ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๓๔] ต้นปรู ต้นมะกล่ำหลวง ต้นกาหลง มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

[๓๓๕] ต้นลำดวน ต้นชบา ต้นกากะทิง และต้นสาละ มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๓๖] ต้นคำ ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นมะเฟือง มีดอกบาน ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๓๗] ต้นสมอ ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นพุทรา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม มีผลดกอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า [๓๓๘] มันอ้อน ต้นมะเขือพวง กำลังผลิดอกออกผล ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๓๙] ต้นอโศก ต้นวารี และต้นสะเดา มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๐] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา ต้นดีหมี ในที่ใกล้อาศรมนั้น มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๑] ต้นย่านทราย ต้นคนทีเขมา และต้นจำปา ในที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

[๓๔๒] ในที่ไม่ไกลมีสระโบกขรณี มีนกจักรพากส่งเสียงร้องอยู่ ดารดาษด้วยบัวเผื่อน บัวหลวง และบัวขาบ [๓๔๓] มีน้ำใส เย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ น้ำใสสะอาด เสมอด้วยแก้วผลึก ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๔] ในสระนั้น มีบัวหลวง บัวขาว บัวขาบ ดารดาษด้วยบัวเผื่อน มีดอกบานสะพรั่ง ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า และฝูงปลาตะเพียนว่ายเวียนอยู่ในสระนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๖] จระเข้ ตะโขง เต่า นาก งูหลาม และงูเหลือมจำนวนมาก ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๗] นกพิราบ นกเป็ดน้ำ นกจักรพาก นกกาน้ำ นกต้อยตีวิด และนกสาลิกา อยู่ในที่ใกล้อาศรมนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๘] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี ต้นการะเกด ในที่ใกล้อาศรมนั้น มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๔๙] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาป่า หมาใน เสือดาว เที่ยวสัญจรอยู่ในป่าใหญ่ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๖๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

[๓๕๐] ฤๅษีทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยชฎา และบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์ เที่ยวสัญจรอยู่ในป่าใหญ่ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๕๑] บางพวกนุ่งห่มหนังสัตว์ มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบและบริโภคอาหารแต่น้อยเหล่านั้นทั้งหมด ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม [๓๕๒] ครั้งนั้น ฤๅษีทั้งหลายหาบบริขารเข้าไปสู่ป่า กินหัวมันและผลไม้อยู่ในอาศรม [๓๕๓] ครั้งนั้น ฤๅษีเหล่านั้นไม่ต้องนำฟืนมา น้ำสำหรับล้างเท้าก็ไม่ต้องนำมา ด้วยอานุภาพแห่งฤๅษีทั้งปวง ฟืนและน้ำย่อมมาเอง [๓๕๔] ฤๅษี ๘๔,๐๐๐ ตน ประชุมกันอยู่ในอาศรมนั้น ทั้งหมดนี้ เป็นผู้เข้าฌาน แสวงหาประโยชน์สูงสุด [๓๕๕] ฤๅษีเหล่านั้นเป็นผู้มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์ ตักเตือนกันและกัน เป็นผู้แน่นแฟ้น เหาะไปในอากาศได้ทุกตนอยู่ในอาศรมในครั้งนั้น [๓๕๖] ประชุมกันทุก ๕ วัน ไม่ระส่ำระสาย มีความประพฤติสงบ กราบไหว้กันและกันแล้ว จึงบ่ายหน้าหลีกไปตามทิศ (ที่ตนอยู่) [๓๕๗] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง พระองค์เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนอนธการ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

[๓๕๘] ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า มียักษ์ตนหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก ยักษ์ตนนั้นได้บอกข่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ แก่ข้าพเจ้าว่า [๓๕๙] พระพุทธเจ้าองค์นี้พระนามว่าปทุมุตตระ เป็นพระมหามุนี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ท่านจงรีบไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด ท่านผู้นิรทุกข์ [๓๖๐] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของยักษ์แล้วก็มีจิตผ่องใสยิ่งนัก จึงปิดอาศรมแล้วออกจากป่าในขณะนั้น [๓๖๑] เมื่อไฟกำลังไหม้ผ้าอยู่ ข้าพเจ้าออกจากอาศรม พักอยู่กลางทางคืนหนึ่งแล้ว เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ [๓๖๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงประกาศสัจจะ ๔ แสดงอมตบทอยู่ [๓๖๓] ข้าพเจ้าถือดอกปทุมซึ่งบานเต็มที่ เข้าเฝ้าพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า [๓๖๔] บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำแล้วห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า สรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า [๓๖๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ ประทับอยู่ที่นี้ด้วยพระญาณใด ข้าพระองค์จักสรรเสริญพระญาณนั้น ขอพระองค์จงสดับข้าพระองค์กราบทูล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

[๓๖๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดกระแสวัฏสงสารแล้ว ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น สรรพสัตว์นั้นฟังธรรมของพระองค์แล้ว ย่อมข้ามพ้นกระแสตัณหาได้ [๓๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดา และมนุษย์ พระองค์เป็นพระศาสดา เป็นธงชัย เป็นหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง และเป็นประทีปของสัตว์ทั้งหลาย [๓๖๘] คณาจารย์ผู้นำหมู่ประมาณเท่าใด ที่ถูกกล่าวถึงในโลก พระองค์เป็นสัพพัญญูผู้เลิศกว่าคณาจารย์เหล่านั้น คณาจารย์เหล่านั้นนับว่าอยู่ในคำสอนของพระองค์ [๓๖๙] พระองค์ผู้สัพพัญญูทรงช่วยหมู่ชนจำนวนมาก ให้ข้ามพ้น(จากวัฏสงสาร) ด้วยพระญาณของพระองค์ หมู่ชนอาศัยการได้เฝ้าพระองค์แล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้ [๓๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ คันธชาติเหล่าใดเหล่าหนึ่งหอมฟุ้งไปในโลก ข้าแต่พระมหามุนีผู้เป็นนาบุญ กลิ่นหอมที่จะเสมอด้วยกลิ่นหอมของพระองค์ไม่มี [๓๗๑] ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีพระจักษุ ขอพระองค์ทรงเปลื้อง กำเนิดดิรัจฉานและนรกเถิด พระองค์ทรงแสดงบทที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ สงบระงับ [๓๗๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

๑๐. อุเทนเถราปทาน

ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๓๗๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใสได้บูชาญาณของเรา ด้วยมือของตน เธอทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๓๗๔] ผู้นั้นจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ [๓๗๕] ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ลาภอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าให้พระพุทธเจ้าผู้มีวัตรงามทรงพอพระทัย กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๓๗๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๓๗๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๓๗๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระอุเทนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุเทนเถราปทานที่ ๑๐ จบ
เมตเตยยวรรคที่ ๔๑ จบบริบูรณ์
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค]

รวมอปทานที่มีในวรรค

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน ๒. ปุณณกเถราปทาน ๓. เมตตคูเถราปทาน ๔. โธตกเถราปทาน ๕. อุปสีวเถราปทาน ๖. นันทกเถราปทาน ๗. เหมกเถราปทาน ๘. โตเทยยเถราปทาน ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน ๑๐. อุเทนเถราปทาน และในวรรคนี้มีคาถา ๓๙๓ คาถา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า : ๗๐๔}
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๙๗-๗๐๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=32&siri=412              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=9437&Z=19405                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=412              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=32&item=412&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5471              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=32&item=412&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5471                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap412/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :