ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ มีพระยศหาประมาณมิได้ ทรงมีพระเดชยากที่จะล่วงได้ [๒] พระองค์ทรงตัดกิเลสเครื่องผูกได้ทุกอย่าง๑- ทรงทำลายภพทั้ง ๓ ๒- แล้ว ทรงแสดงทางที่มีการไปไม่หวนกลับ๓- แก่หมู่เทวดาและมนุษย์ [๓] พระองค์ทรงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวดังมหาสมุทร หาผู้กระทบกระทั่งได้ยากดังภูเขา @เชิงอรรถ : @ หมายถึงตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ ๑๐ ได้ทั้งหมด (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๒๕๓) @ ภพ ๓ ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๕) @ ทางที่ไปแล้วไม่หวนกลับในที่นี้ได้แก่ นิพพาน (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๒๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์

ทรงมีพระคุณหาที่สุดมิได้ดังอากาศ ทรงงดงาม(ด้วยมหาปุริสลักษณะและพระอนุพยัญชนะ) ดังต้นพญาไม้สาละที่มีดอกบานสะพรั่ง [๔] สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีแม้ด้วยการเห็นพระพุทธองค์ สัตว์เหล่านั้นได้สดับพระดำรัสที่กำลังตรัสแล้ว ย่อมบรรลุอมตธรรม [๕] ครั้งนั้น ในการแสดงธรรมครั้งแรกของพระองค์ การบรรลุธรรมเจริญรุ่งเรืองแผ่ไปอย่างกว้างขวาง เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม [๖] สมัยต่อมา ในการตรัสพระธรรมเทศนาครั้งที่ ๒ นี้ เมื่อพระพุทธเจ้ายังฝนคือธรรมให้ตกอยู่ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๘๐ โกฏิได้บรรลุธรรม [๗] สมัยต่อมา เมื่อพระพุทธองค์ยังธารน้ำคือธรรมให้หลั่งไหล ทำหมู่สัตว์ให้อิ่มหนำ เทวดาและมนุษย์ประมาณ ๗๘ โกฏิได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๓ [๘] เฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสีพระองค์นั้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้มีการประชุมพระภิกษุสงฆ์สาวกผู้บรรลุอภิญญา และพลธรรม ผู้เบิกบานด้วยการหลุดพ้น ๓ ครั้ง [๙] ครั้งนั้น พระขีณาสพผู้ละความมัวเมาและความหลง ผู้มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน [๑๐] พระขีณาสพผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากธุลีคือกิเลส ผู้มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ จำนวน ๗๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๒ [๑๑] พระขีณาสพผู้บรรลุอภิญญาและพลธรรม ดับกิเลสได้แล้ว มีตบะ ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ รูป มาประชุมกัน เป็นครั้งที่ ๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์

[๑๒] สมัยนั้น เราเกิดเป็นยักษ์ผู้มีฤทธิ์มาก วางอำนาจ เป็นใหญ่กว่ายักษ์หลายโกฏิ [๑๓] แม้ครั้งนั้น เราก็ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ได้อังคาสพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ [๑๔] ครั้งนั้น แม้พระมุนีผู้มีนัยนาบริสุทธิ์พระองค์นั้น ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป ยักษ์ตนนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๕] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์

ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด เราทั้งหมดก็ฉันนั้น ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์

[๑๖] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ทั้งยินดี ทั้งตื้นตันใจ ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป [๑๗] กรุงชื่อว่าจันทวดี กษัตริย์พระนามว่ายสวาเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่ายโสธราเป็นพระชนนี ของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี [๑๘] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือสิริปราสาท อุปสิริปราสาท และวัฑฒปราสาท [๑๙] มีนางสนมกำนัล ๒๓,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าสิริมา พระราชโอรสพระนามว่าอุปสาละ [๒๐] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงวอทองออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๑] พระมหาวีรมหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ พระอุทยานสุทัสสนะอันประเสริฐ [๒๒] พระนิสภเถระและพระอโนมเถระเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าวรณะเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี [๒๓] พระสุนทราเถรีและพระสุมนาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่าต้นรกฟ้า [๒๔] นันทิวัฑฒอุบาสกและสิริวัฑฒอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก อุปปลาอุบาสิกาและปทุมาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๘. ปทุมพุทธวงศ์

[๒๕] พระมหามุนีทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก พระองค์มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกสว่างไสว ดังดวงอาทิตย์อุทัย [๒๖] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๗] ศาสนาของพระชินเจ้าบานสะพรั่ง งดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้คงที่ ปราศจากราคะและไม่มีมลทิน [๒๘] พระศาสดาพระองค์นั้นผู้มีพระยศหาประมาณมิได้ และคู่พระอัครสาวกผู้ไม่มีบุคคลเสมอเหมือน ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ [๒๙] พระชินศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ธรรมาราม พระสถูปของพระชินเจ้านั้น ที่ธรรมารามนั้น สูง ๒๕ โยชน์ ฉะนี้แล
อโนมทัสสีพุทธวงศ์ที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๒๓-๖๒๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=199              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=7553&Z=7604                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=188              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=188&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=5593              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=188&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=5593                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :