ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๕. ภัททาลิสูตร
คุณแห่งการฉันอาหารหนเดียว
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัต ครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณ คือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่ สำราญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่า เมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มี โรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ.
พระภัททาลิฉันอาหารหนเดียวไม่ได้
[๑๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวได้ เพราะ เมื่อข้าพระองค์ฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน. ดูกรภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นเสียส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้ แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สามารถจะฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะเมื่อ ข้าพระองค์ฉันแม้ด้วยอาการอย่างนั้น จะพึงมีความรำคาญ ความเดือดร้อน. ครั้งนั้นแล ท่าน พระภัททาลิประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา. ครั้งนั้นแล ท่านพระภัททาลิไม่ได้ให้ตนประสบพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาสนั้นทั้งหมด เหมือนภิกษุอื่นผู้ไม่ทำความบริบูรณ์ในสิกขาในพระ ศาสนาของพระศาสดาฉะนั้น.
พระภัททาลิขอขมาพระพุทธเจ้า
[๑๖๒] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันช่วยกันทำจีวรกรรมสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ครั้งนั้น ท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ โดยปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวว่า ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ จีวรกรรมนี้แล ภิกษุทั้งหลายช่วยกันทำสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมี จีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ เราขอเตือน ท่าน จงมนสิการความผิดนี้ให้ดีเถิด ความกระทำที่ยากกว่าอย่าได้มีแก่ท่านในภายหลังเลย. ท่านพระภัททาลิรับคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกอบความไม่อุตสาหะ ขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด. [๑๖๓] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์ สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใน พระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอ ต้องแทงตลอดว่า ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็ มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุณีมากด้วยกันเข้าจำพรรษา อยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุณีเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดา ดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่ เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสกมากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสกเหล่านั้นจักรู้เรา ว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์สิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้ แทงตลอดแล้ว. ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสิกามากด้วยกันอาศัยอยู่ใน พระนครสาวัตถี แม้อุบาสิกาเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาใน ศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอด ว่าสมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกันเข้าอยู่กาลฝนในพระนครสาวัตถี แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้น จักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิสาวกของพระสมณโคดม เป็นพระเถระองค์หนึ่ง ไม่ทำให้บริบูรณ์ใน สิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อ ภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของ ข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไปเถิด. [๑๖๔] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลัง สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น อริยบุคคลชื่ออุภโตภาควิมุต เราพึงกล่าวแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่ม ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ? ไม่มีเลย พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่อ ปัญญาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อกายสักขี เป็นอริยบุคคลชื่อทิฏฐิปัตตะ เป็นอริยบุคคลชื่อ สัทธาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี เราพึงกล่าวกะ ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไป ด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ? ไม่มีเลย พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยนั้น เธอเป็นพระอริยบุคคล ชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธรรมานุสารี หรือ สัทธานุสารี บ้างหรือหนอ? มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ? เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรง บัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี พระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด. [๑๖๕] ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อ ภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความ สำรวมต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.
ผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
[๑๖๖] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาใน ศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟางเถิด บางทีเราพึงทำให้แจ้งซึ่ง คุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ดังนี้. เธอเสพ เสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น พระศาสดาก็ทรงติเตียนได้ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลาย ใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนได้ เทวดาก็ติเตียนได้ แม้ตนเองก็ติเตียนตนได้ เธออันพระศาสดา ติเตียนบ้าง เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายติเตียนบ้าง เทวดาติเตียนบ้าง ตนเองติเตียนตนบ้าง ก็ไม่ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดา.
ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
[๑๖๗] ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา เธอมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรเราพึงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง บางทีเราพึงทำให้แจ้ง ซึ่งคุณวิเศษ คือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ ดังนี้. เธอเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกอยู่ด้วยประการนั้น แม้พระศาสดาก็ไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ไม่ติเตียน แม้เทวดาก็ไม่ติเตียน แม้ตนเองก็ติเตียนตนไม่ได้ เธอ แม้อันพระศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษ คือ ความรู้ความเห็นของพระอริยะ ผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. ภิกษุนั้นเธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ศาสดาไม่ทรงติเตียน แม้เพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน แม้เทวดาไม่ติเตียน แม้ตนเองติเตียนตนไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งคุณวิเศษคือความรู้ความเห็นของพระอริยะผู้สามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์. ภิกษุนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดา. ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ข้อนั้นเพราะ เหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา.
ญาณ ๓
[๑๖๘] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ. เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด วิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียง เท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้น เป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของ สัตว์ทั้งหลาย. เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณ ทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็น ไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ข้อนี้เพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในพระศาสนาของ พระศาสดา. ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ. ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรภัททาลิ ข้อนั้นเป็นเพราะภิกษุ ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายจะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรม วินัยนี้แล้วทำเป็นเหตุ ก็อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายจะไม่ข่มแล้วข่มเล่า ซึ่งภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ แล้วทำเป็นเหตุ?
การระงับอธิกรณ์
[๑๖๙] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วย อาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำ ในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตาม ความพอใจของสงฆ์. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในกายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อมให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขน ให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้ไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้น เถิด ด้วยประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่ อธิกรณ์นี้จะไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น. ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำใน ภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเนืองๆ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความ โกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติ ถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะพึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการ อย่างนี้ ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายย่อมพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับ ได้โดยเร็วฉะนั้น. [๑๗๐] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มาก ด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอา ถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจ ของสงฆ์. ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่ายากนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลาย ว่ากล่าวอยู่ ก็ยังฝ่าฝืน ประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น นำเอาถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ทำความโกรธ ความ ขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ไม่ประพฤติโดยชอบ ไม่ทำขนให้ตก ไม่ประพฤติ ถอนตนออก ไม่กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์จะไม่พึงระงับโดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วย ประการอย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะ ไม่ระงับโดยเร็วฉะนั้น. ดูกรภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วย อาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อมไม่ฝ่าฝืนประพฤติอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำ ในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติถอนตนออก กล่าวว่าข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ภิกษุนี้ต้องอาบัติเป็นบางครั้ง ไม่มากด้วยอาบัติ เธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ ย่อม ไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างอื่นด้วยอาการอื่น ไม่นำถ้อยคำในภายนอกมากลบเกลื่อน ไม่ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่อ่อนน้อม ให้ปรากฏ ประพฤติชอบ ทำขนให้ตก ประพฤติ ถอนตนออก กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามความพอใจของสงฆ์ ดีละหนอ ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงพิจารณาโทษของภิกษุนี้ โดยประการที่อธิกรณ์นี้พึงระงับได้โดยเร็วฉะนั้นเถิด ด้วยประการ อย่างนี้. ดูกรภัททาลิ ภิกษุทั้งหลายจึงพิจารณาโทษของภิกษุนั้น โดยประการที่อธิกรณ์นี้จะระงับ ได้โดยเร็วฉะนั้น. [๑๗๑] ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ. ดูกรภัททาลิ ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นำ ชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลายจักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุ นี้แล้วให้ทำเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรักพอประมาณ ของเธอนั้น อย่าเสื่อมไปจากเธอเลย. ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนชนผู้เป็นมิตรอำมาตย์ญาติสายโลหิตของ บุรุษผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว พึงรักษานัยน์ตาข้างเดียวนั้นไว้ ด้วยความตั้งใจว่า นัยน์ตาข้างเดียว ของเขานั้น อย่าได้เสื่อมไปจากเขาเลย ฉันใด ดูกรภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น นำชีวิตไปด้วยความศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ. ในเหตุที่ภิกษุเป็นผู้นำชีวิตไป ด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงมีวาจาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้ มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้นำชีวิตไปด้วยศรัทธาพอประมาณ ด้วยความรักพอประมาณ ถ้าเราทั้งหลาย จักข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุนี้แล้วให้ทำเหตุ ด้วยความตั้งใจว่า ศรัทธาพอประมาณ ความรัก พอประมาณ ของเธออย่าได้เสื่อมไปจากเธอเลย. ดูกรภัททาลิ นี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สำหรับ ภิกษุทั้งหลายที่จะข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้แล้วให้ทำเหตุ อนึ่ง นี้เป็นเหตุ เป็น ปัจจัย สำหรับภิกษุทั้งหลายที่จะไม่ข่มแล้วข่มเล่าซึ่งภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้แล้วให้ทำเหตุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อน ได้มีสิกขาบท น้อยนักเทียว แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลเป็นอันมาก และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่เดี๋ยวนี้ ได้มีสิกขาบทเป็นอันมาก แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก.
อาสวัฏฐานิยธรรม
[๑๗๒] ดูกรภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรม กำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตผลน้อยนัก. พระศาสดายังไม่ ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้. ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความ เป็นหมู่ใหญ่. ต่อเมื่อใด สงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่ เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงจะ ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อ กำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น. อาสวัฏฐานิยมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าสงฆ์ที่ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ ... ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ... ยังไม่ถึงความ เป็นพหูสูต ... ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู ต่อเมื่อใด สงฆ์เป็นผู้ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้น อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้น พระศาสดาจึงทรงบัญญัติ สิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น. [๑๗๓] ดูกรภัททาลิ ณ สมัยที่เราแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยอาชาไนยหนุ่ม แก่เธอ ทั้งหลาย ณ สมัยนั้น เธอทั้งหลาย ได้มีอยู่น้อย เธอยังระลึกถึงธรรมปริยายนั้นได้อยู่หรือ? ข้าพระองค์ระลึกถึงธรรมปริยายข้อนั้นไม่ได้ พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ในการระลึกไม่ได้นั้น เธออาศัยอะไรเป็นเหตุเล่า? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะข้าพระองค์นั้นมิได้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของ พระศาสดา เป็นเวลานานเป็นแน่ พระเจ้าข้า. ดูกรภัททาลิ ความเป็นผู้ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขานี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย หามิได้ แต่ เรากำหนดใจด้วยใจ รู้เธอมานานแล้วว่า โมฆบุรุษนี้ เมื่อเราแสดงธรรมอยู่ ไม่ต้องการ ไม่ใส่ใจ ไม่รวบรวมด้วยใจทั้งปวง ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม แต่เราก็จักแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วย ม้าอาชาไนยหนุ่มแก่เธอ เธอจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว. ท่านพระภัททาลิทูลรับ พระดำรัสพระผู้มีพระภาคว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
ธรรม ๑๐ ประการ
[๑๗๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนนายสารถีฝึกม้าคนขยัน ได้ม้าอาชาไนยตัวงามมาแล้ว ครั้งแรกทีเดียว ฝึกให้รู้เหตุในการใส่บังเหียน. เมื่อนายสารถีฝึก ให้มันรู้เหตุในการใส่บังเหียน ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันจะสงบลงได้ในการ พยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ ในการที่ม้าอาชาไนย ตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดย ลำดับ. นายสารถีฝึกม้า จึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการเทียมแอก เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้ เหตุในการเทียมแอก ความประพฤติเป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถีฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันจะสงบลงได้ ในการ พยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ ในการที่ม้าอาชาไนย ตัวงามสงบลงได้ ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดย ลำดับ. นายสารถีผู้ฝึกม้าจึงฝึกให้มันรู้เหตุยิ่งขึ้นไป ในการก้าวย่าง ๑- ในการวิ่งเป็นวงกลม ๒- ใน การจรดกีบ ๓- ในการวิ่ง ในประโยชน์ต่อเสียงร้อง ในการฝึกไม่ให้ตื่นตกใจ เพราะเสียงกึกก้อง ต่างๆ ในการเป็นม้ามีคุณที่พระราชาพึงรู้ ในวงศ์พญาม้า ในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็น ม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม เมื่อนายสารถีฝึกให้มันรู้เหตุ ในการ ว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าควรแก่คำอ่อนหวานชั้นเยี่ยม ความประพฤติ เป็นข้าศึก การพยศ การดิ้นรนบางอย่างบางประการ ยังมีอยู่ทีเดียว เหมือนของม้าที่นายสารถี ฝึกให้รู้เหตุที่ยังไม่เคยฝึกฉะนั้น. มันย่อมสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้ เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ. ในการที่ม้าอาชาไนยตัวงามสงบลงได้ในการพยศนั้น เพราะนายสารถีฝึกให้รู้เนืองๆ เพราะนายสารถีฝึกให้รู้โดยลำดับ สารถีผู้ฝึกม้าย่อมเพิ่มให้ซึ่ง เหตุเป็นที่ตั้งแห่งคุณและเหตุเป็นที่ตั้งแห่งพละยิ่งขึ้นไป. ดูกรภัททาลิ ม้าอาชาไนยตัวงาม ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นพาหนะควรแก่พระราชา เป็นพาหนะสำหรับใช้สอย ของพระราชา นับได้ว่าเป็นองค์ของพระราชาฉันใด ดูกรภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็น ผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญยิ่งกว่า ธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูกรภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ อันเป็นของ พระอเสขะ ดูกรภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่อัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก ไม่มี นาบุญอื่นยิ่งไปกว่าดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว. ท่านพระภัททาลิชื่นชมยินดี พระภาษิตของ พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ ภัททาลิสูตร ที่ ๕.
-----------------------------------------------------
@๑. ในการยกและวางเท้าทั้ง ๔ ครั้งเดียวกัน ๒. ในการสามารถให้คนนั่งบนหลัง เก็บอาวุธที่ตก @ภาคพื้นได้ ๓. ในการประสงค์จะให้เดินเบา ไม่ให้ข้าศึกได้ยินเสียงฝีเท้า.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ บรรทัดที่ ๒๙๖๒-๓๒๕๒ หน้าที่ ๑๒๙-๑๔๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=2962&Z=3252&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=2962&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=15              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=160              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=13&A=3320              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=2782              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=13&A=3320              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=2782              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i160-e1.php# https://suttacentral.net/mn65/en/sujato https://suttacentral.net/mn65/en/bodhi https://suttacentral.net/mn65/en/horner

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]