ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทัพพมัลลปุตตเถระ
(พระทัพพมัลลบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๐๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง เป็นพระมุนี ทรงมีพระจักษุ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๑๐๙] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้ ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๑๑๐] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์ ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล ๕ [๑๑๑] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล ว่างจากพวกเดียรถีย์ และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

[๑๑๒] พระมหามุนีพระองค์นั้นทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- [๑๑๓] ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระชินสีห์พระองค์นั้น ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๑๑๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีผู้มียศใหญ่ในกรุงหงสวดี ได้เข้าเฝ้าพระองค์ผู้ส่องโลกให้สว่างไสว แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนา [๑๑๕] ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ซึ่งตรัสยกย่องภิกษุ พร้อมด้วยสาวกผู้จัดแจงเสนาสนะให้ภิกษุทั้งหลายก็พลอยยินดี [๑๑๖] จึงทำสักการะอย่างยิ่งใหญ่แด่พระองค์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พร้อมทั้งพระสงฆ์ หมอบลงแทบพระบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น [๑๑๗] ความจริง ในครั้งนั้น พระมหาวีระพระองค์นั้น ได้ทรงพยากรณ์กรรมของข้าพเจ้าไว้ว่า ‘บุตรเศรษฐีนี้ได้นิมนต์พระผู้เป็นผู้นำสัตว์โลก’ พร้อมด้วยพระสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน [๑๑๘] เขาจักมีดวงตาเหมือนกลีบบัว มีช่วงไหล่เหมือนราชสีห์ มีผิวพรรณดุจทองคำ หมอบอยู่แทบเท้าของเรา ปรารถนาตำแหน่งอันสูงสุด [๑๑๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

[๑๒๐] บุตรเศรษฐีนี้จักได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปรากฏโดยชื่อว่าทัพพะ เป็นภิกษุผู้เลิศฝ่ายภิกษุผู้จัดแจงเสนาสนะตามปรารถนา’ [๑๒๑] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๒๒] ครองเทวสมบัติตลอด ๓๐๐ ชาติ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ [๑๒๓] และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความสุขในทุกภพ [๑๒๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระเนตรงาม ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๒๕] ข้าพเจ้ามีจิตขัดเคือง ได้กล่าวตู่สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้คงที่พระองค์นั้น ผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว ทั้งที่รู้อยู่ว่า ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ [๑๒๖] อนึ่ง ข้าพเจ้าจับสลากแล้วถวายข้าวสุกที่หุงด้วยน้ำนม แด่พระสาวกทั้งหลายผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้ากว่านรชนพระองค์นั้นแหละ [๑๒๗] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร ทรงประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

[๑๒๘] พระองค์พร้อมด้วยสาวกประกาศศาสนาให้รุ่งเรือง ข่มเดียรถีย์ผู้หลอกลวงได้แล้ว ทรงแนะนำเหล่าเวไนยสัตว์ ปรินิพพานแล้ว [๑๒๙] เมื่อพระโลกนาถพร้อมด้วยสาวกปรินิพพานแล้ว เมื่อศาสนากำลังจะสิ้นไป เทพและมนุษย์พากันสลดใจ สยายผม มีน้ำตานองหน้า คร่ำครวญว่า [๑๓๐] ‘ดวงตาคือพระธรรมจักดับ เราทั้งหลายจักไม่ได้เห็นท่านผู้มีวัตรดีงาม จักไม่ได้ฟังพระสัทธรรม น่าสังเวชใจ เราทั้งหลายช่างมีบุญน้อย’ [๑๓๑] ครั้งนั้น พื้นปฐพีทั้งหมดนี้ ทั้งใหญ่ทั้งหนา ได้ไหว สาครดังจะมีความเศร้าโศก ส่งเสียงดังกึกก้องอย่างน่าสงสาร [๑๓๒] เหล่าอมนุษย์ตีกลองอยู่ทั่วทั้ง ๔ ทิศ อสนีบาตที่น่าสะพรึงกลัวก็ฟาดลงอยู่โดยรอบ [๑๓๓] อุกกาบาตตกจากท้องฟ้า ปรากฏเป็นลำเพลิง มีควันและเปลวเพลิงพวยพุ่ง หมู่สัตว์ร้องครวญครางอย่างน่าสงสาร [๑๓๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นภิกษุรวม ๗ รูปด้วยกัน ได้เห็นความอุบาทว์ที่ร้ายแรง แสดงเหตุถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งศาสนา จึงเกิดความสังเวชใจ คิดกันว่า [๑๓๕] ‘เราทั้งหลายเว้นศาสนาไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ จึงเข้าไปยังป่าใหญ่แล้ว บำเพ็ญเพียรตามคำสอนของพระชินสีห์เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

[๑๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้พบภูเขาหินสูงในป่า จึงไต่บันไดขึ้นไปยังภูเขาลูกนั้นแล้วผลักบันไดให้ตกลง [๑๓๗] ครั้งนั้น พระเถระได้ตักเตือนพวกข้าพเจ้าว่า ‘การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าหาได้แสนยาก อีกประการหนึ่ง ศรัทธาที่ได้ไว้ก็หายาก และศาสนายังเหลืออีกเล็กน้อย [๑๓๘] ผู้ที่ปล่อยเวลาให้ผ่านไป จะต้องตกลงไปในสาคร คือความทุกข์ซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายควรกระทำความเพียร ตลอดเวลาที่ศาสนายังดำรงอยู่เถิด’ [๑๓๙] ครั้งนั้น พระเถระนั้นเป็นพระอรหันต์ องค์รองได้เป็นพระอนาคามี พวกข้าพเจ้าที่เหลือจากนั้น เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ประกอบความเพียร จึงได้ไปเกิดยังเทวโลก [๑๔๐] พระเถระองค์ที่ข้ามสงสารไป ได้ปรินิพพานในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสเพียงองค์เดียว ข้าพเจ้าทั้งหลาย คือ (๑) ตัวข้าพเจ้า (๒) พระปุกกุสาติ (๓) พระสภิยะ (๔) พระพาหิยะ [๑๔๑] (๕) พระกุมารกัสสปะ เกิดในที่นั้นๆ อันพระโคดมทรงอนุเคราะห์ จึงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำคือสงสารได้ [๑๔๒] ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลมัลลกษัตริย์ ในกรุงกุสินารา เมื่อยังอยู่ในครรภ์นั่นแหละ มารดาได้สิ้นพระชนม์ เขาช่วยกันยกขึ้นสู่จิตกาธาน ข้าพเจ้าได้ตกลงมาจากจิตกาธานนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]

๔. ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน

[๑๔๓] ตกลงไปในกองไม้ จากนั้น จึงปรากฏนามว่าทัพพะ ด้วยผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๗ ขวบก็หลุดพ้นจากกิเลส [๑๔๔] ด้วยผลที่ข้าพเจ้าถวายข้าวสุกที่หุงด้วยน้ำนม ข้าพเจ้าจึงประกอบด้วยองค์ ๕ เพราะบาปที่ข้าพเจ้ากล่าวตู่พระขีณาสพ จึงถูกคนชั่วจำนวนมากโจท(กล่าวหา) [๑๔๕] บัดนี้ ข้าพเจ้าล่วงบุญและบาปทั้ง ๒ แล้ว ได้บรรลุสันติสุขอย่างยิ่ง อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ [๑๔๖] ข้าพเจ้าจัดแจงเสนาสนะให้ท่านผู้มีวัตรดีงามทั้งหลายยินดี พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้น จึงทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ [๑๔๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๔๘] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๔๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ทัพพมัลลปุตตเถราปทานที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๒๕๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๒๕๒-๒๕๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=124              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=2925&Z=3007                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=124              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=124&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6004              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=124&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6004                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap536/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :