ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๕. นันทาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทาเถรี
(พระนันทาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๖๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป [๑๖๗] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้ ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น(วัฏฏสงสาร) ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๕. นันทาเถริยาปทาน

[๑๖๘] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์ ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในเบญจศีล [๑๖๙] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล(หมดเสี้ยนหนาม) ว่างจากพวกเดียรถีย์และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่ [๑๗๐] พระมหามุนีพระองค์นั้นทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระฉวีเปล่งปลั่งดังทองคำที่ล้ำค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ [๑๗๑] ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระชินสีห์พระองค์นั้น ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๑๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี ที่มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่างๆ ในกรุงหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก [๑๗๓] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาอันประกาศถึงปรมัตถธรรม ที่ไพเราะอย่างจับใจยิ่งนัก ซึ่งเป็นอมตธรรม [๑๗๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีความเลื่อมใส ได้ทูลนิมนต์พระพุทธผู้เจ้าทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์ ได้ถวายมหาทานแด่พระองค์ด้วยมือของตน [๑๗๕] ได้ซบศีรษะลงใกล้พระวีรเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์ ปรารถนาตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้เข้าฌาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๕. นันทาเถริยาปทาน

[๑๗๖] ครั้งนั้น พระสุคตผู้ฝึกนรชนที่ยังไม่ได้ฝึก เป็นที่พึ่งของโลกทั้ง ๓ ทรงเป็นใหญ่ ทรงพยุงนรชนไว้เป็นอย่างดีตรัสพยากรณ์ว่า ‘เธอจักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนาไว้ดีแล้วนั้น [๑๗๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๑๗๘] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่านันทา เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต เป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’ [๑๗๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต [๑๘๐] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๘๑] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี [๑๘๒] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา [๑๘๓] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินหลายชาติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๕. นันทาเถริยาปทาน

[๑๘๔] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก [๑๘๕] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นผู้มีรูปสมบัติอันใครๆ ไม่นินทา [๑๘๖] ราชสกุลนั้นเห็นหม่อมฉันมีรูปงามดังดวงอาทิตย์ จึงพากันชื่นชม เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีนามว่านันทา เป็นผู้มีรูปลักษณ์ที่งดงามประเสริฐ [๑๘๗] ในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชธานีที่รื่นรมย์นั้น นอกจากพระนางยโสธราแล้ว ปรากฏว่าหม่อมฉันมีความงามกว่ายุวนารีทุกคน [๑๘๘] พระเชฏฐภาดาก็เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศในโลก ๓ พระภาดาองค์สุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์ หม่อมฉันเป็นสตรีเพียงผู้เดียวที่เป็นคฤหัสถ์ พระมารดาทรงตักเตือนว่า [๑๘๙] ‘ลูกรัก เจ้าเกิดในศากยสกุล เป็นน้องของพระพุทธเจ้า เมื่อเว้นจากนันทกุมารแล้ว จักได้ประโยชน์อะไรในวังเล่า’ [๑๙๐] ความเป็นหนุ่มสาว ก็มีความแก่เป็นที่สุด รูปบัณฑิตรู้กันว่าเป็นของไม่สะอาด แม้ไม่มีโรค ก็มีโรคเป็นที่สุด ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด [๑๙๑] รูปที่สวยงามของเธอแม้นี้ น่าใคร่ดังดวงจันทร์ จูงใจให้นิยม อลังการด้วยเครื่องประดับทั้งหลาย คล้ายกำหนดรู้ได้ด้วยสิริ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๕. นันทาเถริยาปทาน

[๑๙๒] ดุจเป็นสิ่งสำคัญของชาวโลกที่เขาบูชากัน เป็นที่ดึงดูดแห่งนัยนา เป็นที่ก่อเกิดการสรรเสริญบุญ เป็นที่ชื่นชมแห่งวงศ์โอกกากราช [๑๙๓] โดยกาลไม่นานนัก ความแก่ก็จักมาครอบงำลูกรัก ผู้มีรูปอันใครๆ ไม่นินทา จงละพระราชฐานและรูปกาย ที่บัณฑิตตำหนิแล้วประพฤติธรรมเถิด [๑๙๔] หม่อมฉันผู้ยังโลเลในรูปที่ยังเป็นสาว ได้ฟังพระดำรัสของพระมารดาแล้ว ก็ออกบวชเป็นบรรพชิตแต่เพียงกาย แต่หาออกบวชด้วยจิตใจไม่ [๑๙๕] หม่อมฉันระลึกถึงตนด้วยความขวนขวายตรวจตราอย่างมาก พระมารดาตรัสตักเตือนเพื่อให้ประพฤติธรรม แต่หม่อมฉันมิได้สนใจขวนขวายในการประพฤติธรรมนั้นเลย [๑๙๖] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันผู้มีผิวหน้าดังดอกบัว เพื่อให้หม่อมฉันเกิดความเบื่อหน่ายในรูปกาย [๑๙๗] จึงทรงเนรมิตหญิงคนหนึ่งมีความงามน่าชม น่าชอบใจยิ่งนัก ซึ่งมีรูปงามกว่าหม่อมฉัน ให้อยู่ในคลองแห่งจักษุของหม่อมฉัน ด้วยอานุภาพของพระองค์ [๑๙๘] หม่อมฉันอัศจรรย์ใจ เพราะเห็นหญิงที่มีเรือนร่าง อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็คิดว่า ‘เราเห็นหญิงมนุษย์ดังกล่าว นี้มีผลดีและเป็นลาภแก่นัยน์ตาของเรา [๑๙๙] เชิญเถิดแม่คนงาม แม่จงบอกสิ่งที่ต้องประสงค์แก่ฉัน ฉันจะให้ แม่จงบอกสกุล นาม โคตรของเธอแก่ฉัน ถ้าเธอพอใจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๕. นันทาเถริยาปทาน

[๒๐๐] แม่คนงาม เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาแห่งปัญหา แม่จงนอนหนุนตักเรา ทับซ้อนร่างกายเราหลับสักครู่หนึ่งเถิด’ [๒๐๑] จากนั้นแม่คนแสนสวยก็นอนพาดศีรษะบนตักหม่อมฉัน ของแข็งขนาดใหญ่ตกไปที่หน้าผากของนาง [๒๐๒] พร้อมกับของแข็งที่ตกมากระทบ รอยโปนก็ปรากฏขึ้น และทั้งหนองทั้งเลือดก็ไหลออกจากซากศพที่แตก [๒๐๓] แม้ใบหน้าที่แตกแล้วนั้น ก็มีกลิ่นคล้ายซากศพเน่าโชยออกมา ทั่วทั้งสรีระพองขึ้นเขียวคล้ำ [๒๐๔] แม่คนสวยมีสรรพางค์กายสั่น หายใจหอบถี่ๆ เสวยทุกข์ของตนอยู่ รำพันอย่างน่าสงสาร [๒๐๕] หม่อมฉันเป็นทุกข์เพราะทุกข์นั้น ต้องเวทนาจมอยู่ในทุกข์ใหญ่ ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง แม่นางเป็นเพื่อนของหม่อมฉัน [๒๐๖] ใบหน้าที่งามของแม่หายไปไหน จมูกที่โด่งงามของแม่หายไปไหน ริมฝีปากที่สวยเหมือนสีลูกมะพลับสุกของแม่หายไปไหน วงหน้าที่งดงามของแม่หายไปไหน [๒๐๗] วรรณะที่เปล่งปลั่งดังดวงจันทร์หายไปไหน และลำคอที่คล้ายปล้องทองคำของแม่หายไปไหน ใบหูของแม่ดังพวงดอกไม้ก็หมดสีสันวรรณะไปเสียแล้ว [๒๐๘] ถันที่กลมกลึงคล้ายดอกบัวตูมทั้งคู่ของแม่แตกแล้ว มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปคล้ายซากศพเน่า [๒๐๙] นางมีเอวคอดกลม มีตะโพกผึ่งผาย นำสิ่งชั่วร้ายมาให้เหมือนเขียง เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาด โอ! รูปไม่เที่ยง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๕. นันทาเถริยาปทาน

[๒๑๐] อวัยวะที่เกิดจากสรีระทั้งหมดมีกลิ่นเหม็นเน่า น่ากลัว น่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้า ที่พวกคนเขลาพากันยินดี [๒๑๑] ครั้งนั้น พระภาดาของหม่อมฉันผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันผู้มีจิตสังเวช จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า [๒๑๒] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย เปื่อยเน่าดังซากศพ จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมณ์เดียว ด้วยอารมณ์อันไม่งาม [๒๑๓] รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก [๒๑๔] เธอไม่เกียจคร้าน พิจารณาเห็นรูปเป็นอย่างนั้น ทั้งกลางคืนกลางวัน แต่นั้นจะเบื่อหน่ายยิ่งนักเห็นด้วยปัญญาของตน’ [๒๑๕] จากนั้น หม่อมฉันมีจิตสลด เพราะฟังคาถาสุภาษิต ยืนอยู่ ณ ที่นั้น ก็ได้บรรลุอรหัตตผล [๒๑๖] หม่อมฉันเข้าฌานตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งอยู่ ณ ที่ใดๆ พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะ [๒๑๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๔๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค]

๖. โสณาเถริยาปทาน

[๒๑๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๒๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระนันทาภิกษุณีผู้เป็นชนบทกัลยาณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทาเถริยาปทานที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๔๗๗-๔๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=176              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=5609&Z=5707                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=165              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=165&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=165&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap25/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :