ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๒
๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตน้ำอ้อยงบเป็นต้น
เรื่องน้ำอ้อยงบ
[๒๗๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย แล้ว เสด็จไปกรุงราชคฤห์ ในระหว่างทาง ท่านพระกังขาเรวตะแวะเข้าโรงทำน้ำ อ้อยงบ เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบ ยำเกรงอยู่ว่า “น้ำอ้อยงบ เจืออามิสเป็นของไม่ควรฉันในเวลาวิกาล” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันน้ำอ้อยงบ แม้ภิกษุทั้งหลายที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันน้ำอ้อยงบไปด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านผสม แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบเพื่ออะไร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้างลงในน้ำ อ้อยงบ เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น น้ำอ้อยงบนั้นก็ยังคงเป็นน้ำอ้อยงบเหมือนเดิม เราอนุญาตให้ฉันน้ำอ้อยงบได้ตามสบาย”
เรื่องถั่วเขียว
ท่านพระกังขาเรวตะเห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระระหว่างทาง ยำเกรงอยู่ ว่า “ถั่วเขียวเป็นของไม่ควร ถึงต้มแล้วก็ยังงอกได้” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าถั่วเขียวแม้ที่ต้มสุกแล้วแต่ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันได้ตามสบาย”
เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ๑-
[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ โรคลมสงบลง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันยาดองโลณ- โสวีรกะได้ตามสบาย แต่ผู้ไม่เป็นไข้ต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ” @เชิงอรรถ : @ ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภก @ธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้ง @น้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อยา @นี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน) @โรคริดสีดวงเป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้ (วิ.อ. ๑/๑๙๒/๕๑๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๖๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา

๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามการหุงต้มภายในเป็นต้น
เรื่องอาหารที่หุงต้มเอง
[๒๗๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประชวรโรคลมใน พระอุทร ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า “เมื่อก่อน พระผู้มีพระภาคทรงประชวร โรคลมในพระอุทร ก็ทรงพระสำราญได้ด้วยข้าวต้มปรุงด้วยของ ๓ อย่าง” จึงออก ปากของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ด้วยตนเองแล้วเก็บไว้ภายใน๑- ต้มเองแล้ว น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคด้วยกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดื่มข้าวต้ม ปรุงด้วยของ ๓ อย่างเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่อง ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถามว่า “เธอได้ ข้าวต้มนี้มาจากไหน อานนท์” @เชิงอรรถ : @ เก็บไว้ภายใน คือเก็บไว้ในอกัปปิยกุฎี (วิ.อ. ๓/๒๗๔/๑๗๖) ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตกัปปิย @กุฎี (ดูข้อ ๒๙๕ หน้า ๑๑๖ ในเล่มนี้) เพื่อให้ภิกษุภิกษุณี พ้นจากการเก็บของไว้ภายในและหุงต้มภายใน @(วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “อานนท์ การทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอ จึงขวนขวายเพื่อความมักมากเช่นนี้เล่า อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่ หุงต้มเอง จัดเป็นอกัปปิยะ๑- การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน หุงต้มภายใน หุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉัน อาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน หุงต้มภายใน คนอื่นหุงต้มให้ ถ้า ภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน แต่หุงต้มภายนอก หุงต้มเอง ถ้า ภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก แต่หุงต้มภายใน หุงต้มเอง ถ้าภิกษุ ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน แต่หุงต้มภายนอก คนอื่นหุงต้มให้ ถ้าภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายใน คนอื่นหุงต้มให้ ถ้าภิกษุ ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายนอก หุงต้มเอง ถ้าภิกษุ ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายนอก คนอื่นหุงต้มให้ ถ้าภิกษุฉันอาหารนั้น ไม่ต้องอาบัติ @เชิงอรรถ : @ อกัปปิยะ คือ ของที่ภิกษุไม่สมควรจะบริโภค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา

เรื่องอุ่นภัตตาหาร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนาว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภัตตาหารที่หุง ต้มเอง” จึงยำเกรงโภชนาหารที่อุ่นใหม่ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารได้”
เรื่องให้เก็บอาหารภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
สมัยนั้น กรุงราชคฤห์เกิดข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายนำเกลือบ้าง น้ำมัน บ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างมาที่อาราม ภิกษุทั้งหลายให้เก็บของเหล่านั้นไว้ภาย นอก สัตว์ต่างๆ๑- คาบไปกินเสียบ้าง พวกโจรลักเอาไปบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เก็บไว้ภายในได้” พวกกัปปิยการกเก็บอาหารไว้ภายในแล้วหุงต้มภายนอก พวกคนกินเดนพากัน ห้อมล้อม ภิกษุทั้งหลายฉันไม่สะดวก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มภายในได้” ในคราวข้าวยากหมากแพง พวกกัปปิยการก๒- นำเอาสิ่งของไปเป็นจำนวนมากกว่า ถวายภิกษุทั้งหลายเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มเอง ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง” @เชิงอรรถ : @ สัตว์ต่างๆ แปลมาจากบาลีว่า “อุกฺกปิณฺฑกาปิ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “vermin” แปลว่า สัตว์ที่ @ทำลายพืชพันธุ์ เช่น เสือปลา หนู นก ไส้เดือน (วิ.อ. ๓/๒๘๑/๑๗๘) @ กัปปิยการก หมายถึงผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ศิษย์พระ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๒}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา

๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
ว่าด้วยการรับประเคนของที่จับต้องแล้ว
เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว
[๒๗๕] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปอยู่จำตลอดพรรษาในแคว้นกาสีแล้ว เดินทาง ไปกรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทาง ไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือ ที่ประณีตตามต้องการเลย แม้ว่าของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ไม่มีกัปปิยการก พากันลำบาก จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน เขตกรุงราชคฤห์ สถานที่ ให้เหยื่อกระแต ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร การที่พระพุทธเจ้าทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เดินทางมาไม่ลำบากหรือ และพวก เธอมาจากที่ไหน” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ยังสบายดีพระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระราชทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์จำพรรษาในแคว้น กาสี เดินทางมากรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทางไม่ได้โภชนาหาร ธรรมดาหรือที่ประณีตตามต้องการ แม้ของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ก็หา กัปปิยการกไม่ได้ ดังนั้นจึงเดินทางมาลำบาก พระพุทธเจ้าข้า” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นของเคี้ยวคือผลไม้ที่ใด ถึงไม่มี กัปปิยการก เราอนุญาตให้หยิบนำไปเอง พบกัปปิยการกแล้ววางไว้บนพื้นดินให้ เขาประเคนแล้วฉันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่จับต้องแล้ว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๓}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา

เรื่องพราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้ง
[๒๗๖] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ ครั้งนั้น พราหมณ์ นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “อย่ากระนั้นเลย เราพึงถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่แก่ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน” แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันและกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์โปรด รับภัตตาหารของข้าพระองค์ เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงกลับไป เมื่อผ่านราตรีนั้นไป พราหมณ์สั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้คนไป กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหาร เสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปนิเวศน์ของพราหมณ์พร้อมภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัด ถวาย เขาได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์นั้นเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุก จากอาสนะเสด็จกลับ เมื่อพระองค์เสด็จกลับไม่นาน พราหมณ์นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราตั้งใจว่า จะถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๔}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา

กลับลืมเสีย เราพึงให้เขาจัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปอาราม” แล้ว ให้จัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปอาราม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ ว่า “พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ตั้งใจจะถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่จึงได้นิมนต์ภิกษุ สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่ลืมถวาย ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดรับงาใหม่และ น้ำผึ้งใหม่ของข้าพระองค์เถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงถวายภิกษุทั้งหลาย” สมัยนั้น เป็นคราวข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้ว ห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่า พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้บอกห้าม ภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา อนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดนที่นำ มาจากที่ฉันได้”
๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้ฉันของที่รับประเคนไว้เป็นต้น
เรื่องของฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า
[๒๗๗] ๑- สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ส่งของ เคี้ยวไปถวายสงฆ์ด้วยแจ้งว่า “ขอมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์” ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน @เชิงอรรถ : @ วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๙๕/๔๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา

พอดี คนทั้งหลายไปถึงอารามได้ถามภิกษุทั้งหลายว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้าอุปนันทะไปไหน” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “อุบาสกทั้งหลาย ท่านอุปนันทศากยบุตรองค์นั้นเข้า ไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน” คนเหล่านั้นกราบเรียนว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ของเคี้ยวนี้ขอมอบให้พระ คุณเจ้าอุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์” ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงรับประเคน เก็บไว้จนกว่าอุปนันทะจะกลับมา” ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมตระกูลก่อนเวลาฉัน กลับมา ถึงตอนกลางวัน เวลานั้นเป็นคราวข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็ก น้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่า พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ บอกห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดนที่รับ ประเคนไว้ก่อนเวลาฉันได้”
เรื่องพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย
[๒๗๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี แล้วทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก เศรษฐีในกรุงสาวัตถีนั้น สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่แล้ว ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธร้อนในกาย กลับมีความสำราญด้วยยาอะไร” ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมมีความสำราญด้วยเหง้าบัวและ รากบัว” ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากพระเชตวันมาปรากฏที่ฝั่ง สระโบกขรณีมันทากินีเร็วเหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ช้างตัวหนึ่งเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกับ ท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะมาเถิด พระ คุณเจ้ามาดี ต้องการอะไร จะถวายอะไรดีเล่า” ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “อาตมาต้องการเหง้าบัวกับรากบัว” ช้างนั้นสั่งช้างอีกตัวหนึ่งว่า “ท่านจงถวายเหง้าบัวกับรากบัวตามต้องการแด่ พระคุณเจ้า” ช้างตัวนั้นลงสระโบกขรณีมันทากินี ใช้งวงถอนเหง้าบัวและรากบัวล้างน้ำจน สะอาด ม้วนเป็นห่อแล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มา ปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร เหมือนคนมีกำลังเหยียดออกหรือคู้แขนเข้า แม้ช้าง เชือกนั้นก็หายจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร ประเคนเหง้าบัวและรากบัวแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วหายตัวไปจากพระ เชตวันมาปรากฏที่ฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระ สารีบุตร เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัว อาพาธร้อนในกายก็หาย ทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ]

๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา

สมัยนั้น เกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดน ที่เกิดในป่า ที่เกิดในกอบัวได้”
เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก
สมัยนั้น ของฉันคือผลไม้มีมากมายในกรุงสาวัตถี แต่ไม่มีกัปปิยการก ภิกษุ ทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ฉันผลไม้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้เพาะ พันธุ์ไม่ได้๑- ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้วยังไม่ทำกัปปะก็ฉันได้”
๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยการทรงห้ามทำสัตถกรรม๒-
เรื่องริดสีดวงทวาร
[๒๗๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย แล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต ในกรุงราชคฤห์นั้น @เชิงอรรถ : @ ผลไม้ที่เพาะพันธุ์ไม่ได้ หมายถึงผลไม้ที่มีเมล็ดอ่อน ไม่สามารถให้เกิดหน่อได้ (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๖) @ สัตถกรรม คือ การผ่าตัดด้วยศัสตรา การบ่งด้วยเข็มหรือหนาม การตัดด้วยกรรไกรหรือใช้เล็บหยิก @ในที่ลับ (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๗๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๖๘-๗๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=5&siri=12              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=1144&Z=1338                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=48              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=5&item=48&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3938              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=5&item=48&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3938                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu5              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/brahmali#pli-tv-kd6:16.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd6/en/horner-brahmali#Kd.6.15.10



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :