ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
จะแสดงธรรมท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับอาราธนาก่อน
[๑๖๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนา แสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงแสดงธรรมในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดแสดง ต้อง อาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เถระแสดงธรรมเอง หรือให้อาราธนาผู้อื่นแสดง.
ถามพระวินัยท่ามกลางสงฆ์ต้องได้รับสมมติก่อน
[๑๖๙] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับสมมติ ถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้รับสมมติ ไม่พึงถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดถาม ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ได้รับสมมติแล้ว ถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์ได้.
วิธีสมมติเป็นผู้ถาม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงสมมติอย่างนี้. ตนเองสมมติตนก็ได้ ภิกษุอื่นสมมติ ภิกษุอื่นก็ได้. อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองสมมติตน? ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติตน
พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้า ขอถามพระวินัยต่อผู้มีชื่อนี้. อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตน. อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น? ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติผู้อื่น
พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ขอผู้มีชื่อนี้ ถามพระวินัยต่อผู้มิชื่อนี้. อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น.
ถามพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ได้รับสมมติแล้ว ถามพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์. พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ แม้ที่ได้รับสมมติแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาดูบุคคลแล้วจึงถามวินัยในท่ามกลางสงฆ์. สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ยังไม่ได้รับสมมติ วิสัชนาพระวินัยในท่ามกลางสงฆ์. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ยังไม่ได้รับสมมติ ไม่พึงวิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดวิสัชนา ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุที่ได้รับสมมติแล้ว วิสัชนาวินัยในท่ามกลางสงฆ์.
วิธีสมมติเป็นผู้วิสัชนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุพึงสมมติอย่างนี้. ตนเองสมมติตนก็ได้ ภิกษุอื่นสมมติ ภิกษุอื่นก็ได้. อย่างไรเล่า ชื่อว่าตนเองสมมติตน? ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติตน
พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้า อันผู้มีชื่อนี้ถามถึงพระวินัยแล้ว ขอวิสัชนา. อย่างนี้ ชื่อว่าตนเองสมมติตน. อย่างไรเล่า ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น? ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:-
กรรมวาจาสมมติผู้อื่น
พระสงฆ์เจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ผู้มีชื่อนี้ อันผู้มีชื่อนี้ถามถึงพระวินัยแล้ว ขอวิสัชนา. อย่างนี้ ชื่อว่าภิกษุอื่นสมมติภิกษุอื่น.
วิสัชนาพระวินัยต้องตรวจดูบริษัทก่อน
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ได้รับสมมติแล้ว วิสัชนาพระวินัยในท่าม กลางสงฆ์. พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตให้ภิกษุแม้ที่ได้รับสมมติแล้ว ตรวจดูบริษัท พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงวิสัชนาวินัย ในท่ามกลางสงฆ์.
โจทก์ต้องขอโอกาสต่อจำเลย
[๑๗๐] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์โจทภิกษุผู้มิได้ทำโอกาสด้วยอาบัติ. ภิกษุ- *ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ- *ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงโจทภิกษุผู้มิได้ทำโอกาสด้วยอาบัติ รูปใดโจท ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โจทก์ขอให้จำเลยทำโอกาส ด้วยคำว่า ขอท่านจงทำ โอกาส ผมใคร่จะกล่าวกะท่าน ดังนี้ แล้วจึงโจทด้วยอาบัติ.
ก่อนโจทต้องพิจารณาดูบุคคล
สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ขอให้พระฉัพพัคคีย์ทำโอกาสแล้ว โจทด้วย อาบัติ. พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้โจทแม้เมื่อจำเลยทำโอกาสแล้ว พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงโจทด้วยอาบัติ.
ก่อนขอโอกาสต้องพิจารณาดูบุคคล
สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์คิดว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ขอให้พวกเราทำโอกาส ก่อนดังนี้ จึงรีบขอให้ภิกษุทั้งหลายที่บริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ ทำโอกาสในอธิกรณ์ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุ. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุ- *ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขอให้ภิกษุทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ทำโอกาส ในอธิกรณ์ที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่มีเหตุ รูปใดขอให้ทำ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พิจารณาดูบุคคลก่อน จึงขอให้ทำโอกาส.
เรื่องห้ามทำกรรมไม่เป็นธรรม
[๑๗๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทำกรรมไม่เป็นธรรมในท่ามกลางสงฆ์. ภิกษุ- *ทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำกรรมไม่เป็นธรรมในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดทำต้องอาบัติทุกกฏ. พระฉัพพัคคีย์ยังขืนทำกรรมไม่เป็นธรรมอยู่ตามเดิม. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้คัดค้าน ในเมื่อภิกษุทำกรรมไม่เป็นธรรม. สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก พากันคัดค้าน ในเมื่อพระฉัพพัคคีย์ทำกรรม ไม่เป็นธรรม. พระฉัพพัคคีย์ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำความเห็นแย้งได้. ภิกษุทั้งหลายทำความเห็นแย้งในสำนักพระฉัพพัคคีย์เหล่านั้นนั่นแหละ. พระฉัพพัคคีย์ ได้อาฆาต เคืองแค้น คุกคามจะฆ่าเสีย. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔-๕ รูปคัดค้าน ให้ภิกษุ ๒-๓ รูป ทำความเห็นแย้ง ให้ภิกษุรูปเดียวนึกในใจว่า กรรมนั้นไม่ควรแก่เรา.
แกล้งสวดปาติโมกข์ไม่ให้ได้ยิน
[๑๗๒] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์แกล้งสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ไม่ให้ ได้ยิน. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้สวดปาติโมกข์ไม่พึงแกล้งสวดไม่ให้ได้ยิน รูปใดสวดไม่ให้ ได้ยิน ต้องอาบัติทุกกฏ. สมัยต่อมา ท่านพระอุทายีเป็นผู้สวดปาติโมกข์แก่สงฆ์ แต่มีเสียงเครือดุจเสียงกา. ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วว่า ภิกษุสวด ปาติโมกข์ต้องสวดให้ได้ยินทั่วกัน ก็อาตมามีเสียงเครือดุจเสียงกา อาตมาจะพึงปฏิบัติอย่างไร หนอ จึงแจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายๆ กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุที่สวดปาติโมกข์ พยายามสวด ด้วยตั้งใจว่าจะสวดให้ได้ยินถ้อยคำทั่วกัน เมื่อพยายาม ไม่ต้องอาบัติ.
ห้ามสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์
[๑๗๓] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเทวทัตต์สวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่มีคฤหัสถ์ปนอยู่ด้วย รูปใดสวด ต้อง อาบัติทุกกฏ.
ต้องได้รับอาราธนาจึงสวดปาติโมกข์ได้
[๑๗๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ไม่ได้รับอาราธนาสวดปาติโมกข์ในท่ามกลาง สงฆ์. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้รับอาราธนา ไม่พึงสวดปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปาติโมกข์ให้เป็นหน้าที่ของพระเถระ.
อัญญติตถิยภาณวารที่ ๑๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๔๔๘๑-๔๕๙๔ หน้าที่ ๑๘๓-๑๘๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=4&A=4481&Z=4594&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=4&A=4481&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=4&siri=59              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=168              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=4&A=4569              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3018              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=4&A=4569              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3018              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i147-e.php#topic15.5 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/brahmali#pli-tv-kd2:15.6.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/horner-brahmali#Kd.2.15.5

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]