ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๗. ปุฬินุปปาทกเถราปทาน

๗. ปุฬินุปปาทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุฬินุปปาทกเถระ
(พระปุฬินุปปาทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า) [๑๑๑] ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่อเทวละ อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ ที่ภูเขานั้น ที่จงกรมของข้าพเจ้าเป็นที่ที่พวกอมนุษย์เนรมิตให้ [๑๑๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามุ่นมวยผม สะพายคนโทน้ำ เมื่อจะแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด ได้ออกจากป่าใหญ่ไปในกาลนั้น [๑๑๓] ครั้งนั้น ศิษย์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน อุปัฏฐากข้าพเจ้า พวกเขาขวนขวายในการงานของตนอยู่ในป่าใหญ่ [๑๑๔] ข้าพเจ้าออกจากอาศรมได้ก่อพระเจดีย์ทรายแล้ว รวบรวมดอกไม้นานาชนิดมาบูชาพระเจดีย์นั้น [๑๑๕] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระเจดีย์แล้ว เข้าไปสู่อาศรม ศิษย์ทุกคนได้มาประชุมพร้อมกันแล้ว ถามความข้อนี้ว่า [๑๑๖] ข้าแต่ท่านเทวละ ท่านนมัสการสถูปที่ก่อด้วยทรายทำไม แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็อยากจะรู้ ข้าพเจ้าทั้งหลายถามท่านแล้วโปรดบอกด้วยเถิด [๑๑๗] ข้าพเจ้าตอบว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีพระจักษุ มีพระยศยิ่งใหญ่ ท่านทั้งหลายได้พบแล้วในบทมนตร์ของเรามิใช่หรือ เรานมัสการพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดเหล่านั้น ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่เช่นไร [๑๑๘] พระพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้มีความเพียรมาก เป็นสัพพัญญู ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้นมีคุณอย่างไร มีศีลอย่างไร มีพระยศยิ่งใหญ่เช่นไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๕๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๗. ปุฬินุปปาทกเถราปทาน

[๑๑๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑- มีพระทนต์ครบ ๔๐ ซี่ มีดวงเนตรดังดวงตาแห่งโค และสดใสเหมือนผลมะกล่ำ [๑๒๐] อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้บริสุทธิ์เมื่อเสด็จดำเนินไป ก็ทอดพระเนตรเพียงชั่วแอก พระชานุของพระองค์ไม่ลั่น ใครๆ ไม่ได้ยินเสียงที่ต่อ [๑๒๑] อนึ่ง พระสุคตทั้งหลาย เมื่อจะเสด็จดำเนินไม่ทรงรีบร้อนเสด็จดำเนินไป ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย [๑๒๒] และพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้ไม่สะดุ้ง ดุจพญาไกรสรราชสีห์ พระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่ทรงยกพระองค์ไม่ข่มสัตว์ทั้งหลาย [๑๒๓] ทรงหลุดพ้นจากการถือตัวและดูหมิ่น ท่านมีพระองค์เสมอในสัตว์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ไม่ทรงยกพระองค์ นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย [๑๒๔] อนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อเสด็จอุบัติขึ้น พระองค์ทรงแสดงแสงสว่าง ทรงประกาศวิการ ๖ ๒- ทั่วพื้นแผ่นดินนี้ทั้งสิ้น [๑๒๕] ทั้งพระองค์ทรงเห็นนรกด้วย ครั้งนั้น ไฟนรกดับ มหาเมฆบันดาลฝนให้ตก นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้ @ วิการ ๖ หมายถึงแผ่นดินไหว ๖ ประการ คือ (๑) ข้างหน้ายืดขึ้นข้างหลังยุบลง (๒) ข้างหลังยืดขึ้น @ข้างหน้ายุบลง (๓) ข้างซ้ายยืดขึ้นข้างขวายุบลง (๔) ข้างขวายืดขึ้นข้างซ้ายยุบลง (๕) ตรงกลางยืดขึ้น @โดยรอบยุบลง (๖) โดยรอบยืดขึ้นตรงกลางยุบลง (ขุ.พุทฺธ.อ. ๗๑/๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๗. ปุฬินุปปาทกเถราปทาน

[๑๒๖] พระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้น ทรงพระคุณประเสริฐมาก ไม่มีใครเทียบได้ มีพระยศยิ่งใหญ่ มีพระคุณหาประมาณมิได้ ใครๆ ไม่เกินพระองค์ไปโดยเกียรติคุณ พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นเช่นนี้ [๑๒๗] ศิษย์ทุกคนเป็นผู้มีความเคารพ ชื่นชมถ้อยคำของข้าพเจ้า ต่างได้ปฏิบัติเช่นนั้น ตามความสามารถ ตามกำลัง(ของตน) [๑๒๘] พวกเขามีความเพลิดเพลินในกรรมของตน เชื่อฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า มีฉันทะอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นพระพุทธเจ้า พากันบูชาพระเจดีย์ทราย [๑๒๙] ครั้งนั้น เทพบุตรผู้มียศใหญ่ จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต อุบัติในพระครรภ์ของพระมารดา หมื่นจักรวาลไหวแล้ว [๑๓๐] ข้าพเจ้ายืนอยู่ ณ ที่จงกรมไม่ไกลจากอาศรม ศิษย์ทุกคนได้มาประชุมพร้อมกันในสำนักของข้าพเจ้า ถามว่า [๑๓๑] แผ่นดินบันลือลั่นดุจโคอุสภะคึกคะนอง ดุจราชสีห์คำรน ดุจจระเข้ฟาดหาง จักมีผลเป็นอย่างไร [๑๓๒] ข้าพเจ้าตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ที่ข้าพเจ้าประกาศ ที่ใกล้พระสถูปกองทราย บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีโชค ผู้ทรงเป็นพระศาสดา เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดาแล้ว [๑๓๓] ข้าพเจ้าแสดงธรรมกถาแก่ศิษย์เหล่านั้นแล้ว กล่าวสดุดีพระมหามุนี ส่งศิษย์ของตนไปแล้ว นั่งขัดสมาธิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๗. ปุฬินุปปาทกเถราปทาน

[๑๓๔] ก็ข้าพเจ้ามีกำลังสิ้นไปแล้วหนอ ป่วยหนัก ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดแล้ว ได้สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง [๑๓๕] ครั้งนั้น ศิษย์ทุกคนมาประชุมกันได้สร้างจิตกาธานขึ้น แล้วได้ยกร่างของข้าพเจ้าขึ้นวางยังจิตกาธาน [๑๓๖] พวกเขาพากันยืนประนมมือเหนือศีรษะล้อมรอบจิตกาธาน พากันเศร้าโศก คร่ำครวญ [๑๓๗] เมื่อศิษย์เหล่านั้นพิไรรำพันอยู่ ข้าพเจ้าได้ไปใกล้จิตกาธานแล้วสั่งสอนพวกเขาว่า เราคืออาจารย์ของเธอทั้งหลาย ท่านผู้มีปัญญาดีทั้งหลาย อย่าได้เศร้าโศกเลย [๑๓๘] ท่านทั้งหลายพึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงพยายามในประโยชน์ของตนทั้งกลางวันกลางคืน อย่าได้ประมาท จงใช้เวลาที่มีให้เป็นประโยชน์ [๑๓๙] ข้าพเจ้าพร่ำสอนศิษย์ของตนแล้วกลับไปยังเทวโลก ได้อยู่ในเทวโลกถึง ๑๘ กัป [๑๔๐] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ และได้ครองเทวสมบัติหลายร้อยชาติ [๑๔๑] ในกัปที่เหลือ ข้าพเจ้าแม้จะเวียนว่ายตายเกิดไปมา แต่ก็ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการก่อพระเจดีย์ทราย [๑๔๒] ในเดือนที่ดอกโกมุทบาน ต้นไม้จำนวนมากก็มีดอกบาน ฉันใด ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ที่พระศาสดาผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ให้เบิกบานแล้วในสมัยนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๙. ปังสุกูลวรรค]

๗. ปุฬินุปปาทกเถราปทาน

[๑๔๓] ข้าพเจ้ามีความเพียรนำพาธุระไป อันเป็นเหตุนำธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะมาให้ ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๔๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าไว้ จึงไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญพระพุทธเจ้า [๑๔๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ [๑๔๖] การที่ข้าพเจ้ามาในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นการมาดีแล้วโดยแท้ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว [๑๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล ได้ทราบว่า ท่านพระปุฬินุปปาทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุฬินุปปาทกเถราปทานที่ ๗ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๑๕๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๑๕๐-๑๕๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=77              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=1687&Z=1761                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=77              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=77&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5557              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=77&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5557                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap489/en/walters



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :