ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน

๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณัตถวิกเถระ
(พระญาณัตถวิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๔๖] ข้าพเจ้าสร้างอาศรมอย่างสวยงามไว้ ณ ทิศใต้แห่งภูเขาหิมพานต์ ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาประโยชน์สูงสุด จึงอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ [๔๗] ข้าพเจ้ายินดีด้วยเหง้ามันและผลไม้ตามมีตามได้ ไม่เที่ยวแสวงหา อยู่เพียงผู้เดียว [๔๘] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว พระองค์ทรงประกาศสัจจะ ๔ ช่วยฉุดมหาชนขึ้น [๔๙] ข้าพเจ้ามิได้สดับข่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ใครๆ ก็ไม่บอกข้าพเจ้า เมื่อล่วงไปได้ ๘ ปี ข้าพเจ้าจึงได้สดับข่าวพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก [๕๐] ข้าพเจ้านำไฟและฟืนออกแล้ว กวาดอาศรม หาบบริขารออกจากป่าใหญ่ไป [๕๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าพักอยู่ในบ้านและนิคม ๑ คืน เข้าไปใกล้กรุงจันทวดีโดยลำดับ [๕๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าสุเมธะ ทรงแสดงอมตบทช่วยฉุดสัตว์จำนวนมากขึ้น [๕๓] ข้าพเจ้าได้ผ่านหมู่ชนเข้าไปไหว้พระชินเจ้าผู้เสด็จมาดีแล้ว ทำผ้าหนังสัตว์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง แล้วสรรเสริญพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน

[๕๔] พระองค์ผู้เป็นพระศาสดาผู้สูงสุด แห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้ปรากฏดุจธง เป็นดุจธงชัยและเป็นดุจเสาพิธีผูกสัตว์บูชายัญ เป็นที่หมายปอง เป็นที่พึ่ง และเป็นดุจดวงประทีปของหมู่สัตว์
ภาณวารที่ ๒๑ จบ
[๕๕] พระองค์เป็นผู้ฉลาด เป็นนักปราชญ์ในญาณทัสสนะ๑- ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นไปได้ ข้าแต่พระมุนี ผู้อื่นที่จะช่วยหมู่สัตว์ ให้ข้ามพ้น(วัฏฏสงสาร)ไปได้ยิ่งกว่าพระองค์ไม่มีในโลก [๕๖] มหาสมุทรที่ลึกที่สุด ก็พึงอาจที่จะประมาณได้ด้วยปลายหญ้าคา ข้าแต่พระสัพพัญญู ส่วนพระญาณของพระองค์ ใครๆ ไม่อาจจะประมาณได้เลย [๕๗] แผ่นดินก็อาจจะวางลงบนตราชั่งแล้วชั่งดูได้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ แต่สิ่งที่เสมอด้วยพระปัญญาของพระองค์ไม่มีเลย [๕๘] อากาศก็อาจจะวัดได้ด้วยเชือกและนิ้วมือ ข้าแต่พระสัพพัญญู ส่วนศีลของพระองค์ ใครๆ ไม่อาจจะประมาณได้เลย [๕๙] น้ำในมหาสมุทร อากาศและพื้นแผ่นดิน สิ่งทั้ง ๓ นี้ ก็พึงอาจประมาณได้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ พระองค์เป็นผู้ที่ใครๆ จะประมาณไม่ได้เลย @เชิงอรรถ : @ ญาณทัสสนะ หมายถึงมัคคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ วิปัสสนาญาณ @(ที.สี.อ. ๑/๒๓๔/๑๙๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน

[๖๐] ข้าพเจ้ากล่าวสรรเสริญพระสัพพัญญู ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ด้วยคาถา ๖ คาถาแล้ว ประนมมือยืนนิ่งอยู่ในเวลานั้น [๖๑] พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาเสมอด้วยพื้นปฐพี เป็นเมธีชั้นเลิศ ซึ่งชนทั้งหลายถวายพระนามว่าสุเมธะ ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า [๖๒] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเลื่อมใส ได้กล่าวสรรเสริญญาณของเรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด [๖๓] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติอยู่ในเทวโลกตลอด ๑,๐๐๐ ชาติ [๖๔] จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหลายร้อยชาติ และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน [๖๕] เขาจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ก็จักเป็นผู้มั่นคงในกรรมดี จักเป็นผู้มีความดำริไม่บกพร่อง มีปัญญาเฉียบแหลม [๖๖] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก [๖๗] ผู้นี้จักไม่มีความกังวล ออกบวช จักบรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบ [๖๘] ในระหว่างกาลที่ข้าพเจ้าจำความได้ จนถึงการบรรลุศาสนธรรมนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้จักความไม่สบายใจเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๔. ญาณัตถวิกเถราปทาน

[๖๙] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิด เสวยสมบัติในภพน้อยภพใหญ่ ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคะเลย นี้เป็นผลในการสรรเสริญพระญาณ [๗๐] ไฟ ๓ กอง ข้าพเจ้าดับได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก [๗๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระญาณไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลในการสรรเสริญพระญาณ [๗๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๗๓] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระญาณัตถวิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ญาณัตถวิกเถราปทานที่ ๔ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๔๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๑๔๑-๑๔๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=74              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=1568&Z=1621                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=74              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=74&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5556              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=74&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5556                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap486/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :