ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๓. มหากัปปินเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัปปินเถระ
(พระมหากัปปินเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๖๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงปรากฏแล้วในอากาศทั้งสิ้น เหมือนดวงอาทิตย์ปรากฏในท้องฟ้าในสารทกาล {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๓. มหากัปปินเถราปทาน

[๖๗] ทรงทำดอกบัวคือเวไนยสัตว์ให้เบ่งบานด้วยพระรัศมีคือพระดำรัส พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระองค์นั้น ทรงทำเปือกตมคือกิเลสให้แห้งไปด้วยพระรัศมีคือปัญญา [๖๘] พระผู้ทรงวชิรญาณขจัดยศของพวกเดียรถีย์ เหมือนดวงอาทิตย์ พระทิวากรพุทธเจ้าทรงส่องสว่าง ทั้งกลางวันและกลางคืน ในที่ทุกแห่ง [๖๙] พระพุทธองค์เป็นบ่อเกิดแห่งคุณ เหมือนทะเลเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ ทรงทำเมฆฝนคือธรรมให้ตกลงเพื่อหมู่สัตว์ เหมือนเมฆทำฝนให้ตก [๗๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาอยู่ในกรุงหงสวดี ได้เข้าไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ [๗๑] ซึ่งกำลังประกาศคุณของสาวกผู้มีสติ ผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายอยู่ ทรงทำใจของข้าพเจ้าให้ยินดี [๗๒] ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วเกิดปีติโสมนัส ทูลนิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยสาวกให้เสวยและฉันแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น [๗๓] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีส่วนเปรียบด้วยหงส์ มีพระสุรเสียงเหมือนเสียงหงส์และเสียงมโหระทึก๑- ได้ตรัสว่า จงดูมหาอำมาตย์ผู้นี้ ผู้องอาจในการตัดสิน [๗๔] ซึ่งหมอบอยู่แทบเท้าของเรา มีโลมชาติชูชันและมีใจฟูขึ้น @เชิงอรรถ : @ มโหระทึก หมายถึงกลองโลหะชนิดหนึ่งของชนชาติที่อยู่ตอนใต้ประเทศจีน ใช้ตีเป็นสัญญาณและประโคม @(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๖๓๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๓. มหากัปปินเถราปทาน

มีวรรณะเหมือนแก้วมุกดาที่งดงาม มีนัยน์ตาและใบหน้าที่ผ่องใส [๗๕] มีบริวารเป็นอันมาก ทำราชการ มียศใหญ่ มหาอำมาตย์นี้ปรารถนาตำแหน่งภิกษุผู้กล่าวสอน เพราะร่วมยินดีด้วย [๗๖] ด้วยบิณฑบาต ด้วยการบริจาค และด้วยการตั้งความปรารถนาไว้นี้ เขาจะไม่เกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป [๗๗] จักเสวยความเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นเทวดาในหมู่เทพ และความเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ จักบรรลุพระนิพพานด้วยผลกรรมที่เหลือ [๗๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๗๙] มหาอำมาตย์นี้จักมีนามว่ากัปปินะ เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดา [๘๐] จากนั้น ข้าพเจ้าได้ทำสักการะที่กระทำไว้ดีแล้ว ในศาสนาของพระชินเจ้า ละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต [๘๑] ข้าพเจ้าครองราชสมบัติในเทวโลก และมนุษยโลกโดยธรรม แล้วเกิดในตระกูลช่างหูก ในหมู่บ้านใกล้กรุงพาราณสี [๘๒] ข้าพเจ้ากับภรรยามีบริวาร ๑๐๐,๐๐๐ คน ได้อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๓. มหากัปปินเถราปทาน

[๘๓] นิมนต์ให้ฉันตลอดไตรมาส แล้วให้ครองไตรจีวร ข้าพเจ้าทั้งหมดจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๘๔] ข้าพเจ้าทั้งหลายจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ในกุกกุฏบุรี ข้างภูเขาหิมพานต์ [๘๕] ข้าพเจ้าได้เป็นโอรสผู้มียศใหญ่นามว่ากัปปินะ พวกที่เหลือเกิดในตระกูลอำมาตย์แวดล้อมข้าพเจ้า [๘๖] ข้าพเจ้ามีความสุขในราชสมบัติเป็นอันมาก สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ ได้ฟังข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าที่พวกพ่อค้าบอกดังนี้ว่า [๘๗] ‘พระพุทธเจ้าผู้เป็นเอกอัครบุคคล ไม่มีใครเหมือน เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงประกาศพระสัทธรรม ซึ่งเป็นอมตะเป็นสุขอย่างประเสริฐ [๘๘] และสาวกของพระองค์ขวนขวายดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว ไม่มีอาสวะ’ ครั้นข้าพเจ้าได้ฟังคำของพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ได้ทำสักการะพวกพ่อค้า [๘๙] สละราชสมบัติ พร้อมด้วยอำมาตย์ ได้เป็นพุทธมามกะ พากันออกเดินทาง ได้เห็นแม่น้ำมหาจันทามีน้ำเต็มเสมอขอบฝั่ง [๙๐] ทั้งไม่มีท่าน้ำ ไม่มีแพ ข้ามได้ยาก และยังมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ข้าพเจ้าข้ามแม่น้ำไปได้โดยความสวัสดี เพราะระลึกถึงพระพุทธคุณว่า [๙๑] ‘ถ้าพระพุทธเจ้าทรงข้ามกระแสน้ำคือภพ ทรงถึงที่สุดแห่งโลก ทรงรู้แจ้งไซร้ ด้วยสัจวาจานี้ ขอการไปของข้าพเจ้าจงสำเร็จ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๔๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๓. มหากัปปินเถราปทาน

[๙๒] ถ้ามรรคเป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบได้ เป็นเครื่องให้โมกขธรรมอันเป็นสันติสุขได้ ด้วยสัจวาจานี้ ขอการไปของข้าพเจ้าจงสำเร็จ [๙๓] ถ้าพระสงฆ์เป็นผู้ข้ามพ้นความกันดารไปได้ เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม ด้วยสัจวาจานี้ ขอการไปของข้าพเจ้าจงสำเร็จ’ [๙๔] พร้อมกับที่ข้าพเจ้าทำสัจจะอย่างประเสริฐนี้ น้ำได้ไหลหลีกออกไปจากหนทาง ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้ข้ามขึ้นฝั่งแม่น้ำที่น่ารื่นรมย์ใจได้โดยสะดวก [๙๕] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์อุทัย รุ่งเรืองดุจภูเขาทอง โชติช่วงดุจต้นพฤกษาประทีป [๙๖] ผู้อันสาวกห้อมล้อม เปรียบดังดวงจันทร์ ที่ล้อมรอบด้วยดาวนักษัตร ทำเทวดาและมนุษย์ให้เพลิดเพลิน ประหนึ่งท้าววาสวะ ทำฝนคือรัตนะให้ตก [๙๗] ข้าพเจ้าพร้อมด้วยอำมาตย์ถวายบังคม เข้าเฝ้า ณ ที่สมควร ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบอัธยาศัยแล้ว จึงได้ทรงแสดงธรรม [๙๘] ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ฟังธรรมที่ปราศจากมลทินแล้ว ได้ทูลขอพระชินเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ขอได้โปรดให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาเถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายข้ามภพได้แล้ว’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๓. มหากัปปินเถราปทาน

[๙๙] พระมุนีผู้ประเสริฐสุดตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์เถิด’ [๑๐๐] พร้อมกับพุทธดำรัสนี้ ข้าพเจ้าทุกคนล้วนทรงเพศเป็นภิกษุ ได้อุปสมบท เป็นพระโสดาบันในศาสนา [๑๐๑] จากนั้น พระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ได้เสด็จไปยังพระเชตวัน แล้วทรงพร่ำสอน ข้าพเจ้าผู้อันพระชินเจ้าทรงพร่ำสอนแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัต [๑๐๒] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าได้สั่งสอนภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป แม้ภิกษุเหล่านั้นก็ปฏิบัติตามคำสอนของข้าพเจ้า เป็นผู้ไม่มีอาสวะ [๑๐๓] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้น จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในท่ามกลางมหาชนว่า ‘ภิกษุชื่อกัปปินะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ’ [๑๐๔] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้ ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว(จากกิเลส) ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่พ้นไปจากแล่ง ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว [๑๐๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๐๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัปปินเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหากัปปินเถราปทานที่ ๓ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๔๖-๒๕๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=123              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=2842&Z=2924                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=123              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=123&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5748              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=123&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5748                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap535/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :