ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
เรื่องการเปลือยกาย
[๙๐] สมัยนั้น ภิกษุเปลือยกายไหว้ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกาย ไหว้ภิกษุไม่เปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายให้ภิกษุเปลือยกายไหว้ตน ภิกษุเปลือย กายให้ภิกษุไม่เปลือยกายไหว้ตน ภิกษุเปลือยกายทำบริกรรมให้แก่ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายใช้ให้ทำบริกรรมแก่ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายให้ของแก่ ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายรับประเคน เปลือยกายเคี้ยว เปลือยกายฉัน เปลือยกายลิ้มรส เปลือยกายดื่ม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเปลือยกายไม่พึง ไหว้ภิกษุเปลือยกาย ภิกษุเปลือยกายไม่พึงไหว้ภิกษุเปลือยกายไม่พึงให้ภิกษุ เปลือยกายไหว้ตน ภิกษุเปลือยกายไม่พึงให้ภิกษุไม่เปลือยกายไหว้ตน ไม่พึง เปลือยกายทำบริกรรมแก่ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงใช้ภิกษุเปลือยกายทำบริกรรม ไม่พึงเปลือยกายให้ของแก่ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงเปลือยกายรับประเคน ไม่ พึงเปลือยกายเคี้ยวของ ไม่พึงเปลือยกายฉันอาหาร ไม่พึงเปลือยกายลิ้มรส ไม่ พึงเปลือยกายดื่ม รูปใดดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
เรื่องศาลาเรือนไฟและบ่อน้ำ
[๙๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางจีวรไว้บนพื้นดินในเรือนไฟจีวรเปื้อน ฝุ่น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียงจีวรในเรือนไฟ ครั้นฝนตก จีวรถูกฝนเปียก ตรัสว่า ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตศาลาใกล้เรือนไฟ ศาลาใกล้เรือนไฟมีพื้นต่ำ น้ำท่วม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ถมให้สูง ดินที่ถมพังลง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อ มูลดิน ... ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ขึ้นลงพลัดตก ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด ฯ [๙๒] สมัยต่อมา ผงหญ้าบนศาลาเรือนไฟตกเกลื่อน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบดินทั้งข้างบนข้างล่าง ... ราวจีวร สายระเดียงจีวร ฯ [๙๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจที่จะถูหลังทั้งในเรือนไฟ ทั้งในน้ำ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต เครื่องกำบัง ๓ ชนิด คือ เรือนไฟ ๑ น้ำ ๑ ผ้า ๑ ฯ [๙๔] สมัยต่อมา น้ำในเรือนไฟไม่มี ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบ่อน้ำ ขอบบ่อน้ำ ทรุดพัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อมูลดิน ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ บ่อน้ำต่ำไป น้ำท่วมได้ ภิกษุทั้ง หลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ถมให้สูง ดินที่ถมพังทะลาย ... ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ... ขึ้นลง พลัดตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด ฯ [๙๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เถาวัลย์บ้าง ประคดเอวบ้าง ผูก ภาชนะตักน้ำ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกสำหรับบ่อน้ำ มือเจ็บ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคันโพงคล้ายคันชั่ง ระหัดชัก ระหัดถีบ ภาชนะแตกเสียมาก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ถังน้ำ ๓ อย่าง คือ ถังน้ำโลหะ ๑ ถังน้ำไม้ ๑ ถังน้ำหนัง ๑ ฯ [๙๖] สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายตักน้ำในที่แจ้ง ลำบาก ด้วยหนาวบ้าง ร้อนบ้าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตศาลาสำหรับบ่อน้ำ ผงหญ้าที่ศาลาบ่อน้ำหล่นเกลื่อน ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงฉาบด้วยดินทั้งข้างบนข้างล่าง ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง จำหลักเป็นพวงดอกไม้ เครือไม้ ฟันมังกร ดอกจอกห้ากลีบ ราวจีวร สายระเดียงจีวร ฯ [๙๗] สมัยนั้น บ่อน้ำยังไม่มีฝาปิด ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้าง ตกลง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด ฯ [๙๘] สมัยต่อมา ภาชนะสำหรับขังน้ำยังไม่มี ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตรางน้ำ อ่างน้ำ ฯ [๙๙] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในที่นั้นๆ ในอาราม อารามเป็นตม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา อนุญาตลำรางระบายน้ำ ลำราง โล่งโถง ภิกษุทั้งหลายอายที่จะสรงน้ำ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กั้นกำแพง ๓ ชนิด คือกำแพงอิฐ ๑ กำแพง หิน ๑ กำแพงไม้ ๑ ลำรางระบายน้ำเป็นตม ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาด ๓ ชนิด คืออิฐ ๑ หิน ๑ ไม้ ๑ น้ำขัง ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ ฯ [๑๐๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีเนื้อตัวตกหนาว จึงกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาผ้าชุบน้ำ เช็ดตัว ฯ
เรื่องสรงน้ำ
[๑๐๑] สมัยนั้น อุบาสกผู้หนึ่งใคร่จะสร้างสระน้ำถวายสงฆ์ ภิกษุทั้ง หลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต สระน้ำ ขอบสระน้ำชำรุด ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อ ขอบสระ ๓ อย่าง คือ ก่อด้วยอิฐ ๑ ก่อด้วยหิน ๑ ก่อด้วยไม้ ๑ ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นลงลำบาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ ๑ บันไดหิน ๑ บันไดไม้ ๑ ขึ้นลงพลัดตก ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด น้ำในสระเป็นน้ำเก่า ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯ [๑๐๒] สมัยต่อมา อุบาสกผู้หนึ่งประสงค์จะสร้างเรือนไฟ มีปั้นลม ถวายภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเรือนไฟมีปั้นลม ฯ [๑๐๓] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์อยู่ปราศจากผ้านิสีทนะถึง ๔ เดือน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงอยู่ปราศจากผ้านิสีทนะถึง ๔ เดือน รูปใดอยู่ปราศ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
ทรงห้ามนอนบนที่นอนดอกไม้
[๑๐๔] สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์นอนบนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ ชาวบ้านเดินเที่ยวชมวิหารพบเห็นเข้า จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนที่นอนอันเกลื่อนด้วยดอกไม้ รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
พุทธานุญาตรับของหอม
[๑๐๕] สมัยนั้น ชาวบ้านถือของหอมบ้าง ดอกไม้บ้างไปวัด ภิกษุ ทั้งหลายรังเกียจไม่รับประเคน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับของหอมแล้วเจิมไว้ที่บานประตูหน้าต่าง ให้ รับดอกไม้แล้ววางไว้ในส่วนข้างหนึ่งในวิหาร ฯ [๑๐๖] สมัยนั้น สันถัดขนเจียมหล่อบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต สันถัดขนเจียมหล่อ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดกันว่า สันถัดขนเจียมหล่อจะต้อง อธิษฐานหรือวิกัปป์ ... ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สันถัดขนเจียมที่หล่อไม่ ต้องอธิษฐาน ไม่ต้องวิกัปป์ ฯ [๑๐๗] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ฉันจังหันบนเตียบ ชาวบ้านเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉัน อาหารบนเตียบ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ [๑๐๘] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ เวลาฉันจังหัน เธอไม่สามารถ จะทรงบาตรไว้ด้วยมือได้ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคๆ ทรงอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโตก ฯ
ทรงห้ามฉันในภาชนะเดียวกันเป็นต้น
[๑๐๙] สมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ฉันจังหันในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำ ในขันเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนบนเครื่องลาดเดียวกันบ้าง นอนในผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนบนเครื่องลาดและผ้าห่มร่วมผืนเดียวกันบ้าง ชาวบ้านต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ... เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภค กาม ... ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ... ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันร่วมภาชนะเดียวกัน ไม่พึงดื่มร่วมขันใบเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเตียงเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดเดียวกัน ไม่พึงนอน ร่วมผ้าห่มผืนเดียวกัน ไม่พึงนอนร่วมเครื่องลาดและผ้าห่มผืนเดียวกัน รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๖๕๗-๗๖๖ หน้าที่ ๒๗-๓๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=657&Z=766&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=7&A=657&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=7&siri=10              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=-90              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=7&A=659              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=7&A=659              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/brahmali#pli-tv-kd15:15.1.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/horner-brahmali#Kd.15.15

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]