ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
มูลเหตุสัทธิวิหาริกวัตร
[๔๔๐] สมัยนั้น พระอุปัชฌายะทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระ- *อุปัชฌายะทั้งหลาย จึงไม่ประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า อุปัชฌายะ ทั้งหลายไม่ประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาค ... ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสัทธิวิหาริกวัตรแก่อุปัชฌายะ ทั้งหลาย โดยประการที่อุปัชฌายะทั้งหลายพึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก ฯ
สัทธิวิหาริกวัตร
[๔๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะพึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก วิธีประพฤติชอบในสัทธิวิหาริกนั้น ดังต่อไปนี้:- ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌายะพึงสงเคราะห์ อนุเคราะห์สัทธิวิหาริกด้วย อุเทศ ปริปุจฉา โอวาท อนุศาสนี ถ้าอุปัชฌายะมีบาตร สัทธิวิหาริกไม่มี อุปัชฌายะพึงให้แก่สัทธิวิหาริก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไร หนอ บาตรพึงบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก ถ้าอุปัชฌายะมีจีวร สัทธิวิหาริกไม่มี อุปัชฌายะพึงให้แก่สัทธิวิหาริก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไร หนอ จีวรพึงบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก ถ้าอุปัชฌายะมีบริขาร สัทธิวิหาริกไม่มี อุปัชฌายะพึงให้แก่สัทธิวิหาริก หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไร หนอ บริขารพึงบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก ถ้าสัทธิวิหาริกอาพาธ อุปัชฌายะพึงลุก แต่เช้าตรู่ แล้วให้ไม้ชำระฟัน ให้น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถ้ายาคูมี พึงล้างภาชนะ เสียก่อน แล้วนำยาคูเข้าไปให้ เมื่อสัทธิวิหาริกดื่มยาคูแล้ว พึงให้น้ำ รับ ภาชนะมา ถือต่ำๆ ล้างให้เรียบร้อย อย่าให้กระทบแล้วเก็บไว้ เมื่อสัทธิวิหาริก ลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย ถ้าสัทธิวิหาริกประสงค์ จะเข้าบ้าน พึงให้ผ้านุ่ง พึงรับผ้านุ่งผลัดมา พึงให้ประคดเอว พึงซ้อนผ้าห่ม ๒ ชั้นให้ พึงล้างบาตรให้พร้อมทั้งน้ำ พึงปูอาสนะไว้ด้วยคิดว่า เพียงเวลาเท่านี้ สัทธิวิหาริกจักกลับมา พึงวางน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ใกล้ๆ พึงลุกรับบาตรจีวร พึงให้ผ้านุ่งผลัด พึงรับผ้านุ่งมา ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งที่แดด สักครู่หนึ่ง แต่อย่าผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อพับจีวร พึงพับให้เหลื่อมมุม กัน ๔ นิ้ว ด้วยตั้งใจมิให้มีรอยพับตรงกลาง พึงสอดประคดเอวไว้ในขนดจีวร ถ้าบิณฑบาตมี และสัทธิวิหาริกก็ประสงค์จะฉัน พึงให้น้ำแล้วนำ บิณฑบาตเข้าไป พึงถามสัทธิวิหาริกถึงน้ำฉัน เมื่อสัทธิวิหาริกฉันแล้ว พึงให้น้ำ รับบาตรมา ถือต่ำๆ ล้างให้ดี อย่าให้ครูดสี เช็ดให้หมดน้ำ ผึ่งไว้ที่แดดสักครู่ หนึ่ง แต่อย่าผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงเก็บบาตร จีวร เมื่อเก็บบาตร พึงเอามือข้าง หนึ่งจับบาตร เอามือข้างหนึ่งลูบคลำใต้เตียง หรือใต้ตั่งแล้วเก็บบาตร แต่อย่า เก็บบาตรไว้บนพื้นที่ปราศจากเครื่องรอง เมื่อเก็บจีวร พึงเอามือข้างหนึ่งถือจีวร เอามือข้างหนึ่งลูบราวจีวร หรือสายระเดียง แล้วทำชายไว้ข้างนอก ขนดไว้ข้าง ใน แล้วเก็บ เมื่อสัทธิวิหาริกลุกแล้ว พึงเก็บอาสนะ น้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาดที่นั้นเสีย ถ้าสัทธิวิหาริกใคร่จะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงให้ ถ้าต้องการน้ำเย็น พึงจัด น้ำเย็นให้ ถ้าต้องการน้ำร้อน พึงจัดน้ำร้อนให้ ถ้าสัทธิวิหาริกจะใคร่เข้าเรือนไฟ พึงบดจุณ แช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือนไฟไปให้ แล้วรับจีวรมาวางไว้ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พึงให้จุณ ให้ดิน ถ้าอุตสาหะอยู่ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้า ปิดทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง แล้วเข้าเรือนไฟ อย่านั่งเบียดภิกษุผู้เถระ อย่าเกียดกัน อาสนะภิกษุใหม่ พึงทำบริกรรม แก่สัทธิวิหาริกในเรือนไฟ เมื่อเข้า เรือนไฟ เมื่อออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วปิดทั้งข้างหน้าและ ข้างหลังออกจากเรือนไฟ พึงทำบริกรรมแก่สัทธิวิหาริกแม้ในน้ำ อาบเสร็จแล้ว พึง ขึ้นมาก่อนทำตัวของตน ให้แห้งน้ำ นุ่งผ้า แล้วพึงเช็ดน้ำจากตัวสัทธิวิหาริกพึงให้ ผ้านุ่ง ผ้าสังฆาฏิ ถือ ตั่งสำหรับเรือนไฟมาก่อน แล้วปูอาสนะไว้ จัดตั้งน้ำ ล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ใกล้ๆ พึงถามสัทธิวิหาริกด้วยน้ำฉัน สัทธิวิหาริกอยู่ในวิหารแห่งใด ถ้าวิหารแห่งนั้นรก ถ้าอุปัชฌายะอุตสาหะ อยู่ พึงปัดกวาดให้สะอาด เมื่อปัดกวาดวิหาร พึงขนบาตร จีวรออกก่อน แล้ว วางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ... ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี พึงตักมาไว้ในหม้อชำระ ถ้าความกระสันบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌายะพึงระงับ หรือพึงวาน ภิกษุอื่นให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริกนั้น ถ้าความรำคาญ บังเกิดแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌายะพึงบรรเทา หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริกนั้น ถ้าทิฐิบังเกิดแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌายะพึง ให้สละเสีย หรือพึงวานภิกษุอื่นให้ช่วย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริกนั้น ถ้าสัทธิวิหาริกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อุปัชฌายะพึงทำความขวน ขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่สัทธิวิหาริก ถ้าสัทธิวิหาริก ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบาย อย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักสัทธิวิหาริกเข้าหาอาบัติเดิม ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่มานัต อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่ สัทธิวิหาริก ถ้าสัทธิวิหาริกควรอัพภาน อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วย อุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานสัทธิวิหาริก ถ้าสงฆ์ใคร่จะทำกรรมแก่สัทธิ วิหาริก คือ ดัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรือ อุกเขปนียกรรม อุปัชฌายะพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ ไม่พึงทำกรรมแก่สัทธิวิหาริก หรือสงฆ์พึงน้อมไปเพื่อกรรมเบา หรือสัทธิวิหาริก นั้นถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรือ อุกเขปนียกรรมแล้ว อุปัชฌายะ พึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สัทธิวิหาริกพึงประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง ประพฤติแก้ตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรม นั้นเสีย ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องซัก อุปัชฌายะพึงสั่งว่า ท่านพึงซักอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงซักจีวรของสัทธิ วิหาริก ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องทำ อุปัชฌายะพึงสั่งว่า ท่านพึงทำอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงทำจีวรของสัทธิ- *วิหาริก ถ้าน้ำย้อมของสัทธิวิหาริกจะต้องต้ม อุปัชฌายะพึงสั่งว่า ท่านพึงต้ม อย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึงต้มน้ำ ย้อมของสัทธิวิหาริก ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องย้อม อุปัชฌายะพึงสั่งว่า ท่าน พึงย้อมอย่างนี้ หรือพึงทำความขวนขวายว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใครๆ พึง ย้อมจีวรของสัทธิวิหาริก เมื่อย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาให้ดี เมื่อ หยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไปเสีย ถ้าสัทธิวิหาริกอาพาธ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นสัทธิวิหาริกวัตรของอุปัชฌายะทั้งหลาย ซึ่งอุปัชฌายะทั้งหลายพึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก ฯ
ทุติยภาณวาร จบ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๔๘๘๒-๔๙๗๐ หน้าที่ ๒๐๒-๒๐๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=4882&Z=4970&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=7&A=4882&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=69              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=440              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=7&A=5091              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=7&A=5091              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd18/en/brahmali#pli-tv-kd18:12.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd18/en/horner-brahmali#Kd.18.12.1

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]