ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน

๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอภิรูปนันทาเถรี
(พระอภิรูปนันทาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๔๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำพระนามว่าวิปัสสี ทรงมีพระวรกายงดงาม มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว [๑๔๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลใหญ่ที่มั่งคั่ง มีความเจริญในกรุงพันธุมดี เป็นสตรี มีรูปงาม น่าเอ็นดู และน่าบูชาของหมู่ชน [๑๔๕] ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงมีความเพียรมาก ได้สดับพระธรรมแล้ว ถึงพระองค์ทรงเป็นผู้นำของนรชน เป็นที่พึ่งที่ระลึก [๑๔๖] หม่อมฉันสำรวมอยู่ในศีล เมื่อพระผู้มีพระภาค เป็นผู้สูงสุดแห่งนระ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้ใช้ฉัตรทองบูชาไว้ ณ เบื้องบน แห่งพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ [๑๔๗] หม่อมฉันเป็นผู้สละได้ขาดแล้ว มีศีลจนตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ละกายมนุษย์จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ [๑๔๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันครอบงำ(เทพธิดา)ได้ทั้งหมด ด้วยฐานะ ๑๐ ประการ คือ (๑) รูป (๒) เสียง (๓) กลิ่น (๔) รส (๕) โผฏฐัพพะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน

[๑๔๙] (๖) อายุ (๗) วรรณะ (๘) สุข (๙) ยศ (๑๐) ความเป็นอธิบดี รุ่งโรจน์อยู่ [๑๕๐] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นธิดาแห่งเจ้าศากยะพระนามว่าเขมกะ มีนามปรากฏว่านันทา [๑๕๑] หมู่ชนกล่าวว่า หม่อมฉันเป็นผู้หนึ่ง ซึ่งมีความถึงพร้อมด้วยรูปงาม น่าชม ในคราวที่หม่อมฉันเติบโตเป็นสาว(รู้จัก) มีรูปและผิวพรรณงดงาม [๑๕๒] พวกเจ้าศากยะเกิดการวิวาทกันใหญ่โต เพราะเรื่องแย่งตัวหม่อมฉันนี้ ครั้งนั้น พระบิดาของหม่อมฉันดำริว่า ‘พวกเจ้าศากยะ จงอย่าพินาศเลย’ จึงให้หม่อมฉันบวช [๑๕๓] ครั้นหม่อมฉันบวชแล้ว ได้ฟังว่า พระตถาคตเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงติเตียนรูป จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า เพราะหม่อมฉันมีความหลงใหลรูป [๑๕๔] หม่อมฉันขลาดต่อการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมไปรับโอวาท ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงให้หม่อมฉัน เข้าไปสู่สำนักของพระองค์ด้วยอุบาย [๑๕๕] พระองค์ผู้ทรงฉลาดในมรรค ทรงเนรมิตหญิง ๓ คน ด้วยฤทธิ์ คือ (๑) หญิงสาวที่สวยเหมือนเทพอัปสร (๒) หญิงชรา (๓) หญิงที่ตายแล้ว [๑๕๖] หม่อมฉันเห็นหญิงทั้ง ๓ แล้วเกิดความสลดใจ ไม่ยินดีในซากศพของหญิงที่ตายแล้ว มีความเบื่อหน่ายในภพ ยืนเฉยอยู่ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำ ตรัสกับหม่อมฉันว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน

[๑๕๗] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออกอยู่ ที่พวกคนเขลาพากันปรารถนายิ่งนัก [๑๕๘] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภารมณ์เถิด รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น [๑๕๙] เมื่อเธอพิจารณาเห็นรูปอยู่อย่างนี้ มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน แต่นั้น ก็จะเบื่อหน่ายอยู่ด้วยปัญญาของตน’ [๑๖๐] เมื่อหม่อมฉันไม่ประมาทแล้ว พิจารณาในกายนี้อยู่โดยแยบคายว่า กายนี้ทั้งภายในและภายนอก เราได้เห็นแล้วตามความเป็นจริง [๑๖๑] เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเบื่อหน่ายในกาย และคลายกำหนัดในภายใน ไม่ประมาท ไม่เกาะเกี่ยว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว [๑๖๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ [๑๖๓] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๑๖๔] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่ ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๕๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค]

๗. อัฑฒกาสีเถริยาปทาน

[๑๖๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๖๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า พระอภิรูปนันทาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อภิรูปนันทาเถริยาปทานที่ ๖ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๓๙-๕๔๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=187              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=6483&Z=6527                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=176              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=176&items=1              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=176&items=1                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/thi-ap36/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :